บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 03 April 2016
- Hits: 1234
คนนครทั้งหลายและชาวพุทธไทยทั้งนั้น ถึงเวลาหรือยัง
เอาอย่างไรกันดีกับ "คราบสนิมบนยอดพระธาตุ" ของพวกเรา ?
(ลงใน นครดอนพระ นสพ.รักบ้านเกิด ฉบับ เมษายน ๒๕๕๙
เนื่องในวาระวันอนุรักษ์มรดกไทย และ วิสาขบูชา ๒๕๕๙)
ตลอดปีที่แล้ว จนถึงบัดนี้ ยังไม่รู้และไม่มีความคืบหน้าใด ๆ กับ "ยอดพระบรมธาตุเมืองนคร" ที่ถูกสนิมอาบ
ตลอดปีที่แล้ว ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นปีสำคัญที่ดูเหมือนว่าจะเป็นปีขับเคลื่อนเรื่องความเป็นมรดกโลกขององค์พระบรมธาตุ แล้วค่อย ๆ เงียบหาย
ตลอดปีที่แล้ว ที่ทางจังหวัดทุ่มเทพัฒนาบริเวณวัดเพื่อ "สู่มรดกโลก" จนวุ่นวายสับสนและไม่เป็นมงคลไปเสียหมด
เดือนนี้ เมษายน เป็นช่วงแห่งมงคลการ "อนุรักษ์มรดกไทย" ที่ปีที่แล้ว ผมเขียนชื่นชมงานการอนุรักษ์หลายอย่างของกรมศิลปากรที่เมืองนคร ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังควรแก่การชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์ยักษ์ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ ส่วนที่วัดพระธาตุฯ นั้น ผมเพียงแต่ถามด้วยความห่วงใยเรื่องแผงร้านค้าด้านทิศใต้ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ผมได้ยกกรณีศึกษา ๓ มรดกโลกที่พม่า มาเทียบเคียง ตามด้วยเดือนพฤศจิกายน ที่เสนอเรื่องตรง ๆ ว่า "การบุญที่ต้องช่วยกันอย่าให้พลาดกับพระบรมธาตุเมืองนคร" จากกรณีที่ผลจากการพัฒนาปรับปรุงต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทั่วพื้นวัดพระธาตุตามมาด้วยอีกหลายเรื่องที่งุนงงว่า "เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ?" โดยตลอดทั้งปีจนถึงต้นปีนี้ เท่าที่ทราบ "ยังไม่มีแผนและปฏิบัติการใด ๆ อย่างชัดเจน" ไม่ว่าจะ "สนิมบนยอดพระธาตุ" และ "อะไรต่าง ๆ เพื่อพระธาตสู่มรดกโลก" นอกจากข่าวการทูลเกล้าฯ ถวายเงินพระเจ้าอยู่หัว ของนายจิมมี่เพื่อร่วมพระราชกุศลในการบูรณะปฏิสังขรณ์ปลียอด กับการพิจารณางบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบนเพื่อการเดียวกัน รวมกันกว่า ๕๐ ล้านบาท จนเลยอีกมาฆะบูชา จะพ้นวันอนุรักษ์มรดกไทย ถึงอีกวันวิสาขบุชา อาสาฬหบุชาอีกแล้ว
เมื่อหลายวันก่อน ได้ยินเขาเล่ากันว่า แม้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ตั้งคำถามทำนองว่าแล้วเมื่อไหร่กรมศิลปากรจะมาทำอะไรเสียที อะไร ๆ ก็ต้องกรมศิลปากรทำแต่ผู้เดียว เงินทองก็พอมีและช่วยหาให้แล้ว ต่อแต่นี้ไปโจทก์จะเยอะไปทั่วทั้งเมืองนคร ปล่อยให้ผู้ว่าโดนอยู่คนเดียวได้อย่างไร (ข่าวว่าท่านผู้ว่าฯ ถามถึงที่ทำการปรับปรุงบริเวณวัดจนกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ด้วยว่า ออกมาทำอะไรกันบ้าง ปล่อยแต่ให้ผู้ว่าฯ กลายเป็นผู้ถูกว่าอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร)
อันที่จริงเมื่อต้นปีที่แล้วช่วงที่เข้มงวดมาก ๆ และท่านเจ้าคุณใหญ่วัดพระธาตุบอกผมให้ช่วยด้วยนั้น ผมได้พยายามสอบถามหลายฝ่าย พร้อมกับส่งข่าวหลายทาง ด้วยหวังว่าจะมีการดำเนินการให้ดีเสียดี ถึงวันนี้ก็ยังอย่างนี้ ผมจึงขอนำบันทึกน้อยส่วนตัวที่ส่งถึงบางท่านพร้อมข้อเสนอแนะที่ดูเหมือนว่าใครไม่ทำ มานำเสนออีกครั้ง หวังว่าจะเกิดการขับเคลื่อนจริงเสียที
ข้อห่วงใยเนื่องแต่ "คราบสนิมที่อาบยอดองค์พระบรมธาตุ"
เหตุที่กลีบบัวหงาย ... คำตอบตามที่ท่านเจ้าคุณฯ ปรารภถาม
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา เมื่อผมนำคณะจากอาศรมศิลป์ กรุงเทพหมานคร เข้ากราบท่านเจ้าคุณพระเทพวินยาภรณ์แห่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารตามโครงการที่อาศรมฯ จะถวายงานแก่วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อความเป็นสัปปายะสถานและส่งเสริมการพระศาสนา ท่านเจ้าคุณฯ ได้ปรารภถึงข้อห่วงใยทั้งเรื่องคราบสนิมและการดำเนินการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ต่อมาในที่ประชุมหารือกับท่านเจ้าคุณวัดศรีทวี ซึ่งมีท่านอดีตผู้ว่าฯ วิชม ทองสงค์, อดีตอธิการบดีฯ ฉัตรชัย ศุกรกาญจน์, อดีต ผอ.กองการศึกษา เทศบาลนครฯ อาจารย์บัณฑิต สุทธิมุสิก และ คณะศรัทธาวัดศรีทวี ก็ได้หารือต่อในเรื่องนี้ด้วยความห่วงใย จากนั้นได้ทราบว่ามีการนัดหมายเคลื่อนไหวในนครต่อเรื่องนี้แล้วมีการงดกระทันหันเพื่อรอการดำเนินการของทางการ จากนั้นผมได้พยายามประสานสอบถามไปยังส่วนกลางผ่านบางท่านที่พอจะช่วยได้ ได้รับทราบว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้กำชับลงมา ต่อด้วยท่านอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงมาประชุมหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านเจ้าคุณฯ วัดพระธาตุแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ โดยหลังวันมาฆะบูชา ๔ มีนาคมนี้ จะเริ่มทำการสำรวจตรวจสอบและบูรณะอีกครั้ง ประเมินเบื้องต้นจากการสำรวจระยะไกลและข้อมูลที่มีอยู่ว่าน่าจะเกิดจากกลีบบัวหงายที่มีสภาพเป็นกะเปาะขังน้ำทำให้เกิดเป็นสนิมไหลอาบลงมาจากชั้นนั้น เหนือขึ้นไปตามปล้องไฉนไม่น่าจะมีอะไร ประมาณการว่าน่าจะประมาณ ๔ ล้านบาท ตกลงว่าร่วมกันรับผิดชอบ ๓ ฝ่ายเท่า ๆ กัน คือ กรมศิลปากร จังหวัดฯ และ วัดฯ และหากพบข้อเท็จจริงอย่างไรจึงจะพิจารณาในขั้นต่อไปบนหลักการเดิมคือร่วมรับผิดชอบด้านงบประมาณ ๓ ฝ่าย ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการนี้จากหลายภาคส่วน คือ กรมศิลปากร จังหวัดฯ วัด และ ตัวแทนชาวนคร ซึ่งจังหวัดจะมีการประชุมในวันที่ ๑๖ กพ.นี้ โดยมีผู้สอบถามเชิงทาบทามว่าจะขอให้ผมเป็นผู้หนึ่งในฐานะตัวแทนชาวนคร
ตะปูอาบน้ำยาด้วย...ในที่ประชุมอาศรมวัฒนธรรม 'วลัยลักษณ์
วันนี้ (๑๒ กพ.๕๘) ในที่ประชุมคณะกรรมการอาศรมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีท่านอธิการบดีฯ รองอธิการบดีฯ ผอ.อาศรมฯ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ผอ.สำนักโบราณคดี นครศรีธรรมราช ศ.ชวน เพชรแก้ว และท่านคณบดีกับ ผอ.ใน มวล.รวมทั้งท่านคณบดีสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้มีข้อพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยฯ ได้มีส่วนต่อเรื่องนี้มาแล้ว โดยเฉพาะการที่ท่าน ผอ.อ.สืบพงษ์ ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ คณะสถาปัตยกรรมได้ออกแบบการปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมที่กำลังปรับปรุงอยู่ หากจะได้มีส่วนในทางวิชาการในเรื่องนี้ที่กำลังหาทางออกด้วยจะดียิ่ง และ อ.สืบพงษ์ ได้ถามท่าน ผอ.สำนักโบราณคดีเรื่องที่มีการกล่าวกันว่าสนิมเกิดจากตะปูที่เดิมเป็นโลหะเงินยวง แต่ที่กรมศิลปากรบูรณะครั้งที่ผ่านมาได้เปลี่ยนวัสดุซึ่งเป็นต้นเหตุของสนิม แท้จริงเป็นอย่างไร ท่าน ผอ.สำนักฯ อธิบายว่าเรื่องนี้เมื่อครั้งบูรณะ ช่างพิเคราะห์ว่าตะปูอาบน้ำยาน่าจะใช้แทนได้ จึงเลือกใช้ และบัดนี้ล่วงเลยมา ๒๐ กว่าปี ซึ่งปกติจะต้องมีการบูรณะทุก ๕๐ ปี จึงเป็นเวลาที่เกิดคราบสนิม ซึ่งประเด็นนี้ผมยังไม่เคยได้รับทราบถึงการพิเคราะห์และชี้แจงสรุปอย่างนี้มาก่อน ทำให้ยิ่งวิตกห่วงใยยิ่งขึ้น หากมีการชี้แจงเช่นนี้ และหากเป็นเช่นนี้จริงก็ยิ่งห่วงใยยิ่ง ๆ ขึ้น
แล้วก็...สีที่ทาด้วย
หลังการประชุม ผมได้เรียนถามเพิ่มเติมจากท่าน ผอ.สำนักฯ ว่าโดยรวมแล้วขณะนี้สามารถสรุปได้อย่างไรบ้าง นอกจากเรื่องตะปู ท่าน ผอ.อธิบายเรื่องกลีบบัวและปลียอดในทำนองเดียวกับที่ผมได้รับการบอกเล่าว่าท่านอธิบดีชี้แจงอย่างนั้น คือปัญหาอยู่ที่กลีบบัวมิใช่ปลียอด โดยมีรายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับชั้น การหุ้มบุ ฯลฯ ซึ่งผมจำได้ไม่หมด แต่ที่ห่วงใยมากขึ้นอีกคือ ท่าน ผอ.สำนักฯ บอกว่าคราบสีคล้ายสนิมนี้เป็นเรื่องของสีที่ทาด้วย ผมจึงสอบถามว่าเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าใช้สีนาโนแล้วเกิดปฏิกิริยาทางเคมีเปลี่ยนสี ซึ่งทำให้ผมยิ่งงงและสับสนใหญ่ ด้วยเท่าที่ทราบมาแต่เดิมนั้น ท่านอดีตผู้ว่าฯ สวัสดิ์ ทำโครงการฯ หาเงินเพื่อทาสีอคริลิคองค์พระธาตุ แล้วมีคนทักท้วง จนกรมศิลป์บอกว่าจะใช้สีปูนตำแบบโบราณ จนทาสีเสร็จไม่นานก็เกิดคราบคล้ายสนิมนี้รอบหนึ่งแล้วจังหวัดกับวัดฯ จัดทำนั่งร้านให้กรมศิลปฯ ขึ้นไปสำรวจและแก้ไข จากนั้นไม่นานก็เกิดคราบรอบใหม่มาถึงทุกวันนี้ ถึงจุดนี้ ท่าน ผอ.บอกว่าที่ทาสีครั้งนั้น เป็นสีปูตำผสมสีนาโน และสีอคริลิคนั้นคือสีนาโนชนิดหนึ่ง !!! ซึ่งถึงจุดนี้ ผมไม่สามารถรู้ได้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร และสาเหตุที่แท้จริงตลอดจนความเป็นมาเป็นอย่างไรกันแน่ และที่จะแก้ไขนี้ควรจะเป็นอย่างไร จะเป็นที่ลุล่วงเรียบร้อยด้วยดีหรือว่ายิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่
ถึงเวลาหานักวิชาการมืออาชีพแล้วครับ
ผมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอาศรมฯ ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งมีทั้งสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และสำนักวิชาสถาปัตยกรรม มีภาระหน้าที่ในการบริการสังคมอยู่แล้ว และได้มีส่วนในเรื่องนี้ด้วยแล้ว ควรที่จะมีบทบาทในเชิงวิชาการในเรื่องนี้ดังที่มหาวิทยาลัยพึงกระทำ และเมื่อเกิดสภาพเช่นนี้ไม่ว่าที่ไหน นักวิชาการกับนักวิชาชีพมืออาชีพเท่านั้นที่จะช่วยชี้แนะและคลี่คลายได้ โดยอาจจะเป็นของมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยช่วยประสานให้ก็ได้ และผมได้แจ้งต่อท่านอาจารย์ฉัตรชัยเพื่อขอตัวว่าไม่มีความสามารถพอที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวนครในคณะกรรมการที่จังหวัดจะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนี้เนื่องจากเรื่องนี้น่าจะต้องการผู้รู้เชิงช่างและวิชาการด้านนี้โดยตรง ซึ่งหากจังหวัดจะประสานจากสมาคมวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญพิเศษในระดับประเทศก็น่าจะทำได้ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็น่าจะรับบทบาทการประสานในเรื่องนี้ได้ ดังที่ผม ในนามของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เคยประสานขอจากสมาคมสถาปนิกสยามและสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย เพื่อทำการวิเคราะห์แนะนำให้คำปรึกษาต่อการปรับปรุงอุโบสถธรรมชาติของวัดธารน้ำไหล หรือ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปีที่แล้วจนบรรลุเป้าหมายและยุติลงได้ด้วยดี โดยทั้งสองสมาคมเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในระดับราชบัณฑิตพร้อมกับระดับนายกและอุปนายกของสมาคมมาเป็นตัวแทน
องค์พระบรมธาตุเจดีย์นั้นเป็นมรดกที่เหนือกว่าการรับรองของใคร
จึงขอสรุปเสนอและกราบเรียนมายังท่านที่เกี่ยวข้อง เพื่อโปรดทราบและพิจารณาตามที่จะเห็นสมควร สำหรับผม องค์พระบรมธาตุเจดีย์นั้นเป็นมรดกที่เหนือกว่าการรับรองของใครด้วยเป็นมรดกธรรมของบรรพชนบนแผ่นดินเกิดที่รังสรรค์สืบทอดมาช้านาน การพิทักษ์ปกป้องบูรณะปฏิสังขรณ์ให้คงสภาพดังที่บรรพชนได้ทำไว้ให้ถึงรุ่นของเราเพื่อเป็นมรดกธรรมแด่ชนรุ่นหลังมีความสำคัญยิ่งกว่านัก ขอวิงวอนต่อท่านที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่มีส่วนรับผิดชอบตามตัวบทกฎหมายและบทบาทหน้าที่แห่งรัฐได้ดำเนินการให้ลุล่วงและชี้แจงมิให้เกิดความสับสนเสียหายต่อธรรมและบ้านเมืองนี้ที่บรรพชนได้ประดิษฐานสร้างสรรค์ให้เราได้อยู่มาถึงทุกวันนี้
ผมขออนุญาตเสนอว่า จังหวะนี้ที่ควรขบคิดและทำให้มากที่สุดคือ
๑) ประมวลประเด็นอันว่าด้วยข้อสันนิษฐานถึงเหตุแห่งการเกิดคราบสนิมที่กำลังอาบยอดองค์พระบรมธาตุทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ครบถ้วนเพื่อทำการตรวจสอบพิสูจน์ เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนสับสนจนขยายไปในทางที่ไม่ควรซึ่งมักจะเกิดขึ้นเสมอหากไม่มีการจัดทำที่ดี
๒) การเตรียมการเพื่อตรวจสอบและลงมือบูรณะครั้งนี้ ขอให้ทำอย่างดีที่สุดโดยผู้ที่มีฝีมือความรู้ความสามารถอย่างรอบด้านและรอบคอบให้จงได้ เพราะครั้งนี้หากพลาดอีกน่าจะยากลำบากยิ่งขึ้น
๓) การสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมอย่างถูกถ้วน กว้างขวาง โปร่งใสและตรงไปตรงมา ควรได้รับการพิจารณาและดำเนินการควบคู่ไปด้วยตลอดกระบวนการ
หากมีอะไรให้ผมรับใช้ก็ตามที่เห็นควรก็ยินดีครับ, สำหรับองค์พระบรมธาตุเจดีย์และเมืองธรรม : นครศรีธรรมราช
บัญชา พงษ์พานิช
สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ นครศรีธรรมราช
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
คนนครทั้งหลายและชาวพุทธไทยทั้งนั้น ถึงเวลาหรือยัง
เอาอย่างไรกันดีกับ "คราบสนิมบนยอดพระธาตุ" ของพวกเรา ?
ในวาระแห่งเดือนอนุรักษ์มรดกไทย เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ และ วิสาขบูชา ที่กำลังจะเวียนมาอีกรอบ ในฐานะที่กรมศิลปากรเคยมอบเกียรติอันสูงส่ง "นักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น" แก่ผม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ ผมขอน้อมระลึกถึงพ่อท่านปานและพ่อแม่ครูบาอาจารย์ตลอดจนบรรพชนคนนครและชาวพุทธไทยทั้งหลายที่เคยร่วมกันปลุกระดมรณรงค์ผู้คนทั่วทุกสารทิศจากทั่วประเทศมาร่วมกับบูรณะปฏิสังขรณ์กันอย่างต่อเนื่องด้วยศรัทธาอันสูงส่ง ทำการปลุกเร้าระดมคนนครทั้งหลายและชาวไทยพุทธทั้งนั้น ว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องร่วมกันหาคำตอบให้ถูกถ้วนหมดจดและแจ่มแจ้งถึงเหตุแห่งสนิมที่อาบรดยอดพระธาตุ และได้เวลาหรือยังที่จะต้องร่วมกับบูรณะปฏิสังขรณ์เสียที และที่สำคัญ ผมเห็นว่าลำพังกรมศิลปากรน่าจะไม่พอเสียแล้ว ขอเสนอว่า ชาวนครและชาวพุทธไทยทั้งนั้นขอเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญชำนาญการจริง ๆ ในเรื่องเหล่านี้จากนอกกรมศิลปากรเข้าไปร่วมด้วยในการวิเคราะห์สรุปปัญหาตลอดจนวางแผนแนวทางและดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ถูกถ้วนและวางใจได้ว่าจะไม่ต้องมาหาเหตุอึกอักลักลั่นรีรอไม่ทำอะไรเสียทีในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า โดยขอให้มีการประกาศชี้แจงแจ้งต่อสาธารณะอย่างชัดเจนและต่อเนื่องด้วย
นครศรีธรรมราช
๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