บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 03 April 2016
- Hits: 1237
ที่ชาวพุทธไทยพึงรู้, ร่างรัฐธรรมนูยฉบับล่า ว่าด้วยพระพุทธศาสนา
เมื่อวานนี้ ร่าง รธน.ใหม่ ได้บทสรุปเพื่อนำเสนอสู่การทำประชามติ
อ.อ้าย สมฤทธิ์ ลือชัย แห่ง ธรรมในใจ
คู่ขวัญกับคุณแหม่ม เพชรี พรหมช่วย
ที่ออกอะไรอีกหลายเรื่อง มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ตามธรรมดา
ได้โพสต์เรื่องนี้ของ ประชาไท มาให้ได้ดูกัน
ผมเห็นว่า ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ และ ชาวไทย
รวมทั้งผมเองก็ทุ่มเททำงานเพื่อพระพุทธศาสนา และ ประเทศไทยที่รัก
จึงขอเอามาแบ่งปัน เพื่อ "รับรู้" และ "ร่วมด้วยช่วนกัน" กันต่อไป
อย่างไรเสีย รัฐธรรมนูญ นั้น ก็เป็นเสมือน "อีกข้อศีลวัตรแห่งรัฐ"
ที่พลเมืองพึงรับรู้และ "ต้องรับไว้ประกอบการปฏิบัติ" ในที่สุด
ในนั้น ผมเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางนัยยะอย่างน่า "วินิจ" นัก
ไปก่อนนะครับ วันนี้มีนัดไปดูพื้นที่สวนลุมพินี
เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาให้สมกับมีชื่อว่า "ลุมพินี"
ต้นพฤกษภาคมนี้ ก่อนวิสาขบูชาครับ
ร่างรัฐธรรมนูญ 59 หนุนเผยแผ่พุทธเถรวาท-เพิ่มกลไกปกป้องการบ่อนทำลายพุทธศาสนา
เปิดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุให้รัฐอุปถัมภ์/คุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่เพิ่มข้อความให้รัฐส่งเสริม-สนับสนุนการศึกษาและเผยแผ่หลักธรรม "พระพุทธศาสนาเถรวาท" เพิ่มกลไก "ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา" ขณะที่เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ให้รัฐส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา นำหลักธรรมศาสนามาใช้สร้างคุณธรรม-พัฒนาคุณภาพชีวิต
(จากซ้ายไปขวา) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เจ้าแม่กวนอิม พระพิฆเนศ พระเยซู มัฟติสมัยอาณาจักรออตโตมาน พระถังซัมจั๋ง (ที่มา: วิกิพีเดีย)
29 มี.ค. 2559 - ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในมาตรา 67 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ได้บัญญัติเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐต่อพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ดังนี้
ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 (หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ)
"มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย"
อนึ่งในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2559 มีความพยายามผลักดันของกลุ่มพระสงฆ์เสนอให้บัญญัติว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ลงไปในรัฐธรรมนูญด้วย
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2559 พบว่ามีการเพิ่มเนื้อหาระบุให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเฉพาะนิกายเถรวาทเท่านั้น โดยระบุว่า "เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา" และมีการเพิ่มมาตราการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่เคยปรากฏเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้มาก่อน ในขณะที่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่า รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา นอกจากนี้สนับสนุนให้ "นำหลักธรรมของศาสนา" มาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นพระพุทธศาสนานิกายใดนิกายหนึ่ง โดยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ได้แก่
รัฐธรรมนูญ 2540 (หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ)
มาตรา 73 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนําหลักธรรมของศาสนามาใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
รัฐธรรมนูญ 2550 (หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ)
มาตรา 79 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่น ทั้งต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
http://prachatai.org/journal/2016/03/64936