บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 05 April 2016
- Hits: 1309
ดีใจที่ได้แพ้ "นายเม้งคนนี้" ... แต่พอมีเชิงอยู่บ้าง
เมื่อวานนี้ นายเม้ง ส่งบทความที่เขียนถึงเรื่องเมื่อ ๔ ปีก่อนมาในเชิงบังคับให้ต้องอ่าน แล้วขอไว้ว่าวันนี้จะเล่าของผม "ที่ถือว่าแพ้น้องคนนี้" อีกแล้ว
ตอนนี้แพ้ใคร ๆ ที่เป็นคนรุ่นหลังแล้วผมชอบใจมาก ๆ
อยากแพ้อย่างนี้เรื่อย ๆ เพราะบ่งบอกว่าอนาคตจะต้องดีกว่านี้แน่
ในเมื่อเราทำได้เพียงแค่นี้ แล้วคนรุ่นหลังทำได้ดีกว่าเรา
อนาคตย่อมดีกว่านี้แน่นอน
ตอนผมบวชที่เืองนครแล้วไปอยู่ที่สวนโมกข์ เมื่อ ๓๐ ปีก่อนโน้น
พอได้จังหวะจะสึก ผมก็ขอให้ "ท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์" กำหนดวันสึก
ตามที่ท่านเห็นว่าสมควร เนื่องจากเราก็ถือว่า "อุปัชฌาย์" คือพ่อ
จะลาออกก็ขอท่านกำหนด
ท่านบอกว่าจะให้ "ท่าน..." ผู้ดูฤกษ์ดวงได้ดีเป็นผู้กำหนดฤกษ์ให้
แต่ผมไม่ปล่อยวางได้อย่างนายเม้ง ด้วยการ "ไม่ยอม"
แถมกราบกลับไปเป็นลายลักษณ์ถึงท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์ว่า ผมนับถือและขอท่านเจ้าคุณฯ กำหนด กรุณาอย่าให้คนอื่นมาเป็นผู้กำหนดเลย ยิ่งท่านนั้นที่ผมพอรู้อะไรๆ อย่าได้มาเป็นผู้ดูและกำหนดฤกษ์อะไรให้กระผมเลย
หากท่านเจ้าคุณยังยืนตามฤกษ์ที่ว่า กระผมขอกำหนดเอง
ซึ่งท่านเจ้าคุณก็ตามใจผม โดยได้ให้โยมแม่และน้าพา จัดฉลองพระครั้งใหญ่ท่ามกลางญาติมิตรที่ศาลาการเปรียญวัดจันทาราม ที่ทางบ้านอุปัฏฐากมาสามสี่ชั่วอายุแล้ว
แม้จะแพ้ แต่ก็ยังถือว่าไม่แพ้ราบคาบนะครับเม้ง เชิงพี่ยังพอมีบ้างนะน้อง
"เราเลิกกันเหอะ”
ประโยคนี้มันอาจจะไม่เจ็บปวดเท่านี้ ถ้าพูดกันก่อนจะแต่งงาน
จากที่รอคอยได้เป็นปีๆเพื่อเลือกวันที่ ฤกษ์ดี ที่สุดเพื่อใช้เริ่มชีวิตใหม่กับใครสักคนกลับหมดความหมาย เมื่อถึงวันที่ เลิกดี..กว่า
ในวันที่รักเราไม่เท่ากัน
....................
หลังจบมหาลัย ผมก็เริ่มเข้าสู่วัยที่ได้ไปร่วมงานแต่งอย่างสม่ำเสมอ และช่วงหนึ่งในงานที่ผมสนใจเป็นพิเศษ ก็คือช่วงที่เจ้าบ่าวได้พูดกับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน เพราะผมชอบเอามาคิดว่าเมื่อถึงตาผม ผมจะพูดอะไรดีให้สมกับวันสำคัญที่สุดในชีวิตอย่างนี้
และนี่คือประโยคหนึ่งจากงานๆหนึ่งที่ผมทั้งจดและจำได้มาตลอด
"ถ้าวันนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยจริงๆเลยนะครับ...เพราะผมคงไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว"
เชดดดดดดดดดดดดดด โคตรเท่อะ
มันทั้งโรแมนติก ทั้งยังมีอารมณ์ขันนิดๆ ให้พอได้ยินเสียงหัวเราะหน่อยๆ ดูมีรสนิยมสุดๆ
นี่ขนาดผมไม่ได้เป็นเจ้าสาวของเขายังชอบขนาดนี้ ไม่รู้เจ้าสาวจะเคลิ้มขนาดไหน จบงาน ผมปักไว้เลยว่านี่คือ Benchmark เอาเป็นว่าถ้างานผม ผมต้องพูดให้เจ๋งไม่น้อยกว่านี้
...ต่อมาไม่นานนัก คู่นี้ก็เลิกกัน
เดิมทีผมเองก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องดวงนัก จนมาบวชเรียนที่สวนโมกข์ ไชยา จาก’ไม่ค่อย’ ก็หนักแน่นขึ้นจนไม่เชื่อเลย เพราะฤกษ์งามยามดีอยู่ที่การกระทำของเราต่างหาก เมื่อเนื้อแท้ของพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นผู้ตื่นรู้ จากความหวาดกลัวต่อโชคชะตา ราศี และดวงดาว แต่ที่ตลกก็คือชาวพุทธหลายคนจะบวชก็ยังจะต้องดูฤกษ์บวช จะสึกก็ยังต้องดูฤกษ์สึก?!?
ผมพอจำที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยพูดถึงการ ’สึก'ไว้ว่า สึกมันก็มาจาก สึกหรอ จากชีวิตสมณเพศที่สูงกว่า ก็เลือกที่จะกลับไปทางโลกที่ต่ำกว่า มันก็คือชีวิตที่สึกหรอลงไป ดังนั้นการสึกมันก็ไม่ต้องไปดูฤกษ์ให้มันดีหรอก เพราะถ้าจะ'สึก'มันก็ไม่ดีอยู่แล้ว
๖ เดือนผ่านไปในการบวชเรียน ถึงกำหนดที่ผมต้องสึก และคนที่รอวันนี้มาตลอดก็คือป๊าม้าของผม แต่แน่นอนการสึกครั้งนี้จะต้องไม่มีการดูฤกษ์สึกให้เสียชื่อศิษย์สวนโมกข์
ผมบอกป๊าม้าไปว่าให้เลือกวันจากความสะดวก ว่างพอที่ไม่ต้องเร่งรีบทำอะไร ผมจะสึกวันนั้น แถมยังย้ำถึงเรื่องการว่าไม่ต้องไปดูฤกษ์อยู่หลายครั้ง เพราะแม้ผมจะเป็นคนที่สึกหรอ แต่ในวันสุดท้ายในเพศสมณะ ผมก็อยากแสดงถึงความรู้ธรรมให้กับป๊าม้าของผมเห็น ว่าชีวิตเราจะดีได้โดยไม่ต้องพึ่งฤกษ์ยาม..นี่คือของขวัญที่ผมนำมาฝากป๊าม้าของผม
....อีกไม่กี่วันป๊าม้าผมก็กลับมาพร้อมของขวัญชิ้นพิเศษเช่นกัน เพื่อรับขวัญลูกชายในวันสึก ก็คือ ฤกษ์สึก!...นั่นไง!
แม้ป๊าและม้าจะบอกว่าก็แค่ไปดูไว้เฉยๆ ไม่ต้องตามนี้ก็ได้ แล้วแต่พระ
แต่ผมก็พอรู้ว่าถ้าไม่ตามฤกษ์นี้ พวกเขาก็จะไม่สบายใจ แม้ผมเชื่อว่าวันสึก วันไหนก็เหมือนกัน ถ้าเลือกตามฤกษ์ไป พ่อแม่สบายใจ แต่เท่ากับ ๖เดือนที่ผ่านมา การกลับมาวันแรกของผม ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม และป๊าม้าของผมก็จะยังยึดถือการใช้ชีวิตตามฤกษ์ยามต่อไป
เมื่อคนที่ผมต้องปรึกษากลับปรึกษาปัญหาชีวิตไม่ได้ ชีวิตนี้ช่างว้าเหว่ยิ่งนัก โชคดีที่ผมยังเหลืออีกคน
ผมเอาเรื่องทั้งหมดนี้โทรกลับไปปรึกษาพระอาจารย์ที่สั่งสอนผม เพราะแน่ใจว่าท่านอาจารย์ในสถาบันแห่งสวนโมกข์ จะช่วยเติมความมั่นใจไม่หวั่นไหวต่อวิถีทางแห่งโชคลาง...แต่ผิดคาดพระอาจารย์กลับอยู่ข้างป๊าม้าของผม!
"ดูให้ดี พ่อแม่เขาดูฤกษ์มา ก็เพราะเขารักเราไม่ใช่เหรอ อยากให้ลูกได้สิ่งดีๆ” ผมเลยรีบแย้งว่าที่จะไม่สึกตามฤกษ์ ก็เพื่อให้ป๊าม้าเลิกยึดถือเรื่องฤกษ์ยามซะที ก่อนที่พระอาจารย์ตอบกลับกึ่งเตือนสติผมว่า “แล้วการที่ยังไงเราก็จะไม่เลือกจะตามฤกษ์ มันก็คือการยึดถือไปอย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราวันไหนก็ได้จริงๆ ก็ตามใจเขาสิ”
ท่านอาจารย์พูดแทงใจดำผม ก่อนจะสำทับให้ผมตื่นขึ้น
“มันไม่ใช่แค่วันนี้หรอก แต่ทุกวันหลังจากนี้ไปต่างหาก ที่เราจะต้องแสดงให้เขาเห็น เห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดีขึ้นยังไงบ้าง นี่ไม่ใช่เหรอที่เราต้องทำไปทุกวัน ต่อจากนี้”
นั่นสิครับ ผมมันแค่รู้ธรรม แต่ไม่รู้ทำ การอยากให้ใครเชื่อ มันไม่ใช่การบอกให้เชื่อ แต่ต้อง”ทำ”ให้เขาเชื่อ เพราะถ้าผมเชื่อว่าดีจริงๆ ผมก็ต้องเชื่อพอที่จะทำมันได้ทุกวัน
พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกริยาติดต่อกัน ๖ ปี จนเหล่าปัจจวัคคีย์ศรัทธา ดาบวิชัยเดินปลูกต้นไม้จากแล้งจนเขียวเต็มศรีษะเกษแม้คนจะหาว่าบ้า เพราะความจริงต้นไม้แห่งโพธิไม่ได้โตขึ้นมาวันเดียว แต่ต้องทำทุกวัน
เมื่อ ‘สึก’แล้ว หน้าที่ของผมก็คือต้อง’ทำ'มันให้เต็ม
ถึงตอนนี้การเชื่อฤกษ์งามยามดี หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญต่อไป เพราะ ฤกษ์งาม ยาม(ที่เรา)ดี
..ผมตัดสินใจสึกในฤกษ์ที่ป๊าม้าเลือกมา โดยวันนั้นตรงกับวันเกิดของอาม้าผมพอดี เหมือนเป็นของขวัญให้อาม้า
.......................
