เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 15 December 2023
- Hits: 232
#ศรีวิทยาธิการสยะ ... #แห่งผู้เรืองปัญญา
#SriWithayadikarasya ... #OfTheEnlightenedOne
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20231211_3)
เมื่อวานนี้หลังรับทราบถึงเค้าเรื่องที่คณะของคุณเอศุภชัยจะสร้างสรรค์เพื่อเมืองนคร
แล้วเธอบอกว่าจะไปตามรอยที่ผมชี้แนะ รวมทั้งที่ #ช่องคอย แห่งนี้ด้วย
ความที่ไกลเกินและอาจยากถึงได้ด้วยเธอคนเดียว
จึงอาสาพาไปจนถึงที่ตามภาพ
บอกไปว่า ณ ตำแหน่งนี้มีความสำคัญมาก ๆ
เฉพาะแท่นหินจารึกขนาดยักษ์นี้ ก็ยืนยันว่า #การจำหลักจารึกเกิดขึ้นที่นี้แน่
เพราะไม่มีทางที่จะแกะแล้วยกย้ายมาจากที่ไหนได้
อักษรที่จารึกเป็นแบบที่ทางไทยนิยมเรียกว่า #ปัลลวะ
แต่บางนักวิชาการต่างชาติ เรียกว่า #พราหมีอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อายุสมัยประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒
นับว่าเป็น #หนึ่งจารึกรุ่นที่เคยกล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุดที่พบแล้วในประเทศไทย
อัน #นับสู่การเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของผู้คนบนแผ่นดินนี้
(ซึ่งจากการตามรอยลูกปัดและศึกษาของผม
จนทุกวันนี้เกิดเป็นสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ในกระทรวง อว.
ประมวลหลักฐานใหม่ออกมาว่า กลุ่มจารึกที่เก่าแก่ที่สุดบนแผ่นดินนี้
เป็นอักษรพราหมีอย่างอินเดียโบราณร่วมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
เมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๓ คือเก่าไปอีกเกือบ ๑,๐๐๐ ปี)
ถามว่า #ใครคือคนมาจำหลักไว้ ตั้งแต่เมื่อกว่า ๑,๐๐๐ ปีที่แล้ว
ด้วยพิกัด #ตำแหน่งแห่งหินนี้ตั้งอยู่ในหุบแห่งเขา
ที่กั้นระหว่างเส้นทางเชื่อมได้จาก #ฝั่งอันดามันที่ตรัง
มายัง #อ่าวไทยและทะเลจีนใต้ที่เมืองนคร
จึงอาจเป็นผู้ผ่านทางไปมา หรือว่าคนในถิ่นที่ไปรอรับหรือทำการอะไรกันตรงนี้เมื่อสมัยนั้น
เนื้อหาว่าอย่างไรหรือ ? ท่านผู้รู้อ่านว่า
เป็น #ภาษาสันกฤตของนักบวชหรือคนชั้นสูง
ขึ้นต้นเหมือนเป็นโองการว่า ... ศฺรีวิทฺยาธิการสฺย
ท่านแปลว่านี้ (เป็นของ) #ผู้เป็นเจ้าแห่งวิทยาการ
พร้อมวงเล็บระบุว่า หมายถึงศิลาจารึกนี้ และ ตือพระศิวะ
ซึ่งผมเองนั้นแม้ไม่รู้ภาษา แต่ก็ไม่เห็นว่ามีวงเล็บอะไรไว้
อยากแปลเอาเองตามประสาหมอจรจัดว่า ... #แห่งผู้เรืองปัญญา
โศลกต่อมามี ๔ บันทัด ๒ บันทัดแรกขึ้นต้นด้วยการ #ตั้งนะโม
ท่านอ่านและแปลไว้โดยนัยยะว่า ขอนอบน้อมแด่ทั้งเจ้าป่าและทวยเทพ
มีสองวรรคท้าย ที่แปลระบุชัดว่า
" ... ชนทั้งหลายผู้เคารพต่อพระศิวะ
คิดว่า ของอัน ท่านผู้เจริญนี้ จึงอยู่ในที่นี้ จึงมาเพื่อประโยชน์ (นั้น) ... "
แต่โศลกสุดท้ายที่มี ๔ วรรค สองบันทัด ที่พวกเราจำกันขึ้นใจว่า
" ... #เยษานฺนิลยเทเศษุ_ติษฺฐนฺติมนุชาวราะ
#ยทิเตษำ_ปฺรสาทาจฺจ_การุยฺยนฺเตษำ_ภวิษยติ II ... "
" ... ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด
ความสุขและผล (ประโยชน์) จักมีแก่ชนเหล่านั้น ... "
และเอามาเป็นคำขวัญประกอบการของ #สวนสร้างสรรค์นาครบวรรัตน์ เรื่อยมา
ว่า #ถ้าคนดีอยู่ในหมู่ของชนเหล่าใด_ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น
ข้อความนี้จึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายมหาศาล
คนจารึกคือใครถึงวันนี้ยังไม่ทราบได้
แต่ที่ทราบแน่คือคนบนแผ่นดินนี้ไม่ว่าจะอยู่หรือว่าผ่านไปมา
เขาต้องเป็นผู้มีภูมิรู้และภาษาอารยธรรมที่ไม่ธรรมดา
แถมยังให้ค่าต่อสติปัญญา - #วิทยาการ พร้อมแสดง #ความนอบน้อม
กับ #หลักคิดสำคัญของการอยู่ร่วมกัน
ที่ว่าด้วย #ความดี #ความสุข และ #ผลของหมู่ชน
ก็ไม่รู้เช่นกันครับว่าทางคณะจะเลือกใช้อะไรไหม ผมนี้ก็ทำได้เพียงเท่านี้
ชี้แนะแล้วก็รอดู หากได้ถูกใช้ก็ย่อมพลอยยินดี
มีอะไรให้ช่วยได้อีกก็ช่วยครับ
ส่วนที่จารึกนี้นั้น ไปมาหลายครั้งอดสังเวชไม่ได้ว่าทำไมถึงเป็นอยู่อย่างนี้
ไปทุกที คิดทุกที ว่าเรานี้ควรคิดทำอะไรกันไหม ?
วานนี้ที่ไปกัน ก็อดคิดไม่ได้อีกเช่นกันครับ ... สักวันควรได้ทำอะไรบ้างเสียที
๑๑ ธันวา ๖๖ ๑๑๐๐ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร