Print

เมฆหมา กับ ระบบ-จัดการ-สุขภาพ-ชุมชน-ภาคใต้
A Dog and Southern Community Health Management System
(bunchar.com บัญชาชีวิต/เพื่อแผ่นดินเกิด 20170324_3)

เนื่องในโอกาสวลัยลักษณ์จะครบ ๒๕ ปีแล้ว
ในฐานะที่เคยเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ในนั้น ๑๐ ปี
ที่ "สำนักวิชาสหเวชและสาธารณสุขศาสตร์" 
แล้วเพิ่งนำไปเสนอต่อที่ประชุมวิชาการประจำปีของ สป.สช.มาเมื่อวันที่ ๑๗ ที่ผ่านมา กับกลัวว่าจะลืมเสีย

ก็ขอนำมาเล่าเล็ก ๆ ไว้ในที่นี้
สป.สช.บอกว่าบันทึกเสียงและภาพไว้ด้วย
เพราะผมขอ "แหลงใต้" จะส่งตามมาภายหลัง
ยังไงก็เอาเท่านี้ก่อนนะครับ

ผมนำเสนอสบาย ๆ แบบคุยไปบ่นไป 
แต่คุ้ยเขี่ยให้ชวนขบคิดไปด้วย
โดยออกตัวก่อนเลยว่าห่างวงการไปนานมากแล้ว
เคยเป็นหมอในระบบอย่างท่านทั้งหลาย
แล้วเหนือยมาก จนทำท่าว่าจะบ้า ก็เลยไปบวช
แล้วเจอของดีแสนวิเศษ จากนั้นจึงลาออกจากระบบ ไปเป็นอาจารย์อยู่พักหนึ่ง จนลาออกอีก คราวนี้มาทำสารพัดเท่าที่เห็นว่าดี มีคุณค่าและน่าจะทำ ที่นำมาเสนอนี้มาจากประสบการณ์เหล่านี้

ที่วลัยลักษณ์ ผมอาสาสอนวิชาสุขภาพองค์รวมให้ นศ.สหเวช สาธารณสุข และพยาบาล และวิชาคุณภาพชีวิตให้นักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย ที่ทุกคนจะต้องลงภาคปฏิบัติ ไปภาวนาที่สวนโมกข์ไชยาหรือไม่ก็ไปถือศีลอดที่ปอเนาะหรือบาราย ตามแต่จะเลือก โดยผมตามไปอยู่ด้วยทุกครั้ง

ผมยกมิติสุขภาพ และ มิติการจัดการสุขภาพมาประเดิม แล้วถามว่าทุกวันนี้ที่พวกเราทำ ๆ กันอยู่นั้นมันครบส่วนหรือไม่ ? ประชาชนผู้รับบริการ รวมทั้งพวกเราที่ทุ่มเทให้บริการนั้นทำกันส่วนไหน ? 
กาย / ใจ / ปัญญาญาณ ?
สังคม / เศรษฐกิจ / สิ่งแวดล้อม ?
ส่งเสริม / ป้องกัน / รักษา / ฟื้นฟู / ประคับประคอง ?
สุขอนามัย / สิ่งแวดล้อม / ความปลอดภัย ?
คิดดูกันเองนะครับ
ส่วนใหญ่ก็ สุขอนามัย เฉพาะเรื่องการรักษากับฟื้นฟู อยู่แต่กับเรื่องกายกับใจ แล้วก็เศรษฐกิจกันทั้งนั้น

ห่างไกลกันมากกับความสุขที่แท้ทั้งทางกาย ทางใจ และปัญญาญาณ ไม่พักต้องพูดถึง ความเข้มแข็งของสังคม ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

หลังออกจากวลัยลักษณ์
ผมไปขลุกอยู่กับงาน "สร้างสุขของคนไต้และคนนคร" อยู่พักใหญ่ ผ่าน ๑๓ เครือข่าย กว่า ๒๐๐ ชุมชนทั้่วทั้งภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพร-ระนอง ลงไปยันปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส-สตูล-สงขลา แบบว่าวนเวียนอยู่ทั่วภาคใต้แทบตลอด ก็พบไม่แตกต่างกัน แทบท้งนั้นก็ทุ่มเทกับเรื่อง "อาชีพกับการเงิน" มีแต่ชุมชุมมุสลิมเท่าทั้นที่ทุ่มอยู่ที่ "พระเจ้า" ทั้งนี้มีข้อสรุปสำคัญว่า ปัจจัยพื้นฐานความเข้มแข็งและสำเร็จในการจัดการระบบต่าง ๆ นั้น อยู่ที่ "กอ" ต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มก้อนองค์กรชุมชนท้องถิ่น แม้แต่ที่ สป.สช.หรือที่ตัวเราเอง

แต่ที่สำคัญกว่านั้น จากประสบการณ์ทำงานอาสาสมัครอิสระตอนสึนามิและที่สวนโมกข์กรุงเทพทุกวันนี้ พวกเราพบว่ากลไกสำคัญที่จะทำให้ "กอ" เหล่านั้นเติบโตและแก่กล้า อยู่ที่
- การก่อตัวและจัดการตนเองจริงจัง
- การสนับสนุนส่งเสริมและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจริงจัง
- การประสานสื่อสารทุกทิศทาง
- แถมด้วยระบบอาสาสมัครที่สำคัญมาก ๆ

สุดท้าย ผมยกคำถามของพี่จากเครือข่ายผู้ติดเอดส์เชียงใหม่ ที่ถามผมเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า
"หมอจ๋า อิหยังพวกหมอบ่บูกันจั๊กเตื้อ ?"
"อิหยัง ๆ ก็ฮื้อเฮาบูรณาการกันในหมู่บ้าน แต่หมู่หมอกันเองบ่อเคยบูกันเองเลย เดี๋ยว สสส.เดี๋ยว สช. เดี๋ยว สปรส. เดี๋ยว สธ อสม. แถม พช. พอช. ฮู๊ย พวกเฮาบูกันจนบ่ฮู้จะบูจังได้แล้วเน่อ !!! "

ผมตบท้ายด้วยคำบ่นแรงว่าเหนื่อยหน่ายมากมาย ไปช่วยงาน สสส.มาไม่น้อย ขอให้บูกัน ๆ ในนั้นยังบูไม่ได้ กับพวกตระกูล ส.ด้วยกันยังบูกันยาก แล้วจะเอาไง ?

แถมพอเจอเพื่อนหมอ รพช. กับ รพท. รพศ. ก็เห็นต่างจนทำท่าจะเถียงทะเลาะกัน สป.สช.ช่วยแก้ปัญหาอย่าให้มากนักได้ไหม ? หรือว่าเข้าไปเถียงทะเลาะกับเขาด้วย ?

สุดท้ายก็เอาแผนชีวิต "บัญชา ๖๐" ของตัวเองออกมาให้ได้ดูเล่นว่า สป.สช.ยังไงไม่รู้ แต่ผมก็ดูแลตัวเองของผมอย่างนี้.

ถึงที่สุด ก็ตัวใครตัวมันละครับ แต่ท่านที่กินเงินเดือนสาธารณะและยังต้องการเพิ่มมาก กรุณารับผิดชอบด้วยนะครับ ผมคนเสียภาษีนะครับ

สำหรับรูปเจ้าเมฆที่นำมาจั่ว ไม่มีอะไรมาก พอดีเมื่อเช้าจะไปถ่ายดอกกุหลาบหลังบ้านมาลงด้วย มันเกิดรู้จักจัดการตัวเอง มายืนเต๊ะให้ถ่ายรูปด้วยครับ.

๒๔ มีค.๖๐