บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 02 April 2016
- Hits: 1334
SWASTI TAMBRALINGA
& NaKhonSiThammaRat Metrolopitan
สวัสดี ตามพรลิงค์ และ นครศรีธรรมราชมหานคร
(เป็นบทความเก่าจาก "นครดอนพระ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๘" ที่ไม่ได้โพสต์ในนี้มาก่อน เพื่อไขความเรื่องที่มีการระบุว่าบริเวณภาคใต้ของไทยแทบทั้งนั้นเป็นแดนมาเลย์ พอดีกลับมาค้นเพื่อจะเขียนอีกบทความให้นครดอนพระฉบับรับสงกรานต์ที่เห็นจะต้อง "คุยใหญ" เรื่องปลียอดทองขององค์พระบรมธาตุเสียที)
เมื่อต้นเดือนมกราคม ผมได้ร่วมต้อนรับคณะสถาปนิกและภูมิสถาปนิกจากอาศรมศิลป์ ผู้ออกแบบรัฐสภาหลังใหม่ "สัปปายะสภาสถาน" ที่กำลังก่อสร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาที่วัดพระธาตุและวัดศรีทวีเมืองนคร เพื่อพิจารณาการถวายงานการช่วยออกแบบให้เป็นสัปปายะสถานยิ่งขึ้น โดยมีท่านอดีตผู้ว่าวิชม ทองสงค์ อดีตอธิการบดีฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ และ อาจารย์บัณฑิต สุทธิมุสิก และคณะศรัทธากลุ่มหนึ่งเข้าร่วม และในวาระดังกล่าว ท่านเจ้าคุณวัดพระธาตุได้ปรารภถึงข้อวิตกเรื่องคราบสนิมบนปล้องไฉนและการประสานเตรียมการเรื่องมรดกโลก โดยเฉพาะเรื่องคราบสนิมซึ่งถึงขณะนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่ากรมศิลปากร ในฐานะผู้รับผิดชอบตามกฎหมายและหน้าที่ รวมทั้งผู้บูรณะมากับมือตลอดมาว่าอย่างไร ผมได้แต่ฝากความเป็นทอด ๆ ไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมว่าเรื่องนี้ ชาวนครเป็นห่วงอย่างยิ่ง ขอช่วยเร่งรัดและมีความชัดเจนด้วย ก่อนที่จะเกิดอะไรที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ เข้าใจว่าถึงขณะนี้ คงมีความชัดเจนและคลายวิตกลงแล้ว ท่านเจ้าคุณบอกว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หลังมาฆบูชานี้ ทางวัดจะต้องทำอะไรแล้ว ผู้คนพากันไถ่ถามด้วยความห่วงใย...เหมือนไม่ไหวกันแล้ว
แต่ที่จั่วหัวเรื่องว่า "สวัสดี ตามพรลิงค์ และ นครศรีธรรมราชมหานคร" เพื่อต้อนรับปี ๒๕๕๘ นี้ ผมนำมาจากชื่อหนังสือ ๒ เล่ม ที่เพิ่งได้มาจากศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเห็นว่าคนนครและผู้ที่สนใจในเมืองนครควรอ่านอย่างยิ่ง เพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปี ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๗ นี้ เขียนโดยคุณประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ นักประวัติศาตร์โบราณคดีที่มาบุกเบิกงานโบราณคดีที่เมืองนครจนออกมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช รวมทั้งการริเริ่มสารนครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๑๓ เขียนหนังสือว่าด้วย "นครศรีธรรมราช" เล่มแรก พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพขุนบวรรัตนารักษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ และการริเริ่มจัดประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.๒๕๒๑
เฉพาะเล่มแรก "สวัสดี ตามพรลิงค์" นั้น นอกจากชี้ให้เห็นถึงภูมิศาสตร์ ลม ฟ้า อากาศ ผู้คนพลเมือง จนก่อกำเนิดเป็นรัฐและแคว้นขึ้นในท้องถิ่นสุวรรณภูมิและคาบสมุทรทะเลใต้แรก ๆ ที่สำคัญบนประวัติศาสตร์โลกยุดแรกเริ่ม ๓ อาณาจักร คือ อาณาจักรตามพรลิงค์บนแหลมมลายู อาณาจักรศรีวิชัยบนเกาะสุมาตรา และอาณาจักรตารุมาบนเกาะชวา เฉพาะตามพรลิงค์บนคาบสมุทรเอเซียอาคเนย์ หนังสือได้ชี้ที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยช่วงจังหวัดนครถึงสงขลา ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร ตั้งแต่สิชลถึงหัวเขาแดงซึ่งเป็นสันทรายขนาดใหญ่เกิดจากการพักพาตะกอนทรายมาทับถมเป็นพันปี ประกอบกับเกิดการถดถอยของน้ำทะเลอ่าวไทยจนปิดกั้นที่ราบลุ่มตอนในจนค่อย ๆ กลายเป็นลากูน (lagoon) ทะเลสาบ ร่องน้ำ พรุ ควน และท้องนาต่าง ๆ ตลอดระยะเมื่อ ๖,๐๐๐ ปีที่ทะเลเคยเว้าลึกเข้าไปกว่าที่เป็นในทุกวันนี้ และได้ลำดับยุคสมัยของ "ตามพรลิงค์" ก่อนที่จะมาเป็น "นครศรีธรรมราช มหานคร" ไว้ ๔ ยุค ดังนี้
ยุคแรก "ยุคตั้งฟ้าดิน" เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗-๑๐ มีคนพูดภาษาออสโตรนีเซียนและออสโตรเอเซียติก (ชาวเล เงาะป่า ซาไก มอญและมลายู) ใช้เครื่องมือหินขัด เหล็ก และเครื่องปั้นดินเผา มีการใช้เรือชายฝั่ง ตั้งเป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กตามที่ราบเชิงเขาเทือกเขานครศรีธรรมราช กระจายตัวตลอดแนวเขตท่าศาลา เมือง ลานสกา ร่อนพิบูลย์
ยุคสอง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ ที่น้ำทะเลถดถอยลงไปมาก เกิดสันทรายชายทะเลและแผ่นดินที่ราบกว้างขวาง มีชาวอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามสันดอนทรายเพื่อความสะดวกในการเดินทางติดต่อค้าขาย มีบทบาททางศาสนา วัฒนธรรมและการเมือง ร่วมสมัยทวารวดี ร่องรอยสำคัญอยู่ที่บ้านท่าเรือที่สมัยนั้นยังเป็นลากูนขนาดใหญ่ต่อเนื่องถึงลานสกา ทุกวันนี้เป็นบริเวณที่ตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย พบหลักฐานโบราณวัตถุทั้งจากฝ่ายอินเดียและจีนเป็นจำนวนมาก
ยุคสาม "ยุคเมืองพระเวียง" ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ ร่วมสมัยอารยธรรมละโว้-ลพบุรีและศรีวิชัย นับถทอพุทธศาสนามหายาน (และวัชรยาน-บัญชา) อยู่บนสันทรายเดิมเหนือจากเมืองเดิมที่ท่าเรือประมาณ ๒ กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินเพื่อป้องกันเมือง คือคลองคูพายที่ขุดตัดสันทรายด้านใต้กับคลอสวนหลวงที่ขุดตัดสันทรายด้านเหนือไปบรรจบคลองท่าเรือก่อนออกทะเล ทุกวันนี้คือที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดสวนหลวง ที่พักตำรวจและบ้านศรีธรรมราช มีที่นาสำคัญของเมืองคือ ดอนนาแรก และ ทุ่งนาหลวง
ยุคสี่ "นครศรีธรรมราช มหานคร" ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลังจากเกิดศึกสงครามและโรคระบาดจนเมืองที่พระเวียงทรุดโทรม ประจวบกับพระเจ้านรปติสิทธุแห่งพม่ามอญแผ่ขยายอำนาจลงมาตั้งเมืองใหม่ในปี พ.ศ.๑๗๑๙ บนสันทรายเดิมที่เป็นดอนสูง เหนือขึ้นมาเล็กน้อย เรียกว่า "กระหม่อมโคก" หรือ "หาดทรายแก้ว" พร้อมกับรับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สถาปนามหาสถูปเป็นหลักเมือง เรียกอีกชื่อว่า "นครดอนพระ" ขุดคลองป่าเหล้าเป็นคูเมืองด้านใต้ เพิ่งขุดคลองหน้าเมืองเป็นคูเมืองด้านเหนือในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเมืองนี้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันซึ่งกำลังขยายใหญ่หลังจากเกาะอยู่บนสันทรายไล่ทางตอนเหนือมาหลายร้อยปี แล้วเริ่มขยายออกทั้งสองข้าง รวมทั้งวกกลับลงไปทางใต้ด้วย
ผมขอสรุปเสนอไว้เพียงเท่านี้พร้อมกับขอแนะนำให้รีบหามาอ่าน เพราะให้รายละเอียดสนุกสนานมาก โดยเฉพาะที่ระบุว่าแต่ละยุคนั้นพบอะไรที่ไหนบ้าง เพราะคุณประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ คือผู้รวบรวมมาไว้ในพิพิธภัณฑ์คนสำคัญ รวมทั้งเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละยุค โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ อินเดีย-ลังกา-พม่า-มอญ กับขอม-เขมร-จาม และ กับชวา-ศรีวิชัย หาหนังสือตามร้านไม่ได้ โทรฯ ที่ดวงกมลบุ๊คส์ ๐๒ ๙๔๒ ๙๒๗๐-๒
ที่สำคัญคือ เป็นการอธิบายที่มาของชื่อคอลัมน์ "นครดอนพระ" นี้ด้วย.
๒๐ มกราคม ๒๕๕๘