Print

มถุรา คุปตะ ปาละ : ร่องรอยที่มาถึงไทย และ เอเซียอาคเนย์ จะเอาอย่างไรกันต่อไปไทยเรา ?

หลายท่านรวมทั้งผมเองนั้นเคยสงสัยมาเสมอว่า แล้วพระพุทธศาสนามาถึงไทยตั้งแต่เมือ่ไหร่ สมัยไหน เส้นทางไหน ยานไหนหรือว่านิกายไหน

นอกจากที่ว่ากันต่อ ๆ มาว่าพ่อขุนรามให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชบ้านผมไปเชิญมาจากศรีลังกา ได้ทั้งทรงสถูปแบบลังกา พระพุทธสิหิงค์เมื่อ ๗ - ๘๐๐ ปีก่อน บ้างว่ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ส่งพระโสณะ พระอุตตระมายังสุวรรณภูมิเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีก่อน แต่ที่แน่นอนคือพบหลักฐานการสถาปนาพระพุทธศาสนาอยู่เต็มประเทศไทยและเอเซียอาคเนย์อย่างน้อยก็สมัยทวารวดีเมื่อ ๑,๕๐๐ ปีก่อน จนเมื่อผมหลงเข้าดงลูกปัดแล้วจึงได้พบร่องรอยพระพุทธศาสนาจากลูกปัดมากมายรวมทั้งจี้ห้อยแขวนคอ "ตรีรัตนะ" และอื่น ๆ รวมทั้งรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยมของชาวพุทธโบราณในอินเดียเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการสร้างทำพระพุทธรูป เกิดเป็นพยานหลักฐานชุดใหม่ที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมบอกว่าเป็นการอุดช่องโหว่ทางประวัติศาสตร์หลายศตวรรษหรือที่อาจารย์เอียน โกลฟเวอร์บอกว่าเป็นการ filling the Dvaravati Gap ที่ว่างอยู่ ลองดูสิ่งที่ ACM ขนมาแสดงจากอินเดีย ซึ่งน่าจะค่อย ๆ คลี่ความเข้าใจในรอยทางพระพุทธศาสนาจากอินเดียถึงไทยผ่านสิ่งเหล่านี้ได้ไม่น้อยนะครับ เริ่มจากเศียรพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สมัยคันธาระ แล้วก็พระพุทธรูปสมัยมถุราที่ถือเป็นอีกลักษณะพิเศษในรุ่นแรก ๆ มักทำด้วยศิลาทรายสีแดงที่เรียกว่าชุนนาร์ ต่างจากคันธาระที่นิยมหินชิสต์สีเทาดำ จากนั้นในสมัยคุปตะก็มาเป็นหินทรายคล้าย ๆ ที่ทำกันในประเทศไทย โดยคันธาระและมถุรานั้นอยู่ทางอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะทีคุปตะนั้นแผ่กว้างเกือบทั่วอินเดีย ถือเป็นช่วงสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองและขยายทั่วอินเดียเทียบเท่าสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีฐานะสำคัญอยู่ที่สารนาท และหลายฝ่ายถือว่าพระพุทธรูปศิลปะนี้เป็นต้นแบบนิยมของไทยและเอเซียอาคเนย์ โดยเฉพาะศิลปะทวารวดี สมัยนี้พระพุทธศาสนาในอินเดียเป็นมหายานแล้ว แต่ของไทยส่วนใหญ่เป็นเถรวาท ถัดมาในสมัยปาละ ที่มีฐานใหญ่ไปอยู่ที่นาลันทา พุทธคยา ก็เริ่มมีพระพุทธรูปโลหะและกลายเป็นวัชระ-ตันตระยานแล้ว รวมทั้งมีพระพิมพ์ดินเผาด้วย พระโลหะ นิทรรศการนี้มีพระพุทธรูปงาม ๆ จากพิหาร และบังคลาเทศ ที่น่าสนใจและไม่ค่อยได้ดูที่ไหนหลายองค์ทีเดียว แต่ดูแล้วชักเสียว นึกถึงประเทศไทยทุกวันนี้ที่สร้างทำและค้าพระกันจนน่าตกใจจนอดระลึกถึงที่ท่านอาจารย์พุทธทาสย้ำไว้ว่าอย่าให้พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า รวมทั้งที่ท่านตามไปศึกษาถึงอินเดียเมื่อ ๖ - ๗๐ ปีก่อน จนพบหลายหลักฐานอย่างชัดเจนว่าแต่ก่อนในสมัยพระเจ้าอโศก สุงคะ สาตวาหนะและต้นอมราวดี ยังไม่มีการสร้างทำพระพุทธรูปมาบัง ด้วยยังชัดเจนในพระธรรมคำสอนที่ให้ถือพระธรรมเป็นใหญ่ ลองดูเอาเองก็แล้วกันนะครับ เชื่อว่าจะเห็นความคลี่คลายและปรุงแต่งกันสารพัดงานสร้างทรงเครื่องอย่างอลังการณ์จนพระดูไม่เป็นพระ แถมกลายเป็นเทพเข้าเรื่อย ๆ สุดท้ายพระพุทธศาสนาก็ปลาศนาการจากอินเดียต่อจากสมัยนาลันทาปาละนี้ คล้าย ๆ เมืองไทยเราเมื่อปลายอยุธยาก็ทรงเครื่องกันอย่างวิจิตรพิสดาร รวมถึงตอนนี้ที่กำลังไปกันใหญ่ อย่างที่บ้านผมทั้ง ๆ ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์ กำลังจะยกเป็นมรดกโลกให้ได้ ในขณะที่จตุคามรามเทพนั้นท่านกำหนดให้เป็นเพียงเทพผู้พิทักษ์พระธาตุ พี่ท่านก็เอาขึ้นมาเป็นใหญ่อยู่ได้ไม่นานก็ถดถอย แถมทุกวันนี้มาใหม่ บูชาไอ้ไข่เด็กวัดกันยกใหญ่ แต่ก็ยังดีกว่าบางแห่งเห็นพระมัญชุศรีที่ห้อยจี้บูชาชูชกกัน บอกว่าจะทำมาค้าคล่องขออะไรได้หมด ช่างไม่รู้คิดถึงจุดจบของชูชกที่ชวนกันนำมาบูชาเสียบ้างเลย จะเอาอย่างไรกันต่อไป ไทยเรา ? ที่ขอชวนให้หาดูเป็นพิเศษ ก็มีองค์หนึ่งจากโอริสสา หรือแดนกลิงคะ ด้านล่างของพระพุทธรูปมีพระนั่งอ่านตำราบนแท่นวางทำเป็นไม้ไขว้กันไว้ อย่างนี้ที่เราเห็นบ่อย ๆ ตามเหรียญ ที่เรียกว่า ภัทรบิฐ หรือที่นั่ง ซึ่งทุกวันนี้ในวังหลวงเมืองไทยก็มีพระที่นั่งภัทรบิฐอยู่องค์หนึ่ง กับที่อกของพระมัญชุศรีที่เต็มไปด้วยสายสร้อยห้อยจี้ คล้าง ๆ ที่เจอในหลายแห่งรวมทั้งที่อู่ทอง ส่วนภาพพุทธประวัติ ๔ ตอนของสารนาทคุปตะนั้น ที่อินเดียโบราณเขานิยมทำกันอย่างนี้ ดูไล่จากล่างขึ้นบนตั้งแต่ประสูติ อีกองค์เป็นปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ คล้าย ๆ ที่วัดตระพังทองหลางเมืองเก่าศรีสัชนาลัย มีเทพเหาะเอามาลัยลูกปัดมาถวายอยู่สองข้าง จากนั้นก็เลือกดูเอาเองนะครับ นับไม่ถ้วน จดจำไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ขอจบชุดของแสดงจากอินเดียด้วยรอยพระบาทเรียบง่ายสมัยปาละที่เชิญมาจากพุทธคยานะครับ วันนี้ทีวีช่อง ๙ จะมาสัมภาษณ์ทำสกู๊ปเรื่องปรากฏการณ์จตุคามรามเทพพอดีเลยครับ