วาลจิ ซรูจัน เปรมจิ และ อาจจะรัก
กลับมาถึงเมืองไทยพอดีระเบิดถล่มที่ศาลพระพรหมแบบต้องตั้งสติใหญ่อีกครั้งสำหรับสังคมไทย ทั้งที่เพิ่งผ่านการมงคลใหญ่มาได้ไม่ทันข้ามวัน
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เช้านี้ขอปิดรายงานเรื่องผ้าอินเดียตามคำร้องขอของหลายท่าน รวมทั้งที่บอกว่าคราวหน้าขอตามไปด้วยได้ไหม คงไม่ง่ายครับเพราะไม่คิดว่าจะไปอีก
เหนื่อยยากลำบากและไกลสุดแดนอินเดียตะวันตก แถมถ้าพ่วงกันไปหลายคน ก็จะยิ่งโกลาหลใหญ่ ผมเองนั้นนิยมไปเดี่ยว หรือไม่ก็มีแต่ผู้ช่วยที่รู้ทางกัน ไปก็แบบง่าย ๆ ถูก ๆ ถึงขั้นลำบากของหลายคนแต่สบายผม งานนี้ก็ไปแบบไม่มีแผน อ่านแค่ Lonely Planet ฉบับล่าสุด แล้วลุยไปเรื่อย ๆ ตามเหตุและปัจจัย ขนาด ๒ อาจารย์โบราณคดีจากนิวเดลีและเคราลาที่ขอไปด้วยยังไม่รู้เรื่องอะไร
ได้แต่ขอบคุณที่พามาเปิดโลก นอกนั้นก็ช่วยเป็นล่ามให้เท่านั้น เช้าวันที่ ๑๖ พวกเราออกจากที่พักแต่เช้า ๐๗๐๐ น.เพื่อแวะหมู่บ้านผ้า Bhijodi ที่ห่างเมืองออกมาทางตะวันออกบนเส้นทางกลับ ๗ กม.
เจอลุงคนหนึ่งกำลังเดินไปสวดมนต์ที่วัดพระศิวะ ถามถึงบ้าน Vankar Vishram Valji คุณลุงบอกให้รู้ว่า "ฉานเอง" แล้วพาไปส่งบ้านก่อนที่จะกลับไปวัด ปล่อยให้ลูก ๆ ที่กำลังปัดกวาดบ้านดูแลต้อนรับ และนำผลงานของตระกูลที่ได้รับสารพัดรางวัลระดับชาติตั้งแต่รุ่นพ่อและพี่ แล้วพาไปดูหูกทอผ้าแบบดั้งเดิมที่โรงหลังบ้าน ในขณะที่มีสมาชิกของตระกูลจากหลายแห่งทยอยเอาของมาส่ง เขาบอกว่าธุรกิจเป็นแบบครอบครัวเครือญาติหลายร้อยครอบครัวคล้าย ๆ กลุ่มใบไม้ที่คีรีวง หนุ่มคนที่เพิ่งเอาของมาส่งนั้นเคยไปทำงานเป็นบริกรโรงแรมได้ค่าจ้างถูกมาก กลับมาเข้าเครือทำผ้าที่บ้านส่งขายได้ดีกว่ามาก งานเด่นของที่นี้คืองานทอแบบ "ขิต" "ยก" และ "จก" ซึ่งฝีมือไม่เท่าเมืองไทย แพ้ทั้ง "ขิต" อีสาน "ยก" ลำพูนและภาคใต้ รวมทั้ง "แพรวา" กาฬสินธุ์หลายขุม ทั้ง ๆ ที่คุยว่าแต่ละชิ้นนั้นได้รับรางวัลระดับชาติจากสารพัดนายก เช่นอินทิราคานธี ต้องสั่ง ทอเป็นปี ผืนเป็นหมื่น ๆ แต่ที่แตกต่างคือการเย็บประดับกระจก ลองดูเอาเองนะครับ ผมชอบบรรยากาศของบ้านซึ่งเป็นบ้านศิลปินจริง ๆ วันนี้มีงานแต่งงานใหญ่ หลังวันฉลองเอกราชเมื่อวานนี้จึงไม่มีการทอให้ดู มีแต่ของขายหลายราคาตั้งแต่ ๕๐๐ รูปี ถึง ๒ - ๓,๐๐๐ รูปี ที่เป็นหมื่นก็มี เทียบงานเมืองไทยแล้วของเราดีกว่าและราคาก็ถูกกว่าด้วย ออกจากบ้านของครอบครัววาลจิ เลือกตรงไปที่ Shrujan ที่เป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร ส่งเสริมหญิงชาวบ้านกว่า ๓,๐๐๐ คน ปักผ้ามาร่วมขาย แต่เขาเปิด ๑๐๐๐ น. จึงได้แต่ดูผ่านตู้กระจก ที่ตกใจกว่านั้นคือเขามีเกสต์เฮ้าส์หรูหรา มีหลายสาขา น่าจะประมาณมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่ปากทางศูนย์ซรูจัน เจออีกศูนย์ ชื่อ Handloom Design Center ของครอบครัว Vankar Devji Premji จึงแว่บลงไปดู พบหนุ่ม ๒ คนกำลังทอ หูกของเขายักษ์และยาว ไม่กี่ตะกอ ของไทยเราทำกันตอนนี้ที่ท่าสว่างเป็นพันตะกอเข้าไปแล้ว ผ้าทอก็งั้น ๆ แพงมากด้วย แต่ที่น่านิยมคือระบบส่งเสริมของชาติเขาดีมาก ทุกบ้านมีภาพใบประกาศ การมอบรางวัล หนังสือรับรอง รวมทั้งภาพบรรพบุรุษที่สืบสานมรดกนี้มา พ่อชราของเขาที่เป็นมือทองในการทอ ก็นั่งเปลสบายใจอยู่กับลูกหลาน เป้าหมายถัดไปคือ อัจรักปูร์ ที่ขอเรียกใหม่แบบไทย ๆ ว่า "อาจจะรักปุระ" เข้าไปก็เจอหนุ่มนับสิบกำลัง "ย้อมเย็น" อยู่ในบ่อใหญ่กลางสนาม ให้เข้าไปในบ้าน Dr.Ismail Mohammad Khatri กำลังเชือดแพะและเอาไปแจกเพื่อน ลูกหลานคอยแนะนำและพาชม มีฝรั่งเคยอยู่เชียงใหม่ รู้จัก อ.วีรธรรมที่ท่าสว่าง กำลังออกแบบลายพิมพ์บล็อกไม้ลายใหม่กับแขกใบ้คนหนึ่ง ดร.อิสมาอิลบอกว่าเดิมอยู่ที่แคว้นสินธุ์ในปากีสถานแล้วราชาแห่งคุชราชเชิญมาทำผ้าอยู่ที่นี่ บ้านนี้เพิ่งย้ายมาอยู่หลังแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี ๒๐๐๑ ไกลน้ำ ลำบากกว่าเดิม แต่ก็ยังมุ่งมั่นการอนุรักษ์ตามแบบแผนผ้า "อาจจะรัก" ดั้งเดิมด้วยสีธรรมชาติจากครามบ้าง สนิมบ้าง เม็ดมะขามบ้าง เทคนิคที่นี่เป็น "พิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้" และ "ย้อมเย็น" ผิดกับที่กลุ่มมัดย้อมคีรีวง ใช้เทคนิค "มัดย้อม" และ "ย้อมร้อน" บนผ้าทั้งฝ้าย ไหม ขนแกะ ลินิน มีผืนหนึ่งทำเป็นงานศิลปะแบบดั้งเดิม ย้อม ๒ ด้าน เป็นผ้าคลุมเตียง ขายหลายหมื่นบาท เขาทำลายใหม่ ๆ ออกมาด้วย แต่ที่ผมชอบคือลายดั้งเดิม มีทั้งผ้านุ่ง ผ้าคลุม ผ้าห่ม จนกระทั่งผ้าถุง กระโปรง และถุงผ้า ดูกันเอาเองนะครับ แถวนี้มีอีก ๒ ราย Lonely Planet แนะนำ คือ Parmath ที่มีคนบอกว่าตอนนี้ลุกสาวที่เคยได้รางวัลเลิกทำแล้ว แม่ที่ทำก็งั้น ๆ อีกรายเป็น NGO ใหญ่ชื่อ Khamir เข้าไปเป็นศูนย์ขนาดใหญ่สวยงาม ด้อยกว่าที่ Shrujan เล็กน้อย แต่ไม่มีใครเพราะเป็นวันอาทิตย์ปิดทำการ เท่านี้นะครับ ขอไปตามงานที่สวนโมกข์กรุงเทพก่อนนะครับ อ้อ วันนี้ ผมเลือกใส่เสื้อลายเทียนสีมังคุดคีรีวง กับคาดผ้าขาวม้าครามสกลนครไปให้เขาดูด้วย เขาแสดงท่าทางตกใจที่ไทยเราทำได้สีสดสวยอย่างนี้ครับ