เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 08 April 2023
- Hits: 364
อะไรคือหลักสำคัญในการซ่อมตึกยาวบวรนครครั้งนี้ ...
WhatIsTheMainConcernOnThisBovornNakornLongShophouseRenovation
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20230406_6)
หลังคณะถ่ายทำให้ผมพาเดินชมอาคาร #ตึกยาวบวรนคร ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร
จากอดีตถึงอนาคต
เขาบอกว่าอยากได้อีกบรรยากาศที่บ้านและคลังหนังสือ
ก็เลยพาไปถ่ายทำกันต่อที่บ้านและ The Library At Nakorn
มีสี่ห้าคำถาม ที่ผมตอบเสียยาวยืด
แต่ถ้าให้ตอบสั้น ๆ อาจรวมได้ประมาณนี้
๑) #เมืองนครนี้มีความสำคัญ ไม่น้อยบนคาบสมุทรไทยมาเลย์นี้มาแต่ไหน ๆ
ด้วยตั้งอยู่บนชัยภูมิพิเศษ กึ่งกลางคาบสมุทรพอดี
อันที่จริงแล้วสุวรรณภูมินั้นก็อยู่ตรงนี้
จนมาเป็นทวารวดี ศรีวิชัย ตามพรลิงค์ สิริธรรมนคร และเมืองนครในวันนี้
ที่นี่มีหลักฐานการผ่านไปมาของผู้คนจากโลกตะวันตกตะวันออก
ไกลไปถึงเมดิเตอเรเนียน เปอร์เซีย อินเดียจนถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ
มีชื่อต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนครในหลากหลายภาษาวัฒนธรรมมากมายก่ายกอง
๒) อาคารสถานบ้านเรือนของผู้คนแต่ก่อนเก่าบนดินแดนเมืองนครที่หลงเหลือมาถึงทุกวันนี้นั้นน้อยมาก ๆ
เท่าที่มีหลักฐานยืนยัน #ตึกยาวบวรนคร แห่งนี้เป็นหนึ่งในอาคารบ้านช่องที่เก่าที่สุดที่เหลืออยู่
ที่สำคัญเป็นอาคารที่สะท้อนถึงการผสมกลมกลืนกันของผู้คนจากทุกทิศทาง
ตามที่ทางสถาปัตยกรรมเรียกว่าผสมผสาน หรือ Ecletic
ทั้งจากโลกตะวันตกพาดไปจนถึงโลกตะวันออก
หรือบางฝ่ายเรียกว่า Chino European Style ไงครับ
อาคารนี้จึงมีความสำคัญมากที่ยังเหลืออยู่ หากมองในแง่นี้
แถมมีประวัติความเป็นมาพอสมควร กับยังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น
กับยังอยู่ในความรับรู้และทรงจำของผู้คนร่วมสมัยไม่น้อย
ที่สำคัญคือช่วง ๒๙ ปี ที่เคยเป็นสวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์
ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๕๗
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเป็นไปได้จึงควรคิดที่จะถนอมรักษาไว้ในแผ่นดินนี้ไหม ?
๓) หากเป็นไปได้ พวกเราจึงตั้งใจที่จะ #รักษาไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะพอทำได้
หลังจากตึกนี้ผ่านมาแล้ว ๒ ช่วงชีวิตสำคัญ
เมื่อ ๑๒๐ ปีก่อนที่สร้างโดยจีนสิงคโปร์เพื่อทำการค้าแร่ในแบบนิโอคลาสสิก
แล้วเปลี่ยนเป็นสถานพยาบาลของซินแสจากเซี่ยงไฮ้
ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านการเป็นโรงเรียนจีนสยาม นครสมาคม โรงเตี๊ยม
โรงฝิ่น
รวมทั้งโรงไฟฟ้าและโรงน้ำแข็งแห่งแรกของเมืองนคร ฯลฯ
จนเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว มีการปรับหน้าถังเป็นแบบโมเดอร์น
พร้อมกับการใช้เป็นโรงฟอร์นิเจอร์ กับมีโรงกลึงอยู่ด้านหลัง
แล้วเป็นสวนสร้างสรรค์ และสวนหนังสือ
พร้อมกับฐานปฏิบัติการทางสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกมากมาย
จากนี้ที่ต่อจากปีที่ ๑๒๐ ไปอีก ๖๐ ปี
พวกเราจึงคิดว่าน่าจะทำการบูรณะซ่อมรักษา
พร้อมกับปรับเพื่อการใช้สอยให้เหมาะสมต่อสมัย
โดยไม่ถอยไปที่แบบนีโอคลาสสิกเดิม หรือหยุดอยู่กันโมเดอร์นเมื่อ ๖๐ ปีก่อน
เราเลือกที่จะปรับให้ไปสู่อนาคต บนอดีตที่ยาวนานและปัจจุบันที่งดงาม
๔) ซึ่งเราก็ได้ทีมร่วมงาน พร้อมผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด
เท่าที่เราจะหาหรือพัฒนาได้ในวันนี้ครับ
โอ๊ยยาว ....
๖ เมษา ๖๖ ๒๑๓๗ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร