logo_new.jpg

กับการผูกขาดค้าดีบุกในเมืองนครที่ดัชพยายามทำได้ไม่เบ็ดเสร็จ
TheLimitofVOCPowerInTinMonopolyInLigor
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20231214_5)
เช้านี้ได้รับอีกการบ้านจากนาย Chedha Keawsakun ก็เลยอ่านซะ
เพราะว่า #ตึกยาว บวรนคร นี้ ก็ #พ่อค้าดีบุกชาวจีนจากสิงคโปร์ มาสร้างไว้
เพื่อจะค้าดีบุก เมื่อราว ๆ ปี ๒๔๔๐ แต่เหมือนไม่สำเร็จ
ส่วนบทความนี้ ของอาจารย์ #SupapornAriyasajsiskul
ที่มหาวิทยาลัยไลเดนโน้น เขียนไว้เมื่อ ๑๒ ปีก่อน
หัวข้อน่าสนใจ เกี่ยวกับ #การค้าดีบุกที่เมืองนครเมื่อสมัยอยุธยา โน้น
กล่าวโดยย่อคือว่าตลาดโลกต้องการดีบุกมากมาแต่ไหน ๆ
และเมืองนครก็เป็นเมืองท่าสำคัญมาแต่ไหน ๆ
มีการกล่าวถึงที่ Fernau Mendes Pinto ชาวโปรตุเกสที่มาค้าที่ลิกอร์
เมื่อราว ๆ พ.ศ. ๒๐๘๓ - ๒๐๙๓ ระบุไว้ว่า
" ... คือเมืองท่าที่มั่งคั่งและจอแจของสยาม ... เต็มไปด้วยเรือใหญ่จากชวา และอีกหลายท่า Laue, Tanjampura, Japara, Demak, Panaruca, Sidayo, Pasuruan, Solor และ Borneo ... "
" ... การค้าขายจ่ายคล่องด้วยทองและรัตนชาติ เพื่อสินค้าต่าง ๆ ... มีการยกเว้นภาษีกับมีข้อเสนอพิเศษมากมาย ทั้งกับพ่อค้าท้องถิ่นและต่างชาติ ... "
โดยบันทึกแรกของสองนักสำรวจจาก VOC เมื่อปี ๒๑๔๔ ระบุว่า
" ... เป็นเมืองใหญ่ มีเรือสำเภาจีนมาค้าเป็นประจำปีละ ๔ ลำ ขนพริกไทยกลับไป โดยลิกอร์เป็นท่าที่รวบรวมสินค้าจากรายรอบรวมทั้งจากปัตตานี มีพริกไทยดำคุณภาพดี ... "
และเมื่อดัชจะตั้งสถานีการค้า จากที่จะตามรอยโปรตุเกสที่ปัตตานี หลังจากพิจารณาอยู่ ๖ ปี จึงเลือกเปิดสถานีการค้าที่ลิกอร์ ในปี ๒๑๕๐ พร้อมกับระบุว่า ผ่าน " the king of Ligor(นคร), Bordelong(พัทลุง), Sangora(สงขลา) and the surrounding lands " ที่มีสายสัมพันธ์เอื้อเฟื้อเกื้อกันกับ ปัตตานีและตะนาวศรี
งานนี้ แม้ดัชได้รับ "ตรา" จากอยุธยา แต่ก็บอกว่าอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่เจ้านคร ถึงกับตั้งคลังสินค้าสร้างด้วยศิลาที่สงขลา นำมาสู่ความสำเร็จทางการค้าอย่างสูง ด้วยพริกไทยดำที่สูงถึงปีละร่วม ๒๐๐ ตัน นำมาสู่ความอิจฉาของอังกฤษที่พยายามแทรกแซงด้วยวิธีต่าง ๆ ตามด้วยการลดความต้องการของพริกไทยในตลาดโลกในทศวรรษ ๒๑๗๐ กับการยึดอำนาจของพระเจ้าปราสาททองในอยุธยาที่ทางนครขัดขืน ขณะที่ดัชเข้าหนุนพระเจ้าปราสาททองรวมทั้งปัตตานี จนนครแพ้และเจ้านครถูกจับ อยุธยาแยก พัทลุง สงขลา ไชยา ออกจากนครพร้อมกับส่งเจ้าเมืองมาจากอยุธยา
ณ จังหวะนี้ที่ดีบุกเป็นที่ต้องการมากของตลาดโลก บทความบอกว่านครในนามเดิมว่าตามพรลิงค์ เป็นผู้ขายดีบุกมาตั้งแต่นั้นภายใต้การผูกขาดของราชสำนัก แล้วดัชก็เข้าค้าด้วย " ... ดีบุกจากลิกอร์นั้นบริสุทธิ์และมีคุณภาพสูง ... มีผลผลิตปีละประมาณ ปีละ ๑๐๐ - ๒๐๐ ตัน ขณะที่ดัชต้องการปีละ ๗ - ๘๐ ตัน " ซึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดัชได้ผูกขาดค้าส่งดีบุกจากนครอย่างต่อเนื่องต่อมา เฉพาะระหว่างปี ๒๑๙๓ - ๒๒๘๓ มียอดดีบุกจากลิกอร์ ถึง ๖,๘๐๐ ตัน คือเกือบ ๗,๐๐๐,๐๐๐ กิโลกรัม สร้างกำไรได้ถึง ร้อยละร้อยเลยทีเดียว
หลังจากนั้นเรื่องยาวและสลับซับซ้อน ไปหาอ่านกันเองนะครับ เอาสรุปส่งท้ายว่าในปี ๒๒๙๙ อันเป็นปีสุดท้ายของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ ก่อนเสียกรุง ๑๑ ปี ดัชก็ปิดสถานีค้าที่เมืองนคร ด้วยหลายเหตุผลหลังจากปั่นป่วนและสอบสวนดึงเกมส์อยู่นาน เนื่อจากพระคลังหลวงก็ค้างหนี้อยู่ถึง ๓๗๙,๑๕๙ กิลเดอร์ แต่ที่สำคัญคือสู้ระบบเรื่องประสิทธิภาพ การคอรัปชั่น การค้านอกระบบกฎหมาย การไม่ทันพ่อค้าจีน ความขัดแย้งกับราชสำนักอยุธยา รวมทั้งการมาแย่งของอังกฤษ ฯลฯ
แถมมีรายนามกรมการเมืองนครสมัยนั้น ที่บทความสรุปว่าน่าจะเข้าข้างจีน
เพราะมีอยู่ ๓ จีน เป็นกรมการพิจารณาต่าง ๆ ประกอบด้วย
ออกญาลิกอร์ ออกพระปลัด ออกพระครู ยกระบัตร พระคลัง พรหมรัตน์ นายเสิด มหาอ้าย จีนเกียด จีนชิน และ จีนสุย (นี้ผมแปลเอาเองจากที่เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษที่ก็น่าจะมาจากต้นฉบับดัชนะครับ)
ทั้งนั้นนี้ เป็นเหตุการณ์เมื่อก่อนเสียกรุง พ.ศ.๒๓๑๐ นะครับ
ส่วน #ตึกยาว บวรนคร นี้เพิ่งสร้าง เมื่อปี ๒๔๔๐ คือ ๑๓๐ ปีให้หลัง
ส่วนว่าเกี่ยวโยงหรือส่งผลกันมาถึงด้วยไหม ก๋งผมก็ด้วยไหม ?
ใครช่วยวิจัยหน่อยได้ไหมครับ ?
๑๔ ธันวา ๖๖ ๑๗๕๖ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร

 

 

 

 

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//