เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 25 January 2017
- Hits: 1232
นี้...ที่ฝนตก ๆ หยุด ๆ ในเมืองนคร
ผมเพิ่งส่งบทความนี้ให้รักบ้านเกิด
Flooded NaKorn ???
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170123_1)
ตั้งแต่ต้นปีที่น้ำท่าท่วมท้นเมืองนคร
สองสามวันที่เมืองนคร มีแต่ข้อสนทนาว่าจะเอาอย่างไรกันต่อ เรื่องน้ำที่ทำ่าว่าจะท่วมกันเรื่อย ๆ ไม่รู้เลิก อย่างเช่นรอบนี้พยากรณ์ว่าจะถึงวันที่ ๒๕ ไปหนักที่ใต้ตอนล่าง แต่เมืองนครก็หนาอยู่ เห็นร้านค้างานตรุษจีนที่มาตั้งตรงหน้าสถานีรถไฟถึงวัดศรีทวีแล้วน่าเห็นใจ ว่าจะอย่างไรกันหนอ ?
พอดีเพิ่งทบทวนความคิดตัวเองในเรื่องนี้ให้ นสพ.รักบ้านเกิด ก็เลยขอฝากมาเพื่อช่วยกันหาทางออกกันต่อ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และหมักมานาน การหาทางออกย่อมกระทบไม่น้อย แถมทัศนะน่าจะไม่มีทางเหมือนกันได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องทำอะไรกันสักอย่างสองอย่าง ฝากพิจารณากันดูแล้วชี้แนะกันด้วยนะครับ บ้านและเมืองของพวกเราทั้งนั้นนะครับ
แล้วน้ำก็ท่วมใหญ่เมืองนคร...อีกรอบ
ทำอย่างไรจึงจะพ้นวังวนนี้เสียที
สิ้นปี ๕๙ ต้นปี ๖๐ นี้มีน้ำหลากท่วมเมืองนคร ๒ รอบ รอบแรกเมื่อต้นเดือนธันวาคมหนักพอสมควร ครั้นหลังปีใหม่เพียง ๕ วันนั้นหนักมากหลากท่วมเกือบทั่วทั้งเมืองนครตลอดจนถึงทั้งภาคใต้ โดยในรอบแรกนั้นทางรัฐบาลถึงกับประกาศทุ่มจะทำสารพัดด้วยโครงการตามแนวพระราชดำริฯ ที่ค้างเติ่งมานานมาก ได้ข่าวว่าจะใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้าน มาครั้งหลังนี้ยังไม่ได้ยินข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกไหม แต่ได้ยินมีคนเปรียบเปรยว่าน้ำท่วมนครหลายรอบแล้วแต่ยังไม่มีปฏิบัติการอะไรให้เห็นผล สู้ที่ชุมพรกับหาดใหญ่ไม่ได้ มีโครงการพระราชดำริแล้วทำกันทันทีจนน้ำที่เคยท่วมถี่ก็เบาบางลงไปได้
อันที่จริงเมืองนครเรานี้มีโครงการพระราชดำริไม่น้อย เช่นคลองไม้เสียบนั้นก็ใช่ ที่ท่าดี-คีรีวงก็มี แต่ที่ใหญ่มากจนคนรู้จักกันทั่วก็คือโครงการประตูระบายน้ำปากพนังและระบบชลประทานที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งคลองส่งน้ำแพรกเมืองด้วย ส่วนที่จำเพาะเจาะจงเรื่องป้องกันอุทกภัยนั้น ถ้าจำไม่ผิด พระเจ้าอยู่หัวทรงให้แนวพระราชดำริเป็นชุดใหญ่ตั้งแต่เมื่อคราวอุทกธรณีภัยใหญ่ ปี ๒๕๓๑ ที่เขาถล่มที่คีรีวง – กะทูน – พิปูน – ฉวาง และดูเหมือนว่าจะรวมถึงการจัดการน้ำทั้งระบบ กล่าวคือแก้ทั้งน้ำแล้งและป้องกันน้ำท่วมไปด้วยกัน ซึ่งบางอย่างก็ได้ดำเนินไปบ้างแล้ว แต่ดูเหมือน(อีกเหมือนกัน)ว่าจะไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ด้วยมีอุปสรรคข้อปัญหามาก จนกระทั่งมีการปัดฝุ่นนำเสนอและดูเหมือนว่าจะสั่งการกันแบบด่วนจี๋จนผมเองก็อดห่วงไม่ได้ ด้วยหลายเหตุ โดยเฉพาะน้ำที่ท่วมรอบนี้ มีเหตุและปัจจัยที่เปลี่ยนไปจากเดิมหลายประการ ทั้งเรื่องภูมิอากาศของโลกและภูมิภาค