logo_new.jpg

คือ ตงฮั้วเซียงหวย และ ตงหั้วหักเหา แห่งเมืองนคร เมื่อ ๙๐ ปีก่อน

OnNakornChineseChamberOfCommerce

(20240920_1 เพื่อแผ่นดินเกิด)

ตามที่ โกแอ๊ด สุธรรม บอกให้ผมช่วยประมวลเรื่องราวของจีนนคร

เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปี สมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช The Chinese Chamber of Commerce

ซึ่งเขียนออกมาอย่างยาวเกือบ ๑๐ ตอน

นี้คือตอนที่ว่าด้วย สมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช The Chinese Chamber of Commerce ครับ

โดยหนังสือนี้ ทราบมาว่าท่านจะแจกจ่ายหรือจำหน่ายผมไม่ทราบชัด

ในวันงานคืนวันที่ ๒๒ นี้ ที่ทวินโลตัส ซึ่งผมเองก็ไม่ว่างได้อยู่ร่วม

จึงขอเชิญชวนอ่านกันตามนี้ สำหรับท่านที่อาจไม่ว่างและไม่ได้เห็นหนังสือครับ

กำลังถามที่ วันพระ สืบสกุลจินดา กับ พชร ทองนอก

ว่าจะสนใจเอาไปลงในสารนครศรีธรรมราชไหม ...

เมื่อหลายปีก่อน คุณโกมล พันธรังษี แห่งเพจภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองนคร และ gotonakhon.com ได้เสนอสองภาพเก่าของเมืองนคร ที่เมื่อสืบเสาะในภายหลังทราบว่ามีคนนำมาขายให้แวดวงคนสนใจรูปเก่าในเมืองนคร และขณะนี้ขายออกไปจากเมืองนครนานแล้ว โดยสองภาพนี้ให้หลายเบาะแสสำคัญของจีนนคร ด้วยข้อความภาษาจีนในภาพที่อ่านได้ว่า ตงฮั้วเซียงหวย กับ ตงฮั้วหักเหา นั้น แปลว่า สมาคมพาณิชย์จีน และ โรงเรียนจีนสยาม เฉพาะป้าย ตงฮั้วหักเหา มีป้ายภาษาไทยกำกับไว้ด้วยว่า โรงเรียนจีนสยาม นครศรีธรรมราช

สมาคมพาณิชย์จีน ที่ว่านี้เมื่อแรกตั้งในประเทศไทยเรียกชื่อว่า สยามพานิชจีนสโมสร ทุกวันนี้คือ หอการค้าไทย-จีน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ จากการรวมตัวของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาทำการค้าในสยามและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ ภายใต้จุดมุ่งหมายสำคัญ คือการสมัครสมานสามัคคี กระชับสัมพันธ์และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมี เกา เสวียซิว เจ้าของโรงสีข้าว ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรคนแรก พระยาประดินันทน์ภูมิรัตน์ (เลี่ยวเช่งสุน) เป็นนายกสโมสรคนที่ ๔ ส่วนสมาคมพาณิชย์จีน นครศรีธรรมราชนั้น นิเวศน์ มัชฌเศรษฐ์ ได้ถอดความจากภาษาจีนที่ อู๋ จื่อ หมิง บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ว่า เป็นสมาคมของชาวจีนโพ้นทะเลในทะเลท้องถิ่น จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ มีวัตถุประสงค์เมื่อครั้งก่อตั้งเพื่อเชื่อมความสามัคคี, แนะนำความรู้ทางการค้า, ให้ความช่วยเหลือกันในหมู่สมาชิก, ร่วมมือทางการค้าเพื่อความเจริญของท้องถิ่น, ส่งเสริมมิตรภาพอันดีในระหว่างประชาชนไทยและจีน, สนับสนุนการศึกษา สร้างโรงเรียน, ส่งเสริมการบันเทิงที่ถูกทำนองคลองธรรม และ ส่งเสริมให้สมาชิกมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง โดยระบุว่าตลาดการค้าในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชขณะนั้นยังมีจำนวนร้านค้าน้อยมาก เป็นตลาดเล็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มขึ้น ชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮกเกี้ยนและไหหลำ รองมาเป็นแต้จิ๋ว แคะ และกวางตุ้ง ตามลำดับ มีนายตันเกงฮุยเป็นนายกสมาคมคนแรกมีสมาชิกก่อตั้ง ๓๐ คน กำลังสำคัญในการเริ่มต้นประกอบด้วย ขุนวิโรจน์รัตนากร (อุ่ยล่ำหิ้น) นายลิมเซี่ยงเอง นายลิมซุ่นหงวน และนายฉั่วซุ่ยถ่าย เช่าใช้อาคารเลขที่ ๑๖๒๖ ถนนราชดำเนินเป็นที่ทำการ

