เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 29 November 2024
- Hits: 91
ควรคิดทำอะไร ในวาระ ๑๐๐ ปี สมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช
WhatToDoOn100thAnniversaryNakornChineseChamberOfCommerce
(20241128_2 เพื่อแผ่นดินเกิด)
จากการหรือกับคณะของนายก #สมาคมพาณิชย์จีนนคร
ที่มาหารือเพื่อเตรียมจัด #งานตรุษจีน ปีหน้า ในวาระปีที่ ๑๐๑ ที่ #บวรนคร
ซึ่งก็พอดีที่ #ตึกยาวบวรนคร นี้มีอายุได้ ๑๒๕ ปี
ชวนให้นึกถึงที่เขียนนี้ให้ในหนังสือ ๑๐๐ ปี สมาคมฯ ไว้
ลงท้ายอย่างนี้ครับ
... จากบางข้อมูลเบาะแสของ #จีนนคร เท่าที่ยกมานี้ ไม่ว่าจะเมื่อร่วมสร้าง #คูริมถนนราชดำเนิน เมื่อ ๑๑๕ ปีก่อน สร้าง #โรงพยาบาลทุ่งสง เมื่อ ๑๐๕ ปีก่อน #เหมืองแร่เมืองนคร เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน #จีนนครกับตึกนคร เมื่อ ๑๒๕ ปีก่อน สอง #ศาลเจ้าจีน ที่ใจกลางเมืองนครเมื่อ ๑๔๐ ปีก่อน #สมาคมพาณิชย์จีน และ #โรงเรียนจีนสยาม เมื่อ ๙๐ ปีก่อน ในวาระ ๑๐๐ ปีของสมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ.๒๕๖๗ นี้ ซึ่งยังน้อยมากหากเทียบกับความจริงอีกมากมายที่ยังรอคอยการค้นคว้านำมาร้อยเรียง ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนประมวลไว้ มีหลักฐานอีกมากที่บ่งชี้ว่าในนครศรีธรรมราชนี้น่าจะมีจีนนครอีกมากมาย ไม่แต่เพียงที่ #ท่าวังเมืองนคร หรือที่ #ทุ่งสง เท่านั้น ที่รายรอบเมืองนคร รวมทั้งที่อำเภอต่าง ๆ ไม่ว่าจะที่ #ปากพนัง #เชียรใหญ่ #หัวไทร #ชะอวด #เฉลิมพระเกียรติ #จุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นแดนการค้าข้าวและประมง ที่ #ร่อนพิบูลย์ แดนแร่และยางพารา ถึง #ท่าศาลา #นบพิตำ #สิชล #พิปูน #ฉวาง #ช้างกลาง #นาบอน #ทุ่งใหญ่ #บางขัน #ถ้ำพรรณรา แม้ #พระพรหม #ลานสกา #พรหมคีรี กระทั่ง #ขนอม ชายทะเล ซึ่งยังมีพี่น้องชาวจีนอีกมากมาย หรือเฉพาะในท่าวังเมืองนครนี้ซึ่งผู้เขียนก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องด้วยที่พอรู้ก็เพียงแต่ในวงศ์วานย่านเครือเท่านั้น หากพี่น้องจีนนครทั้งหลายจะได้ประมวลรวมรวมกันไว้ให้มากก็จะยิ่งได้รู้เห็นอะไรกันอีกไม่น้อย
และหากพิจารณาในเชิงระยะเวลาด้วยแล้ว จีนนครก็น่าจะมีเข้ามาอยู่กันหลายช่วงระยะ โดยในเบื้องต้นผู้เขียนเห็นว่าน่าจะแบ่งได้เป็น ๓ ช่วง คือ ๑) เท่าที่มีเบาะแสเก่าแก่ก็ใน #สมัยกรุงศรีอยุธยา อาทิ ตาขุนลกแห่งเมืองนครผู้อุปัฏฐากพระภิกษุจากสทิงพระที่มาบวชที่เมืองนครและไปศึกษาต่อที่อยุธยาจนต่อมาคือพระภิกษุหลวงพ่อทวด กับจีนปาด บิดาของหม่อมทองเหนี่ยว ชายาของเจ้าพระยานคร (หนู) ในสมัยอยุธยาต่อมาทั้ง #ธนบุรี และ #รัตนโกสินทร์ ซึ่งแม้จะมีข้อมูลเหลืออยู่น้อย แต่ก็นับว่ามี และอยู่ในฐานะไม่ธรรมดาของเมืองด้วยแล้ว โดยในระยะที่ ๒) เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วง #การอพยพใหญ่ของชาวจีนสู่โพ้นทะเล เท่าที่ยกมาข้างต้น นอกจากจะเห็นว่ามีอะไรน่าสนใจมากมายแต่ก็จะเห็นว่ามีอีกมากที่ยังไม่ได้ประมวลรวบรวมไว้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือในระยะที่ ๓) ซึ่งเป็นอีกระลอกของ #การเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองในแผ่นดินใหญ่จีน และมีจีนนครจำนวนมากที่เข้ามาในระยะนี้และล้วนเป็นอีกหน่วยกำลังขับเคลื่อนหลักของเมืองในขณะนี้ หากได้มีการประมวลรวบรวมร้อยเรียงและนำมาร่วมกันขับเคลื่อนกันในโอกาส ๑๐๐ ปี สมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราชครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นคุณูปการต่อบ้านต่อเมืองนครศรีธรรมราชของเรายิ่ง ๆ ขึ้น
คุณชวลิต อังวิทยาธร ได้ค้นคว้าสรุปเรื่อง #ตาขุนลก ไว้ในหนังสือ ศาลเจ้าจีนในเมืองนครฯ ว่า “ ... จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงตาขุนลกมาแล้วข้างต้น พอที่จะประมวลประวัติของท่านได้ว่า ท่านเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่ได้เข้ามารับราชการในเมืองนครอย่างช้าที่สุดก็อยู่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหน้าที่เกี่ยวกับนา ตำแหน่งลูงสุดที่ปรากