Print

มรดกเรา มรดกใคร ? ... เหนือกว่ามรดกใด ๆ (ที่ผมจะนำเสนอบ่ายวันที่ ๑๗ นี้ ร่วมกับคณะวิทยากรคนสำคัญอีกมากมาย หากสนใจตามไปแลกเปลี่ยนกันได้ครับ) 

ตอนที่ ๑ เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ครั้งเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ระบบการจัดการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ในสหรัฐอเมริกาด้วยทุนของ Eisenhower Exchange Fellowship (EEF) โดยได้ขอโอกาสแวะเรียนรู้ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์เอเซียอาคเนย์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เมืองอิธาคาในมลรัฐนิวยอร์ค มีศาสตราจารย์เดวิด วัยอาจ (David Wyatt) กับ ศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ร่วมพบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างยาวนาน รุ่งขึ้นศาสตราจารย์เดวิด วัยอาจ ได้นำผมค้นคว้าในห้องสมุดและคลังเอกสารของมหาวิทยาลัย พบมีหนังสือเล่มน้อย "ก็เพราะรักแผ่นดินเกิด" ที่มูลนิธิโกมล คีมทอง ตีพิมพ์จากปาฐกถาประจำปี พ.ศ.๒๕๓๓ ซึ่งมีผู้ยืมไปอ่านหลายคนแล้ว นักวิชาการชั้นนำในสหรัฐอเมริกาเหล่านี้ ล้วนสนใจในนครศรีธรรมราชและรู้เรื่องลงลึกอย่างที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน ก่อนกลับ ท่านหยิบหนังสือเล่มใหญ่ปกสีแดงก่ำ "The Crystal Sand: the Cronicle of Nagara Sri Dhamaraja" ที่ท่านเพียรรวบรวมจากต้นฉบับตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และ ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช แล้วแปลเรียบเรียงสู่สากล มอบให้เป็นมรดกล้ำค่าเพื่อนำกลับมาศึกษาและสานต่อ พร้อมคำพรพิเศษว่า "ที่หาดทรายแก้วเมืองนครนั้นสำคัญมาก หากจะตีพิมพ์ให้เผยแพร่ในประเทศไทยได้ก็จะดียิ่ง" แต่เสียดายที่คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขณะนั้นไม่พิจารณาจัดพิมพ์ จนบัดนี้ท่านได้จากพวกเราไป ๙ ปีแล้ว พระบรมธาตุสู่มรดกโลก เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะผู้บริหารจังหวัดและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และ ชมรมคนรักวัดพระธาตุ ได้ทำการหารือถึงความเป็นไปได้และแนวทางในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก แล้วมีคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๒ ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกว่าสอดคล้องกับเกณฑ์การนำเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมข้อใดบ้าง โดยเฉพาะคือการนำเสนอ "คุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล" ซึ่งต้องชัดเจนและโดดเด่นเมื่อเทียบกับแหล่งมรดกในประเทศอื่น โดยต่อมามีข่าวเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชนว่า “กรมศิลปากรเตรียมดันพระบรมธาตุเป็นมรดกโลก” ว่าคณะทำงานของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ศึกษาเพื่อนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๕๒ โดยใช้เกณฑ์ข้อ ๑ เป็นตัวแทนผลงานที่เป็นเลิศของการสร้างจากอัจฉริยะของมนุษย์ เกณฑ์ข้อ ๒ เป็นการแสดงถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลา หรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี ศิลปะสถาปัตยกรรมโบราณ การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อ ๖ มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเห็นได้ชัดเจนกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ หรือความคิด หรือความเชื่อ งานศิลปกรรมและวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสากล โดยได้มีการเปรียบเทียบกับแหล่งมรดกวัฒนธรรมอื่นที่ใกล้เคียง คือ นครศักดิ์สิทธิ์แห่งอนุราธปุระ เมืองโบราณโปโลนารุวะ และ นครศักดิ์สิทธิ์แห่งแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งทั้ง ๓ แหล่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ นอกจากนี้ ได้เทียบเคียงกับเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปีพุทธสักราช ๒๕๓๔ ตามเกณฑ์ข้อ ๑ ว่ามีความสำคัญไม่แตกต่างกัน เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว วันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสากล สมัยที่ ๓๗ ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ท่ามกลางความโกลาหลเห็นต่างในเรื่องการนำเสนอและพิจารณาการเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหาร ที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์พิจารณารับรองวาระการนำเสนอชื่อวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่ "บัญชีเบื้องต้น" ตามที่ประเทศไทยเสนอ เพื่อเข้ากระบวนการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกในขั้นต่อไป ด้วยเหตุที่ระบุและมีการเผยแพร่ว่า "ด้วยคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นตัวแทนผลงานที่เป็นเลิศ พระบรมธาตุเจดีย์เป็นประธานวัด สถาปัตยกรรมและการประดับอาคารอุดมไปด้วยการสื่อความหมายปรัชญาทางพระพุทธศาสนาและพุทธประวัติ แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมพระบรมธาตุเจดีย์แสดงถึงผลงานชั้นเลิศที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความอัจฉริยะของมนุษย์ที่ปรากฏผ่านฝีมือช่าง ตรงกับหลักเกณฑ์การแสดงถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลาหรือในวัฒนธรรม และยังคงรักษาความครบถ้วนสมบูรณ์ของโครงสร้างเดิมสืบมา" ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาประชุมหารือหลายครั้งโดยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร จนถึงคณะกรรมการแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ มีมติเป็นเอกฉันท์ในการเสนอชื่อ "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช" ไปยังศูนย์มรดกโลกแห่งยูเนสโก สาธารณรัฐฝรั่งเศส สรุปว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นมหาสถูปสำคัญซึ่งมีประวัติผูกพันกับถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา (อินเดียและศรีลังกา) มีจุดเด่นที่การเป็น "สถูปเถรวาทลังกาวงศ์" ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาสายนี้ไปยังดินแดนอื่นในภูมิภาคนี้ มีคุณค่าที่โดดเด่นสำหรับขึ้นบัญชีเบื้องต้น ตามเกณฑ์การพิจารณาที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ-UNESCO กำหนด ๓ ข้อ คือ เกณฑ์ข้อ ๒ ความเป็นตัวแทนผลงานที่เป็นเลิศจากอัจฉริยะของมนุษย์ เกณฑ์ข้อ ๔ ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลา หรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี ศิลปะสถาปัตยกรรมโบราณ การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ เกณฑ์ข้อ ๖ ความสัมพันธ์โดยตรงหรือเห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ หรือความคิดหรือความเชื่อ งานศิลปกรรม และวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสากล

 

 
รูปที่1