(ภาพนายตันเกงฮุย นายกสมาคมคนแรก และ กรรมการสมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช)

ที่หน้าที่ทำการสมาคมเมื่องานฉลองปีใหม่ พ.ศ.๒๔๗๒

เฉพาะภาพตงฮั้วเซียงหวย หรือ สมาคมพาณิชย์จีน ที่บ้านเลขที่ ๑๖๒๖ ถนนราชดำเนิน ซึ่งตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้ากวนอูนั้น มีแถบข้อความภาษาจีนอยู่ด้านล่างของภาพ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล และ อาจารย์เศรษฐพงศ์ จงสงวน ได้อ่านให้ไว้ว่า “ ปีหมินกั๋วที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๔๗๒) วันที่ ๑ เดือนมกราคม กรรมการมาร่วมงานฉลองขึ้นปีใหม่ ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ประเทศสยาม ท่าเรือ นครศรีธรรมราช ” โดย ชุดอักษรสุดท้ายอ่านเป็นภาษาจีนกลางได้ว่า เสียนหลอ ซื่อ ลั่วคุนปู้ หรืออ่านเป็นภาษาแต้ติ๋วได้ว่า เสี่ยมล้อ สี่ หลกคุงโปว แปลว่าประเทศสยาม ท่าเรือ นครศรีธรรมราช โดยคำว่าท่าเรือนั้นไม่แน่ชัดว่าหมายถึงการระบุว่าที่ท่าวัง หรือว่าที่นครศรีธรรมราชนี้เป็นท่าเรือ สำหรับคณะกรรมการที่ปรากฏในภาพนั้นไม่สามารถสืบความได้ว่ามีผู้ใดบ้าง คาดว่าอย่างน้อยน่าจะมีคณะกรรมการชุดก่อตั้งอยู่ด้วย เนื่องจากภาพนี้ถ่ายหลังจากก่อตั้งสมาคมเพียง ๕ ปี

(ภาพอาคารอาคารโรงเรียนตงฮั้ว ของสมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช ด้านหลังศาลเจ้ากวนอู)

ในปีต่อมา พ.ศ.๒๔๗๓ คณะกรรมการสมาคม ร่วมกับนายอูจือเคง และ นายตันกวางโต (ต้นสายสกุลตันศรีสกุล) และบรรดาชาวจีนโพ้นทะเลในนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันจัดหาสถานที่และก่อสร้างอาคารโรงเรียนตงฮั้วหลังใหม่ขึ้นด้านหลังศาลเจ้ากวนอูแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ซึ่งขุนทรงวรวิทย์ ได้ระบุไว้ในหนังสือที่ระลึกแห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช พิมพ์แจกเป็นการกุศลในงานพระราชทานเพลิงศพ พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ว่า “ ... ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ให้ความคิดครั้งแรกในการสร้างโรงเรียนหลังนี้ เนื่องแต่โรงเรียนหลังเก่าที่ตั้งอยู่บ้านขุนบวรฯ ไม่ถูกต้องตามแบบแผนและสุขวิทยาจนถึงทางราชการทักท้วง คณะกรรมการจึงดำริก่อสร้างขึ้นใหม่ด้วยทุนกุศลโดยมากเป็นของพวกพ่อค้าจีน เริ่มการเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สำเร็จและเปลี่ยนแปลงมาจากที่เดิมเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ด้วยทุนประมาณ ๘,๐๐๐ บาทเศษ " โดยต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ เมื่อโรงเรียนจีนในประเทศไทยต่างเผชิญหน้ากับพายุการเมืองจนในที่สุดโรงเรียนจีนหลายแห่งต้องปิดตัวเองลงไปตามตามกัน โรงเรียนตงฮั้วที่นครศรีธรรมราชก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ปิดตัวเองไปในที่สุด แล้วสมาคมก็เข้าใช้อาคารเรียนนี้เป็นที่ทำการสืบมา จากการสอบถามคุณกฤษณ์ พฤกษ์ไพบูลย์ (โกกัง) เกิดปี พ.ศ.๒๔๘๔ เล่าว่าเท่าที่ทราบ สมาคมพาณิชย์จีนเมืองนคร ช่วงโน้น มีกรรมการอยู่ ๓ แนว คือกลุ่มอาวุโสมาก อาทิ เฒ่าแก่อึ่งค่ายท่าย ขุนบวรรัตนารักษ์ และ เฒ่าแก่ตันกวางโต กลุ่มนี้ทำมาค้าขายกว้างขวางและให้การช่วยเหลือสังคมในหลายเรื่อง กลุ่มที่สองสนับสนุนก๊กมินตั๋งประชาธิปไตยเสรีซึ่งแทบทุกสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลล้วนเกี่ยวกับก๊กมินตั๋งเพื่อกู้ชาติจากราชวงศ์ชิงกับต้านการรุกรานของชาตินักล่าอาณานิคม แล้วในภายหลังจึงมีกลุ่มที่แยกไปสนับสนุนสังคมนิยม ซึ่งหลายคนถูกกล่าวหา หลบหนี ที่ถูกจับขังก็มี จนกระทั่งสมัยหลวงชาติตระการโกศลเป็นอธิบดีกรมตำรวจจึงได้รับรองให้จึงได้รับการปล่อยตัวกลับมาได้

(ภาพคณะนักเรียนและครู โรงเรียนจีนสยาม นครศรีธรรมราช - ตงฮั้วหักเหา ก่อนก่อสร้างอาคารใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๗๓

ต่อมาอาคารนี้เป็นที่ตั้งของนครสมาคม ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ปัจจุบันคือตึกยาวบวรนคร)

ส่วนอีกภาพหนึ่งที่ได้พร้อมกันจากคุณโกมล พันธรังษี ที่มีป้ายติดไว้ว่า ตงฮั้วหักเหา แปลว่า โรงเรียนจีนสยาม กับป้ายภาษาไทยกำกับไว้ด้วยว่า โรงเรียนจีนสยาม นครศรีธรรมราช นั้น เข้าใจว่ามาจากที่เดียวกันกับภาพตงฮั้วเซียงหวย คือ สมาคมพาณิชย์จีนนคร เพราะปรากฏพร้อม ๆ กันโดยแหล่งที่มาเดียวกัน ที่สำคัญกว่านั้นคือเมื่อพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว สรุปได้ว่าอาคารนี้คือตึกยาวบวรนคร ซึ่งมีประวัติระบุว่าช่วงหนึ่งเคยถูกใช้เป็นโรงเรียนตงฮั้ว เท่าที่ทราบเมื่อแรกตั้งโรงเรียนตงฮั้วนี้ ขุนนารถจินารักษ์ (หลีซำเฮง หรือ จีนซำเฮง) กับ ขุนบวรรัตนารักษ์ (ตันยิดเส็ง) เป็นผู้ยื่นขออนุญาตและเคยใช้อาคารเดิมของขุนนารถฯ และขุนบวรฯ ในตรอกท่ามอญ-ท่ามอญเป็นที่ตั้ง สอดคล้องกับที่ขุนทรงวรวิทย์ระบุไว้ ส่วนมาใช้ที่อาคารตึกยาวบวรนครในช่วงไหนและถ่ายรูปนี้ในจังหวะโอกาสไหน จากภาพและเครื่องแต่งกาย น่าจะก่อนการก่อสร้างอาคารโรงเรียนในปี พ.ศ.๒๔๗๒ และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือตามประวัติของอาคารหลังนี้ สร้างโดยพ่อค้าแร่ดีบุกจากสิงคโปร์เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๐ เพื่อเป็นสำนักงานการค้า ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสถานพยาบาลของซินแสหมอทีทีเว็นจากเซี่ยงไฮ้ และมีการเปลี่ยนการใช้งานอีกหลายอย่างเรื่อยมา รวมทั้งเคยเป็นโรงเรียนจีนสยาม นครศรีธรรมราชด้วย ขณะที่ด้านหลังยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและโรงน้ำแข็งแห่งแรกในเมืองนคร ของขุนเสรฐภักดี (เลี่ยวจิ้นซ้ง) ด้วย

๒๐ กันยา ๖๗ ๐๘๑๐ น.

บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1630238564537926&set=pcb.1630242597870856

 

 

 

 

 

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//