เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 01 December 2016
- Hits: 1428
Nakorn, to be Changed
“ไม่น่าเชื่อ ชื่อ ‘นครศรีธรรมราช’
น่าจะเป็นจังหวัดที่เจริญ
แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ...
กลับเป็นจังหวัดที่ด้อยที่สุด จนที่สุด”
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20161128_1)
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ขณะที่ผมเริ่มทำงานก่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสวันเฉลิมแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรอกอากาศทั่วประเทศในตอนท้ายเกือบสุดว่าอย่างนี้ที่ขึ้นต้นเป็นหัวเรื่อง ทำให้ผมตื้นตันอย่างยิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวห่วงใยมาถึงบ้านเกิดเมืองนอนอย่างจำเพาะเจาะจง พร้อมกับคิดเอาเองว่าพระองค์ท่านมีพระราชดำริอย่างไรในการที่ตรัสอย่างนั้น ยิ่งระลึกถึงปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ซึ่งถึงทุกวันนี้ที่สวรรคตแล้วและเป็นที่ประจักษ์แจ้งว่าทรงเป็น “ธรรมราชา” อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า การที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ไม่น่าเชื่อ” อาจจะเนื่องจากชื่อจังหวัดที่ระบุว่า “เป็นศรีสง่า” แห่ง “ธรรมราชา” นี่เอง แต่กลับ “ด้อยที่สุด จนที่สุด” ไม่สมชื่อซึ่งเนื่องถึงพระองค์ท่าน
ในวาระที่พวกเราชาวนครโดยเฉพาะคณะสงฆ์ ส่วนราชการจังหวัด ตลอดจนประชาชนคนนครทั้งหลายได้มีโอกาสร่วมถวายพระราชกุศลด้วยการปฏิบัติบูชากับคณะสงฆ์จาริกธุดงค์ร่วม ๕๐๐ รูป ที่มาจากทั่วประเทศเพื่อฝึกฝนปฏิบัติพร้อมกับการเผยแผ่พุทธธรรมถวายเป็นพระราชกุศลจากพระบรมธาตุเมืองนครสู่พระปฐมเจดีย์และทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวง ระยะทางกว่า ๘๐๐ กิโลเมตร เวลาประมาณ ๕๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ และในวงหารือที่ขอให้อัญเชิญภาพพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นเจ้าภาพการวาดเป็นพระราชอุทิศถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ไว้ที่ผนังอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อปีแรกแห่งการขึ้นครองราชย์ คือ พ.ศ.๒๔๘๙ มาพิมพ์แจกผู้ร่วมงานพร้อมกับคำขวัญประจำเมืองและคติเตือนใจที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะมาเป็นผู้นำกล่าวปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมธาตุและพระบรมสาทิสลักษณ์นั้น ผมเลือกอัญเชิญพระราชดำรัสนี้มาร่วมพิมพ์ไว้ด้วย โดยหวังว่าน่าจะเป็นการเสริมสร้างศรัทธาทั้งต่อองค์ธรรม รวมทั้งองค์พระบรมธาตุ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจน “นครศรีธรรมราช” อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนและมีชื่อเป็นมงคลยิ่งนี้ให้มาก ๆ ขึ้น
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ จังหวัดนครศรีธรรมราชของเรานี้เป็นจังหวัดที่เจริญสมชื่อ สมกับที่เป็นเมืองสำคัญแห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนาจนมั่นคงบนผืนแผ่นดินไทยและพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยให้ความสำคัญ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อ ๒๒ ปีที่แล้ว และดูเหมือนว่าในวันนี้ จะยังไม่แตกต่างจากนั้นเท่าไรนัก
รายงานฉบับนี้ ผมได้เขียนหลังจากร่วมใส่บาตรเช้าวันที่ ๒๘ พย.ที่ถือเป็นมงคลที่สุดครั้งหนึ่ง เนื่องจากหลังเที่ยงคืนซึ่งฝนตกลงมาห่าใหญ่นั้น ตลอดช่วงเช้าที่พระภิกษุผู้ปวารณาถือธุดงค์วัตร ๕๐๐ รูป ได้ลุกขึ้นมาทำวัตรแต่เช้ามืด แล้วเดินออกจาสถานปฏิบัติธรรม สวนพุทธธรรมวัดชายนา มาตามถนนราชดำเนิน ข้ามสะพานป่าเหล้าเข้าประตูชัยใต้ ถึงหน้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้วลอดซุ้มเข้าทางประตูเยาวราช ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างถวายแต่ครั้งยังเป็นพระยุพราช มาตั้งแถวรอที่หน้าพระวิหารหลวง แล้วพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเมตตามารับถือหน้าพระวิหารหลวง ก่อนที่จะเข้าสู่กำหนดการต่าง ๆ อย่างเป็นมหามงคลยิ่งตามภาพที่เห็น ด้วยสภาพอากาศที่ปลอดโปร่งโล่งสบาย กระทั่งท่านเจ้าคุณนำคณะสงฆ์ทั้งหมดนั้นให้พรเป็นภาษาบาลี ก็บังเกิดมีเมฆฝนน้อย ๆ ลอยมาเหนือฟ้าแล้วโปรยปรายน้ำมนต์ลงมาเป็นละอองน้อย ๆ จนทั่วทั้งเขตบริเวณวัดและเมืองนคร ก่อนที่จะขาดสายไปพร้อมกับบทมนต์แบบสอดประสานกันทันที
หวังว่าการครั้งนี้ที่พระผู้ถือธุดงค์เพื่อฝึกฝนพัฒนาตนจากทั่วประเทศถึง ๕๐๐ รูป เลือกมาเริ่มปฏิบัติบูชาเนสัชชิกังคธุดงค์ที่องค์พระบรมธาตุเมืองนคร นมัสการพระพุทธสิหิงค์ แล้วจาริกจากเมืองนครสู่องค์พระปฐมเจดีย์ และ ทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวง โดยแวะผ่านหลายสถาน ตั้งแต่วัดวนารามบ้านยวนแหลที่ตำบลโพธิ์เสด็จ พระพุทธสิหิงค์มิ่งมหาชัยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และธุดงคมณฑลริมลำธารน้ำตกพรหมโลก ก่อนที่จะผ่านเข้าเขตอุทยาแห่งชาติเขาหลวงและป่ากรุงชิงตามลำดับ จะเป็นอีกบุญวิถีที่จะร่วมกันฟื้นคืน “นครศรีธรรมราช” ให้ฟื้นคืนกลับมาเป็น “เมืองแห่งธรรมราชา” ที่น่าจะเป็นจังหวัดที่เจริญ สมนามและตามที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงมีพระราชปรารภถึงไว้ ซึ่งอยู่ที่พวกเราชาวนครทั้งหลายเป็นสำคัญครับ.
๒๘ พย.๕๙
ขอบคุณภาพประกอบ
จาก เพจท่านพระครูสิริฯ และ คุณนนทิวรรธน์ ครับ