ทั้งภูมิสัณฐานตลอดจนภูมิศาสตร์และการพัฒนาสารพัดของพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะบนพื้นที่ป่าเขาสูงชัน ที่ราบไหล่เขา จนถึงที่ลุ่มลำน้ำ ลงมาถึงที่ราบลุ่ม ทุ่งนา สันดอนทราย บึง จนถึงชายทะเลและชายฝั่ง เฉพาะฝนฟ้าเรื่องเดียวก็ดูเหมือนว่าจะบอกไม่ถูกว่าคือพายุโซนร้อนอย่างแฮเรียตเมื่อปี ๒๕๐๕ หรือฟอเรสต์เมื่อปี ๒๕๓๖ หรือดีเปรสชั่นก็ไม่ใช่ จะเป็นร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงอย่างเมื่อปี ๒๕๓๑ ก็ไม่ใช่ เท่าที่ผมถามหลายท่านก็บอกกันคนละอย่างสองอย่างที่ “คาดผิดคิดไม่ออกบอกได้ยาก” แต่ที่แน่ ๆ คือฝนตกหนักมากอย่างต่อเนื่องจนปริมาณน้ำที่ลงมาในแต่ละพื้นที่รับน้ำนั้นล้นแล้วก็หลากท่วมถล่มทั้งป่า เขา เรือกสวน ไร่นา ถนน สะพานและคอ ตลอดจนบ้านช่องและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย ที่พวกเราถมสร้างกันไว้อย่างไร้ระบบจนน้ำที่พยายามไหลลงสู่ที่ต่ำก็ล้นทะลักไปตามแต่ละช่องเท่าที่มีเหลือ หรือไม่ก็ล้นท้นและขังรอเวลาจนกว่าจะหมด จนผมก็ไม่ใคร่แน่ใจว่านานาโครงการที่นำเสนออย่างด่วนจี๋และได้รับการจี้เร่งทันทีนี้จะตรงต่อเหตุและสภาพปัญหาอย่างถูกถ้วนแท้จริง
ก่อนหน้านี้ เมื่อหน้าแล้งที่เพิ่งผ่านมา เมืองนครก็เพิ่งผ่านอีกวิกฤตที่เป็นอีกที่สุดอย่างเหลือเชื่อ คือแล้งไปทั้งจังหวัดจนขาดน้ำอย่างทั่วหน้า แล้วเทศบาลฯ ก็ทำท่าว่าเร่งรัดจะทำโครงการพิเศษเป็นพันล้านแบบผูกพันกันนานมาก แต่เกิดการทัดทานจนเทศบาลหยุดพักไว้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าถึงขณะนี้ไปกันถึงไหนแล้ว
ทั้ง ๒ สภาพปัญหาของเมืองนคร ณ ขณะนี้ คือมีครบทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งในแต่ละรอบปี สร้างผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ที่ดีซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์และสังคมตลอดจนชุมชนและเมือง โดยเฉพาะ ๒ ปัจจัยหลักของชีวิตที่ถูกกระทบตรง ๆ คือ อาหารและที่อยู่อาศัย ตลอดจนการประกอบอาชีพเพื่อนำมาซึ่งปัจจัยนี้ และแน่นอนว่าต้องการการทุ่มเทอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลกลางเสียที แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำให้ถูกถ้วนสมบูรณ์แบบและบูรณาการ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าที่จะสั่งปุ๊บได้ปั๊บ ดังที่เมื่อน้ำท่วมตอนต้นเดือนธันวาคมแล้วรัฐบาลสั่งการ กลางเดือนก็อนุมัติทันทีได้เป็นอภิมหาโครงการหลายหมื่นล้านบาท โดยยังไม่ทันได้ทำอะไรหลังสั่งการ น้ำก็ท่วมระลอกใหม่มากและหนักหนากว่าเดิมเข้าไปอีก ฟังมาว่าจะมีถึง ๘ เขื่อน กับ ๑ คลองส่งน้ำที่มีหลายคนเรียกว่าน่าจะเป็นแม่น้ำ ซึ่งผมก็ไม่รู้เช่นกันว่าเป็นอย่างไรและจะอย่างไร ได้แต่งง ๆ และอดห่วงใยไม่ได้ ว่าจะลงเอยอย่างไร
