เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 31 March 2016
- Hits: 1580
ได้เวลาจัดระบบงานอาสาของคนไทย ให้เป็นระบบอย่างยั่งยืนแล้ว ... หรือยัง ? มาช่วยกันนะครับ ก่อนที่จะสายเกินไปสำหรับคนรุ่นเรา และ ไม่ว่าจะรุ่นไหน ๆ ก็ตาม ตามที่เมื่อวานนี้ผมถูกตามไปร่วมงานที่เรียกว่า "ปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม" ซึ่งมีคนมาปาฐกถากันตั้ง ๖ คน และถูกวางเป็นคนสุดท้ายแบบที่ผมแทบไม่ต้องพูดอะไรก็พอแล้ว เพราะทั้ง ๕ คนแรกล้วนสุดยอดทั้งนั้น แถมหมดเวลาผมแล้วด้วย แต่ไหน ๆ ก็ถูกมอบหมายและได้เตรียมอะไรไว้บ้าง รวมทั้งหวังไว้ว่าน่าจะได้เวลาแล้ว ยิ่งได้ฟังทั้ง ๕ คน ยิ่งมั่นใจว่าหากช้ากว่านี้จะเลยเวลา จึงยืนยันการนำเสนอ ๒๐ นาทีพอดีตามที่ได้รับมอบหมาย แม้จะจบตอนเกือบเที่ยงครึ่งก็ตาม งานนี้จัดเพื่อสืบสานงานอาสาเพื่อสังคมไทยที่คุณไพบูลย์ได้เริ่มตั้งเป็นมูลนิธิหัวใจอาสาไว้ก่อนเสียชีวิต มีคุณหญิงชฎากะหมู่กัลยาณมิตรช่วยกันสานต่อ ที่หน้างานมีนิทรรศการชวนให้คิดถึงคุณไพบูลย์ที่ผมร่วมงานด้วยในหลายวาระ ทั้งการร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ที่ ดร.ป๋วยตั้งไว้ เชิญไปเป็น กก.สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แล้วมาเป็น กก.บริหารแผนพัฒนาชุมชนเป็นสุขให้ สสส. โดยเมื่อคุณไพบูลย์เป็นมะเร็ง ผมก็ได้คุยกันหลายครั้งหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องชีวิตและการเตรียมตัวตาย แม้เรื่องจิตอาสานี้ก็คุยกันหลายรอบโดยไม่เคยได้เข้าไปร่วมขับเคลื่อนด้วย เพราะเห็นมีคนทำด้วยมากเหลือเกินแล้ว เนื่องจากผมชอบปลีกตัวไปทำในเรื่องและมุมที่ใครไม่ค่อยทำ องค์ปาฐกทั้ง ๕ ก่อนหน้าผมนั้น ทั้งน้องน้ำนิ่งจากสงขลาที่ทำเรื่องหาดสมิหลา กับน้องพิ้งค์ ครูอาสาจากจุฬาที่เข้าร่วม Teach for Thailand อยู่ที่คลองเตย นับเป็นคนรุ่นใหม่ใจอาสาที่กล้าและก้าวหน้ากว่าผมเมื่อเป็นนักเรียนนักศึกษาอย่างที่ทำให้อิ่มและอุ่นใจว่าเมืองไทยไม่ไร้ใจอาสา ยิ่ง ๒ มือวางทางธุรกิจ คุณอภิชาติ การุณกรสกุล กับ คุณสมจินต์ ศรไพศาล พัฒนาเป็นเชิงระบบของภาคธุรกิจกับการจ้างงานคนพิการและวงการงานการเงินด้วยแล้ว ผมเห็นเลยว่าเวลาที่ผมเคยโหยหามาถึงแล้ว แถมด้วยงานบ้านกาญจนาภิเษกเพื่อเยาวชนที่ก้าวพลาดของป้ามลอีกคน ทั้ง ๓ กรณีศึกษาเชิงระบบใน ๓ มิติงานอาสานี้ เหลือพอที่จะพัฒนาเชิงระบบอย่างจริงจังนำร่องให้ขยายวงอย่างยั่งยืน (กรุณาหาดูรายละเอียดได้ในสื่อของมูลนิธิหัวใจอาสา) สำหรับของผมเองนั้น ผมมีประเด็นหลักที่นำเสนอและเห็นว่า ณ วันเวลานี้ได้เวลาแล้ว หากไม่เริ่มก็จะเลยเวลาของเรา อย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุหลายประการซึ่งตอนเลิกงานอย่างน้อยมีหลายท่านเข้ามาบอกว่า อย่างนี้แหละที่หาคนทำ ไม่รู้ว่าหมอคิดวิเคราะห์ไว้ขนาดนี้ อาทิ พี่พระนายกับคุณนุช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและภริยาที่กำลังเป็นหลักที่สภากาชาดไทย อ.หมออำนาจ บราลี แห่งกองบรรเทาทุกข์ สภากาชาดไทย รวมทั้งคุณหญิงชฎา ฯลฯ ผมเห็นตรงกับทุกท่านว่าคนไทยไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ปัญหาคือพื้นที่ให้คนไม่เห็นแก่ตัวนั้นน้อยนัก ทั้งระบบมีแต่ส่งเสริมการเห็นแก่ตัว ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ต่อมอาสาของแต่ละคนมีแต่หดลีบแล้วก็แฟบลงตามลำดับ ต่อมเห็นแก่ตัวมีแต่พองขยายเบ่งบวมเป่งไปหมด แม้น้องน้ำนิ่งหรือพิ้งค์ก็เถิด อีกไม่นานก็จะต้องเจอทั้งในตัวเองและในแทบทุกที่และจังหวะก้าว อย่างที่ผมก็เจอมาแล้วเมื่อถูกตราหน้าว่า "อุดมการณ์นั้นกินไม่ได้ดอก" พอจบจากนักศึกษาก็มุ่งหน้าหาเงินหาทองเพื่อตัวเองทั้งนั้น ดังที่ทุกวันนี้ เราก็พบว่าแทบทุกคนแม้จะต้องปล้ำตัวเป็นเกลียว แต่ลึก ๆ ก็อดไว้ไม่อยู่ ดังที่เวลาเกิดมหาภัยพิบัติ ทั่วทั้งโลกบอกเลยว่าประเทศไทยเรานี้ไม่ธรรมดา อาสาออกมาช่วยกันแบบไม่เคยพบเคยเห็น เช่นสึนามิ น้ำท่วมประเทศ หรือแม้เรื่องเล็กเรื่องน้อยที่กระเทือนใจ ผมยกภาพเชิงระบบที่เคยสรุปวิเคราะห์เมื่อเริ่มลงมือช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ โดยมีมือธุรกิจจากภัทรธนกิจ(ขณะนั้น)ไปช่วยเพื่อน ๆ NGO ที่ภาคใต้ที่รวมตัวกันตั้ง Save Andaman Network-SAN ที่ผมถูกขอให้เป็นหัวหอกเพื่อหาเงิน เราพบว่าคนอยากช่วยนั้นมาก ตอนนั้นมากจนน่าจะเกินด้วยซ้ำ แต่ว่าไม่มีการประสานกันเลย ผู้ประสบภัยก็เยอะแต่แยกแยะไม่ถูก เราเห็นว่าหากมีระบบที่ดี เกิดสักศูนย์มาประสานจัดการแล้วแบ่งสรรความช่วยเหลือลงไปสู่ผู้ต้องการให้ตรงประเด็น กลุ่ม ปัญหา พื้นที่ ก็ไม่น่าจะยาก แต่ก็ยากเพราะระบบที่ว่านั้น มี "ราชการ" เป็นเจ้า แล้วก็มีนายใหญ่อีกด้วย จึงโกลาหลอลหม่านที่สุด ผมเคยคุยกับรองนายกฯ (ในขณะนั้น) ท่านหนึ่ง ตอบว่ายอมรับว่าใช่แต่ทำไม่ได้ "ไม่รู้ว่านายใหญ่ว่าอย่างไร !!! พาเพื่อนที่เป็นรัฐมนตรีท่านหนึ่งลงไปเจาะถึงพื้นที่เพื่อคลี่คลายบางปัญหา ผลตอบว่า ไม่รู้ท่านนายกฯ ว่าไง ? พวกเราจึงเห็นว่าเริ่มที่ช่องว่างที่เป็นปัญหาจริง ใครไม่ทำ แล้วรวมกันคิดขับเคลื่อนให้เป็นระบบอย่างครอบคลุม คือทำแต่เรื่องอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชนช่วยชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งที่ตอนนั้นใคร