เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 14 December 2016
- Hits: 1477
To Great Citizens of MuangNaKorn
แด่พลเมืองผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองนคร
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20161213_1)
หลังเสร็จงานปฏิบัติบูชาที่พระธาตุพนมเมื่อเช้าวันที่ ๑๑
ด้วยความซับซ้อนยุ่งยากมักมากอยากทำหลายอย่าง
ผมก็เลยตกเครื่องบินที่จะมุ่งตรงลงไชยา
แล้วตัดสินใจใช้เวลานั่งรถสองแถวไปเขาวง-นาคู กาฬสินธุ์
ได้เห็นอะไรอีกมากมาย ก่อนที่จะวกกลับนครพนมเมื่อวาน
แล้วตีตรงลง กทม.ต่อไปร่วมเดินกับคณะพระธุดงค์เข้าสวนโมกข์ จนเสร็จสารพัดกิจส่งท่านเดินต่อไปท่าชนะ ก็ตีรถกลับบ้านเพื่อมาร่วมบำเพ็ญกุศลศพของอีกพลเมืองผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองนคร
"พี่ถิต" ของพวกเรา เป็นนายดาบตำรวจเกษียณ บ้านอยู่หัวอิฐ แต่ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.ท้ายสำเภา อ.พระพรหม โดยเรารู้จักเพราะ "ป้ากุ้ง สช." ชวนให้มาร่วมเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดนคร ที่ผมถูก สสส.ชวนทำหลังลาออกจากวลัยลักษณ์เมื่อปี ๒๕๔๕ โน่น โดยมี "นายโรจน์" ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้พวกเรา "ลุง ๆ ป้า ๆ บ้า ๆ แห่งเมืองนคร"
"พี่ถิตย์กับป้าไพเราะ" มาร่วมวงกับพวกเราเสมอ ๆ จนเมื่อเราชวนทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ก็เอาโครงการของชมรมผู้สูงอายุฯ ที่มักทำเสนอส่วนราชการมาเสนอว่าจะขอทุนซื้อจักรมาส่งเสริมผู้สูงอายุเย็บนี่นั่นนู่นกัน ครั้นพวกเราถามว่า "แล้วสร้างสุขภาวะอย่างไร ?" "ก้าได้มาพบกัน คุยกัน เย็บนั่น ๆ กันไป ได้ออกกำลังกายได้บายใจ" "แล้วตรงเรื่องและคุ้มค่าไหมครับ ?" "ม่าย แต่ว่าเมื่อใคร ๆ ก็ทำกันพันนี้ ไซที่นี้อิขอไม่ได้ ?"
ถึงจุดนี้เราก็จนใจพร้อมกับเห็นถึงความตั้งใจ ก็เลยขอ "ป้าหยวดกับป้ากุ้ง" ลงไปหาและชวนคุยกับลุง ๆ ป้า ๆ ที่ท้ายสำเภาที สองป้ากลับมาบอกพวกเรา "หรอยจัง ฮาย เขาเอาจริงน่าเห็นดูนิ ข้องใจไซพวกเราเรื่องมาก และอยากเอาชนะให้ได้ คุยกันไปคุยกันมา ป้า...ลุง...ก้าบอกว่า พวกเรามีคนรำโนราเป็น งั้นพัฒนาท่าโนราออกกำลังกายประยุกต์อิเข้าประเด็ยม่าย ?" ได้ยินเท่านั้นพวกเราทั้งทีมบอกว่า "คันนั้น น่าหรอย เอาเลยลุง"
สุดท้ายทีมนี้กลายเป็นต้นแบบโนราออกกำลังกายประยุกต์แห่งท้ายสำเภาที่ลือลั่นจนเป็นหน้าตาของเมืองนคร โดยในท้ายสำเภามีการฝึกสอนกันจนคนเฒ่าคนแก่กลับมามีชีวิตชีวาถึงขนาดที่เลิกเดินก็กลับมาเดินกันได้ ไปตลาดกันอีก มีการผลิตซิดีออกแจกจ่าย ขยายไปโร๊ดโชว์และสอนเกือบครึ่งภาคใต้ ขึ้นไปลงโรงที่อิมแพ็คเมืองทองธานี มีเครือข่ายกว้างขวางเป็นร้อย ๆ กลุ่ม ถึงขนาดให้พวกเราช่วยนัดรวมพลคนโนราออกกำลังกายกันที่สนามหน้าเมืองนคร มากันเพียง ๖,๐๐๐ (หกพัน) คน รำกันท่ามกลางฝนที่เทลงมาชุ่มฉ่ำและเป็นที่จดจำ ตะกี้ก็เล่ากันอีกที่หน้าศพ "ลุงถิต" โดยมีพี่ไพเราะกับน้า...ที่เป็นคนสอนโนราและรำสวยสุด วันนี้อายุ ๘๕ แล้ว พร้อมกับ ผู้ใหญ่นอบ โปรโมเตอร์คนสำคัญร่วมด้วย
สบายได้นะครับ "ลุงถิต" ลูก ๆ และ หลาน ๆ ของลูงทุกคนน่ารักดังเดิมครับ.
อ้อ พอดีศพลุงตั้งอยู่ที่ศาลา "น้าฉาย" ซึ่งเป็นอีกพลเมืองผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองนครแห่งท่องทุ่งท่าซัก
"น้าฉาย" คนนี้เป็นชาวนา เท่าที่แม่ผมเล่า บอกว่าแกเก็บผักบุ้งทุ่งขายจนสามารถส่งลูกเรียนจบเป็น ดร.ไม่รู้กี่คน ลูก ๆ จะมารับไปอยู่ด้วยแต่แกไม่ชอบ ขออยู่นาอย่างนี้ ที่สำคัญสำหรับพวกผมก็คือ หากมีใครจะขายนา น้าฉายคนนี้คือคนมาบอกแม่บอกพ่อของพวกเราให้ซื้อไว้ไงครับ "น้าฉาย" ตายนานแล้ว ลูก ๆ มาสร้างศาลานี้ไว้เป็นอนุสรณ์ ผมมาทีไรนึกถึงน้าทุกทีครับ.
วันนี้ ๒ ท่านนี้ก่อนนะครับ สำหรับผู้ใหญ่นอบนั้นวันหน้าจะเล่าเรื่อง "สวดมาลัยที่ท้ายสำเภา" ที่ผมได้ร่วมกับน้านอบเมื่อ ๓๕ ปีก่อนโน้นครับ.
๑๓ ธค.๕๙