logo_new.jpg

อีกหนังสือว่าด้วยพระธาตุที่คนนครควรอ่าน
Another Book on PhraThartNaKorn
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170222_2)

ในวันที่ ๓ มีนาคมนี้ สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ตรึงใจ บูรณะสมภพ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรผู้เป็นสถาปนิกคนสำคัญของชาติ เคยมีชีวัตวัยเด็กอยู่ที่เมืองนครกับบุพพการีที่และยังมาศึกษาบางประการในเมืองนคร โดย ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้เอื้อเฟื้อให้พวกเราร่วมสมทบพิมพ์เพิ่มเพื่อเมืองนคร พร้อมกับให้เขียนคำนิยม ซึ่งผมได้รีบอ่านรวดเดียวจบ แล้วบรรจงรจนาอย่างนี้

เป็นที่น่ายินดียิ่งที่ชาวนครศรีธรรมราชตลอดจนผู้ศรัทธาในองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชจะมีหนังสือเล่มใหม่อีกเล่มหนึ่งสำหรับการเรียนรู้และศึกษาค้นคว้าเพื่อเสริมศรัทธาและการบูชาอย่างถูกถ้วนให้ยิ่ง ๆ ขึ้น นอกเหนือจากเล่มเดิม ๆ ที่ส่วนใหญ่ล้วนขยายความจาก “ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช” และ “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” โดยหนังสือเล่มนี้ที่ผู้เขียน คือ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริและคณะ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ใช้วิธีวิทยาการวิจัยทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมด้วย “แว่นตาที่หลากหลายประเภทในการมองหลักฐาน” ผ่านทั้ง “คติความเชื่อ จารีต แบบแผนในการก่อสร้าง เทคนิควิธี วัสดุ เครื่องไม้เครื่องมือในการก่อสร้าง หน้าที่ใช้สอย ตลอดจนรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรม” กับยัง “ประยุกต์ใช้เครื่องมือตลอดจนกรอบความคิดและทฤษฎีจากศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” ในลักษณะ “สหวิทยาการหรือบูรณาการ” ในการ “หาความหมายและสร้างคำอธิบาย ตลอดจนชุดความรู้ใหม่หรือข้อเสนอใหม่ทางวิชาการเกี่ยวกับมรดกพุทธศิลปสถาปัตยกรรมวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชอย่างเป็นระบบ” ที่ผู้เขียนและคณะ ระบุบอกว่า “เชื่อถือได้”

ในฐานะที่เป็นองค์กรสาธารณะในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ใส่ใจต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชร่วมกับชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและพุทธศาสนิกชนทั้งมวล และได้มีส่วนในการส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้บูชามาอย่างต่อเนื่องสืบต่อจากที่บรรพชนได้เคยจัดพิมพ์หนังสือชื่อ “นครศรีธรรมราช” ที่เรียบเรียงโดยประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพรองอำมาตย์ตรี ขุนบวรรัตนารักษ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ และยังได้เรียบเรียงและประสานการจัดพิมพ์หนังสือ “เรียนรู้บูชาพระบรมธาตุเมืองนคร” “ตามรอยธรรมที่นครเมืองธรรม” และ จัดทำ “ป้ายเพื่อการเรียนรู้บูชาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๗, ๒๕๕๕และ ๒๕๕๘ ตามลำดับ และได้รับความเอื้อเฟื้อในการร่วมสมทบพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ จึงย่อมยินดีอย่างยิ่งใหญ่ เพราะหนังสือเล่มนี้มิได้เป็นเพียงงานใหม่ที่ผ่านกระบวนการวิจัยด้วยระเบียบวิธีวิทยาอันวิเศษและหลากหลายมิติอย่างรอบด้านมากกว่างานอื่น ๆ ที่ผ่านมา กับยังมีข้อมูลและข้อวิเคราะห์และสังเคราะห์ใหม่ ๆ เป็นจำนวนมากรวมทั้งยังเรียบเรียงประวัติศาสตร์สังเขปเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างไม่มีใครทำอย่างนี้มาก่อนนั้น ยังหาญกล้านำเสนออย่างที่ไม่เคยมีใครเสนอมาก่อนในหลายประการที่ท้าทายต่อการศึกษาค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้และบูชาพระบรมธาตุแห่งเมืองนครศรีธรรมราชกันต่อไป ไม่ว่าจะการกลับมาเรียกว่าพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช การเสนอว่ามีการพัฒนาผังบริเวณวัดครั้งสำคัญในอดีตแต่แรกเริ่มเป็น ๘ ระยะ ตั้งแต่แรกที่มีผังคล้ายผังของมหาเจดีย์บรมพุทโธ การส่งพระอนันทเถระมาจากลังกาโดยพระเจ้าวิกรมพาหุที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๑๖๕๔-๑๖๗๕ การก่อสร้างเจดีย์ประธานในปี พ.ศ.๑๗๑๙ โดยพระเจ้านรบดีสิทธิแห่งพุกามโดยความเห็นชอบของกษัตริย์ลังกา ตามด้วยวิหารธรรมศาลา ทับเกษตร โพธิมณเฑียร วิหารเขียน วิหารภิเนษกรมณ์ วิหารยอดมณฑป และ วิหารหลวง โดยมีพุทธศักราชกำกับจากการแปลงศักราชตามที่ปรากฏในตำนานได้อย่างเหลือเชื่อ เช่น การสรุปเสนอว่าพระวิหารหลวงเดิมนั้น “เป็นมณฑปล้อมครอบพระเจดีย์ในพระวิหารหลวง” ในสมัยของพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๑ เนื่องกับการสร้างวิหารยอดมณฑปพระมงคลบพิตรและพระพุทธบาทสระบุรี โดยไม่พบมีการใช้ข้อมูลแผนที่ในบริติชไลแบรรี่ของร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ การวิเคราะห์ภายในองค์พระสถูปของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียอาคเนย์ ข้อพิจารณาว่าการสร้างพระใหญ่ พระสถูปและพระศรีมหาโพธิ์ เรียงกันอย่างลังกา รวมทั้งแบบแผนสถาปัตยกรรมของพม่าภาคใต้แถบมะริด ตะนาวศรีและทวาย ที่เคยมีผู้เสนอไว้

บวรนคร สุธีรัตนามูลนิธิ และ สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ นครศรีธรรมราช ขอชื่นชมยินดีอย่างยิ่งใหญ่ต่อ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริและคณะ ตลอดจนคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้สร้างสรรค์งานวิชาการชิ้นวิเศษนี้ขึ้น และเอื้อเฟื้อให้ได้มีส่วนร่วมในการสมทบพิมพ์เพื่อเผยแพร่แจกจ่ายในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นการพิเศษ หากท่านใดยังต้องการ กรุณาติดต่อขอรับได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. พร้อมกับขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้

บวรนคร สุธีรัตนามูลนิธิ
และ สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ นครศรีธรรมราช
มาฆบูชา ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//