ๆ ก็ไม่คิดถึง เราเอาไปเสนอ SCG จากนั้นก็ขยายวงออกไปเรื่อย ๆ สู่ SCB สมาคมตลาดหลักทรัพย์และเงินทุนไทย ฯลฯ แม้พี่ชายของอาจารย์อัมมาร์ สยามวาลา ยังโทรมาหา ลงไปเยี่ยมแล้วมอบเงินให้เอาไปช่วยชาวประมงอย่างจริงจัง ดังภาพที่แสดงให้เห็นว่า คนเล็กคนน้อย (จุดแดง) ที่มีใจนั้นว่องไวทำอะไรได้เยอะอย่างลงลึกถึงราก แต่กำลังน้อย ในขณะที่ "รัฐ" (ก้อนเหลือง) มีพลังมากแต่เชื่องช้ายากอย่างยิ่ง ในขณะที่คนอื่น ๆ ที่มีกำลัง เช่นภาคธุรกิจ (วงเขียว) มีใจ มีกำลัง แต่ไม่มีเวลา อยากช่วย สามารถแบ่งปันได้ แต่ไม่รู้จะไปทางไหน ให้รัฐก็เอาไปเก็บไปกอง พลั้งพลาดเกิดเสียหาย จะเอาไปให้คนเล็กคนน้อยก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่ค่อยวางใจ แต่ถ้าหากจัดการพัฒนาให้เป็นระบบ เชื่อมประสานกันทั่งสามส่วน แดง - เขียว - เหลือง - คนเล็กคนน้อย - เอกชน - รัฐ จะเกิดพลังขนาดไหน ? หรือแม้ไม่ครบส่วนก็ยังดีกว่า ดังที่เราทำกับได้ ครอบคลุมการฟื้นคืนชีวิตชุมชนชาวประมงชายฝั่งมากกว่า ๑ ใน ๓ ของที่เสียหาย แบบที่กรมประมงต้องขอรายงานจากเราไปทุกสัปดาห์ เพราะว่าของทางราชการหาตัวเลขไปตอบรัฐมนตรีไม่ค่อยได้ ผมพบว่าใจอาสาในประเทศไทยยังเหลือแหล่และหลายระดับและรูปแบบอยู่ล้นหลาม ปัญหาคือไร้ระบบแล้วยังผสมโรงด้วยความไม่ไว้วางใจอีกสารพัด รวมทั้งมีที่แอบเอาประโยชน์จนทำให้ใจอาสาเสียหายไปก็ไม่น้อย ผมมีข้อเสนอที่เมื่อวานไม่มีเวลาเสนออย่างเป็นกิจลักษณะ คือ การก่อตั้งสถาบัน องค์กร หรือหน่วยอะไรสักอย่างเพื่อประสานจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบกับบางเรื่อง บางประเด็น ที่พอจะเริ่มได้ อาจเริ่มกับน้องน้ำนิ่งหรือพิ้งค์ ให้เขาเติบโตเป็นคนที่เต็มล้นเปี่ยมด้วยใจอาสาตลอดไปโดยไม่ต้องกัดก้อนเกลือกิน หรือกับที่กลุ่มบริษัทกำลังทำกับคนพิการให้เขากลับมามีชีวิตอิสระสมศักดิ์ศรี หรือช่วยให้คนไทยทั้งหลายมี Literacy ทางการเงินการคลังการลงทุนเพื่อชีวิตที่มั่นคง หรือ ช่วยกันปกป้องแก้ไขเยาวชนไทยที่กำลังถูกผลักออกจากระบบการศึกษาไปพลาดพลั้งจนแทบหมดสิ้นซึ่งอนาคตให้กลับมาได้อีกครั้ง โดยผมเองนั้นก็กำลังทำอยู่ที่ขบวนธรรมกับสวนโมกข์กรุงเทพ ที่ท้าทายไม่น้อย ใคร ๆ ก็พากันบอกว่าน่าจะมีเงินทำบุญมาก ไม่จริงหรอกครับ ปล้ำตัวเป็นเกลียวเหมือนกันครับ กว่าจะได้มาพอดูแลทั้งคนที่ช่วยทำงานและงานที่ทำทั้งหลายให้ได้ดีเท่าที่จะดีได้ เหนื่อยกันสายตัวแทบขาดเหมือนกันครับ มาช่วยกันนะครับ ก่อนที่จะสายเกินไปสำหรับคนรุ่นเรา และ ไม่ว่าจะรุ่นไหน ๆ ก็ตาม