logo_new.jpg

อีกเรื่องลำบากใจและค้ำคอผมมาตั้งแต่หนุ่มน้อย

กุฏิกลิ่นสะตอที่เมืองนคร กับปฏิบัติการเมื่อ ๓๕ ปีที่แล้วของผม จนจังหวัดและกรมศิลป์ยกให้เป็นนักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น

รุ่นแรกร่วมกับ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะนี้ที่น้อง ๆ คนนครกลุ่มหนึ่งกำลังง่วนอยู่ที่กุฏิทรงไทยอายุ ๑๐๐ ปีที่เมืองนคร

เพื่อจัดงานให้ทานไฟวันที่ ๑๐ นี้นั้น ผมขออนุญาตเล่าเรื่องนี้ที่หลายคนอาจจะลืมหมดแล้ว ๑) วัดวังตะวันตกมีความสำคัญมากในหลายมิติดังที่นายวันพระได้สำรวจและเรียบเรียงไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอารามสำคัญที่เจ้าพระยานครน้อยยกวังและอุทยานของแม่ที่ตนเองเติบโตมาสร้างเป็นวัด และทั้งแม่คือเจ้าจอมมารดาปรางและเจ้าพระยานครน้อยนี้เป็นบุคคลสำคัญมากในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยและเมืองนคร อาทิ เป็นลูกสาวเจ้าพระยานคร (หนู) ผู้รักชาติ ตั้งก๊กเจ้าพระยานครตอนเสียกรุงศรี เมื่อรู้แพ้พระเจ้าตาก

ก็เข้ารวมชาติ ยก ๒ ลูกสาว (ฉิม กับ ปราง - ถ้าจำไม่ผิด) ให้เจ้าตาก เอาเจ้าหนู่ไปอยู่กรุงธน ให้เจ้าพัฒน์ เป็นปลัดเมืองช่วยเจ้านราสุริยวงศ์ซึ่งเป็นหลานเจ้าตากดูแลเมืองนครจนเจ้านราฯ สิ้น ก็ยกเจ้าพัฒน์ขึ้น เจ้าพัฒน์นี้ช่วยราชการกรุงธนดี แล้วเมียซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของฉิมกับปรางตายลง เจ้าตากจึงยก "ปราง" กลับมาเป็นเมียเจ้าพัฒน์ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่า "มีเจ้าน้อยติดท้อง" มาแล้ว เจ้าพัฒน์จึงยกเป็น "เจ้าปรางแม่นางเมือง" สร้างวังให้อยู่ต่างหากจากวังตัว (ที่ทุกวันนี้เป็นวัดวังกับวัดท่าโพธิ์ - มีกำแพงเป็นรูปพัด) เรื่องนี้ เป็นเรื่องเล่าลืที่มีมูลมาก เพราะ ร.๕ ก็ทรงมีพระลิขิตไว้ว่าน่าจะจริง ส่วน "เจ้าน้อย" นั้น เมื่อหมดบุญเจ้าพัฒน์ ก็ขึ้นเป็นเจ้านคร จนถือเป็นแม่ทัพเรือและนายพาณิชย์นาวีใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีสายสกุลสัมพันธ์กับบรมราชจักรีวงศ์ โดยเฉพาะวังหน้าในรัชกาลที่ ๓ บวรมหาศักดิพลเสพย์อย่างชิดใกล้ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่อังกฤษมาบ่อนเซาะ ถึงกับส่งแนวหน้ามาชวนยกทัพเรือไปตีพม่าแล้วจะแบ่งดินแดนให้โดยไม่บอกในกรุงเทพนั้น เจ้าน้อยก็ได้สำแดงบารมีว่า เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ตอบเองไม่ได้ ต้องฟังจากกรุงเทพ ซึ่งทำให้ไทยเราเป็นเอกภาพสืบมาถึงทุกวันนี้ โอยยังมีเรื่องแนวนี้อีกเยอะครับ ๒) พ่อแม่ครูบาอาจาย์สำคัญของวัดนี้คือ พระครูกาชาด(ย่อง) ถือเป็นหนึ่งในบรมครูของเมืองนคร ควรติดตามค้นคว้า เพราะท่านเป็นหนึ่งในตำนานเมือง ที่กล่าวกันในหมู่คนแต่ก่อนว่าด้วยการส่งลูกหลานไปอยู่วัดเพื่อการศึกษาเล่าเรียนว่า "หากอยากเป็นนายให้ไปอยู่วัดท่าโพธิ์ อยากกินหนมโคให้ไปอยู่วัดวัง อยากเป็นช่างให้อยู่วัดจัน อยากเป็นคนจันหวันอยู่วัดไฟไหม้ ....." สุดท้าย ยายผ่องเคยบอกผมว่าจบด้วยวัด "แฉ็งแฮ" คือวัดแสงแรงที่ท่าศาลา ต้องค้นเพราะไม่รู้จดไว้ในไหน ๓) อาคารสถานเก่าแก่สำคัญของวัดมีอยู่ ๓ สิ่ง หนึ่งคือหอพระสูงประดิษฐานพระศรีธรรมาโศกราช สองหอไตรอินทสุวรรณ สามกุฏิทรงไทยอายุ ๑๐๐ ปี หอพระสูงนั้นถูกรื้อสร้างพระอุโบสถและห้องแถวอาคารพาณิชย์ เหลือทรากอยู่เล็กน้อยจนทำอะไรได้ยาก หอไตรฯ ถูกแปลงเป็นกุฏิที่พักสงฆ์มานานมาก ส่วนกุฏิทรงไทยหลังนี้นั้น เมื่อแรกผมกลับมาทำงานที่เมืองนครและเริ่ม "สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์" ตรงข้ามวัด พบว่าทรุดโทรมมาก ๆ ถามใคร ๆ และทางวัดก็บอกว่ายากจะทำอะไรได้ รอวันพังเพื่อรื้อทิ้งและสร้างอย่างอื่นทดแทน นักเลงของเก่าเข้ามาจับจองกันไว้แล้วว่าส่วนไหนใครจะเอา ทั้งบานประตู บานหน้าต่าง เสี้ยวกาง ฯลฯ ซึ่งผมทนเฉยอยู่ไม่ได้ จึงเวียนไปขอดูและเรียนรู้กรณีหอไตรวัดระฆัง กทม.แล้วเอามารณรงค์เพื่อการอนุรักษ์แบบเดินหน้าหาทุนมาให้กรมศิลปากรบูรณะ โดยทางกรมบอกว่างบไม่มี ต้องหามาให้แล้วจึงจะบูรณะ ก็ขอจากหลากหลายคน มีคุณพร้อม ท่านผู้หญิงพโยม ทายาทสายสกุล ณ นคร กับ น้ายุพาและแม่ เป็นนายทุนหลักคนสำคัญ ในขณะที่ตอนนั้นคนนครไม่น้อยหาว่าผมบ้า ทำอะไรไม่เข้าเรื่อง รวมทั้งคนที่จองชิ้นส่วนต่าง ๆ หาว่าผมมาขัดลาภเขา เอาเป็นว่าเมื่อได้งบมาพอให้กรมศิลป์บูรณะ ก็เกิดเรื่องอีกว่าเป็นโบราณสถาน กฏระเบียบท่านห้ามรื้อย้าย ต้องตั้งที่เดิม คืออยู่ในซอกหลังหอไตรฯ และห้องแถวที่เกินบรรยาย และหากบูรณะแล้วก็คงทรุดโทรมลงในซอกนั้นทันที พอดีว่าผมเป็นขาใหญ่ที่หาเงินมา และทางจังหวัดตั้งเป็นกรรมการตรวจการจ้าง ผมจึงยืนว่าให้ย้ายเถิด ๆ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีทั้งหลายบอกว่าย้ายไม่ได้ ๆ ๆ ขัดหลักการ ๆ ๆ จำได้ว่ามีผู้ใหญ่หลายคนวนเวียนแวะมาดูและให้กำลังใจผมว่า จะพยายามหาทางออกที่ดี อาทิ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง มรว.จักรรถ จิตรพงษ์ สุดท้ายท่านส่งข่าวมาบอกว่า สำเร็จแล้วครับคุณหมอ เพราะท่านท้วงติงในหลายวงประชุม สนับสนุนการย้ายออกมาตั้ง ณ จุดที่ตั้งปัจจุบันเพื่อประโยชน์อนาคต ซึ่งเป็นจุดเดียวที่น่าจะดีที่สุดในขณะนั้น แม้ในขณะนี้ ตอนนั้นยังคิดว่าน่าจะทำให้เกิดเป็นลานวัดเพื่อจัดกิจกรรมอันงาม ผมเคยนิมนต์ท่านพยอมมาแสดงธรรมจนค้นล้นลานล้นวัดออกไปถึงสี่แยกท่าวัง ๓) ๔) ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรบันทึกบอกเล่าค่อยเขียนต่อนะครับ มีทั้งทีเด็ดที่หลายคนไม่รู้ ในการบูรณะของกรมศิลป์ที่แปลกประหลาดแล้วผมไม่ยอม รวมทั้งที่ยังทำไม่เสร็จ เงินยังเหลือ แล้วก็กลายมาเป็นจุดขายของเมืองนครอยู่พักหนึ่ในนาม "กุฏิกลิ่นสะตอ" รวมทั้งที่ค้ำคอผมจนทุกวันนี้ วันนี้ขอไปทำงานอื่นก่อน แต่จะพยายามเขียนให้นายวันพระกับพวกเอาไปใช้ทันวันที่ ๑๐ นี้นะครับ

 

 
รูปที่1
 
รูปที่2
 
รูปที่3
 
รูปที่4
 
รูปที่5
 
รูปที่6
Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//