เมื่อครั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำที่ปากพนัง ผมได้รับการร้องขอจากกรมชลประทานและกองทัพภาคที่ ๔ ให้ช่วยเป็นพิธีกรดำเนินรายการประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนที่เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นประตูระบายน้ำ และผลออกมาว่าให้ดำเนินการสร้างได้นั้น ผมจำได้ว่าได้ร้องขอกับผู้เกี่ยวข้องว่า งานนี้ในเมื่ออ้างเอาพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักชัย ขอให้ทำกันอย่างตรงไปตรงมาและปลอดการทุจริตได้ไหม ? และที่จำได้ไม่ลืมคือเรื่องบันไดปลาโจนที่มีคนถามแล้วมีการตอบว่าได้ทำการศึกษาและออกแบบไว้พร้อมแล้วอย่างนั้นอย่างนี้ โดยหลังเวทีผมได้ถามซ้ำว่าแล้วที่อธิบายนั้นจะเป็นอย่างนั้นหรือ ที่ปากพนัง ? คำตอบคือ ก็ไม่รู้ ลอกเอามาจากงานอื่น ๆ โดยไม่มีประสบการณ์ตรง และตอนนี้ที่สร้างเสร็จมาจนถึงทุกวันนี้เป็นอย่างไรผมก็ไม่รู้ได้
อีกครั้งหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิด ในชุดโครงการของกรมชลประทานที่ประมวลว่าเป็นโครงการพระราชดำริเรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วมและสำรองน้ำใช้ของเมืองนครนั้น ดูเหมือนจะมีเขื่อนที่กรุงชิงอยู่ด้วย โดยมีการสำรวจเตรียมการเวนคืนที่ดินด้วยแล้ว และคนกรุงชิงมีความเห็นเป็น ๒ ทาง เมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ถูกขอให้เข้าไปจัดเวทีสาธารณะ ดูเหมือนว่าจะนำโดยท่านอาจารย์เลิศชายเป็นผู้ดูแล และส่งคนมาขอให้ผมเข้าไปเป็นผู้ดำเนินรายการซึ่งก่อนเปิดเวทีทุกคนบอกว่าเอาเลยคุณหมอ จนเมื่อผลที่ออกมาว่าให้พักโครงการไว้ก่อนหรือว่ายุติเลยก็จำไม่ได้แล้วนั้น ทราบแต่ว่าทุกคนกล่าวหาว่าผมอยู่ข้างฝ่ายที่เขาขัดใจ ทางการว่าผมเอนเอียงให้ชาวบ้าน ชาวบ้านที่ไม่ต้องการเขื่อนว่าผมเอนเอียงไปทางการ ชาวบ้านที่ต้องการเขื่อนว่าผมอยู่ฝ่ายคัดค้าน โดย อ.เลิศชายกับอีกหลายคนบอกว่า หมอดำเนินการได้ดี ส่งและทวงคำถามตามที่แต่ละฝ่ายไถ่ถาม ปัญหาอยู่ที่การตอบของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ผม ที่สำคัญคือเมื่อทุกฝ่ายต่างรู้สึกว่าผมไม่เข้าข้างเขา ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางแน่แล้ว
ที่ยก ๒ กรณีนี้ขึ้นมา ณ ขณะนี้ เพื่อชี้ว่า เรื่องนี้ยังมีอีกหลายนัยยะและขั้นตอน ที่สำคัญคือได้ทำการศึกษาทบทวนอย่างถูกถ้วนครบถ้วนเป็นปัจจุบันเพียงพอต่ออนาคตข้างหน้าเพียงไหน เพราะสิ่งนี้ที่จะเป็นเครื่องทำความเข้าใจจนพร้อมอกพร้อมใจกันทั่วทั้งเมืองนครว่าอะไรที่ต้องทำจะได้ช่วยกันทำ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ยากลำบากกับทั้งเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างซ้ำซากมาหลายสิบปีนี้จะได้พ้นจากวังวนนี้เสียที ก่อนที่จะหนักหนากว่านี้ หรือไม่ก็ได้ขัดแย้งวุ่นวายแถมน้ำท่วมน้ำแล้งอีกต่อหนึ่ง ซึ่งหากถึงขั้นนั้น ก็จะเป็นที่น่าอดสูอย่างยิ่งสำหรับเมืองนครอีกคำรบ.
ขอเรียกร้องและเชิญชวนให้มาร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจังและจริงใจ วางอคติและประโยชน์ส่วนตัวทั้งหลายไว้แล้วเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งให้ได้ทางออกที่ดีร่วมกัน จะเป็นไปได้ไหมครับ ?
๑๗ มค.๖๐