หลังจากนั้นอีก๙เดือน ผมก็เข้าพิธีสมรสกับแฟนโดยไม่ได้ดูฤกษ์ยามใดๆ และป๊าม้าของผมก็ไม่ขัดข้องประการใด
ในวันงานผมไม่ได้กล่าวคำอะไรเท่ๆที่เคยเตรียมไว้ แต่เลือกที่จะเปิดเสียงท่านอาจารย์พุทธทาส ท่อนหนึ่งที่เทศน์ไว้ในธรรมะสำหรับคู่สมรส ที่เปลี่ยนชุดความคิดและความรักของผมไปอย่างสิ้นเชิง
"สมรส มาจาก สม(สะ-มะ)ที่แปลว่า เสมอ กับคำว่ารส สมรส ก็คือมีรส(นิยม)เสมอกัน"
ครับ จะสม..รสกันได้ ก็ต้องเป็นคนที่’เสมอ’กันได้ จะ’เสมอ’กันได้ ก็ต้องไม่มีใครเอาชนะกัน เมื่อไม่มีใครชนะกัน เราก็จะกลายเป็นคนที่รัก’เสมอ’ เมื่อรักเสมอ เราก็จะคิดถึง'เสมอ' คิดแต่ว่าเราจะลดบางอย่างลง หรือพัฒนาบางอย่างให้มันดีขึ้น และทำให้เชื่อ’เสมอ’ เชื่อว่าถ้าเรารักกันมากพอ เราจะเปลี่ยนตัวเองให้ดีอยู่ ’เสมอ' เราจะช่วยกันเติมเต็มในส่วนที่สึกหรอบกพร่องให้เราเสมอกัน แล้วเราจะทำให้ทุกวันอย่างสม่ำ ‘เสมอ'
เพราะเรารักกัน’เสมอ’ เราถึงสม..รสกัน
สมรส ที่แท้จึงไม่ได้เอาไว้ตัดสินว่าเราจะเหมาะสมที่จะอยู่คู่กับใคร แต่สมรส คือการตัดสินใจที่จะทำตัวเองให้เหมาะสมกับคนที่เรารักให้ได้มากที่สุด
ดังนั้นถ้าวันแต่งงานมีข้อผิดพลาดประการใด ที่ไม่อาจจะไม่มีโอกาสแก้ตัวได้แล้วก็ไม่เป็นไร เพราะวันแต่งงานมีฤกษ์งามยามดีแค่แค่วันเดียว แต่ชีวิตสมรสของแท้เริ่มต่อจากวันนี้ มันต้องการให้เราทั้งสอง"ทำ"ทุกๆวันหลังจากนี้ต่างหากให้ดีวัน ดีคืน เรายังสามารถแก้ตัวได้ทุกวัน โดยเฉพาะแก้ตัว..ตน ทิฐฐิมานะ ให้ลดลง คงน่าเสียดายถ้าเราจะยุติชีวิตสมรส เพียงเพราะเราเริ่มคิดไม่เหมือนกัน เราเริ่มชอบไม่เหมือนกัน เราเริ่มเชื่อไม่เหมือนกัน แล้วเราก็เอาสิ่งเหล่านี้มาตัดสินเลยว่าเราเข้ากันไม่ได้ เราก็เลยเลิกกัน เพราะคิดว่าเราคงเปลี่ยนเขาไม่ได้...แต่เราไม่เคยคิดเปลี่ยนเราเอง
ถ้าคุณเพิ่งเลิกกันไป แล้วคุณก็ยังรู้สึกว่าได้ทำอะไรผิดพลาดไปสักอย่าง ใจมันยังคิดถึง'เสมอ’ ใจยังรัก’เสมอ’ อยู่ มาลองแก้"ตัว"อีกครั้งไหมครับ
วันดี ‘คืนดี’ อาจจะพาให้คุณกลับมาสมรสกันอีกครั้งก็ได้ครับ
แด่คู่สมรสทุกคู่ ที่พร้อมจะเติมเต็มส่วนที่"สึก"หรอของหัวใจให้เสมอกัน
"เราดี ดีกว่าดวง เพราะดีนั้นมีที่เรา, ดีกว่าที่ดวง ทำดีนั่นแหละเราหน่วง เอาดีทั้งปวง มาทำให้ดวง มันดี” - พุทธทาสภิกขุ
.........
จากคอลัมน์ ย้ำคิดย้ำธรรม : a day 168
บอกฤกษ์ - บอกเลิกa day magazine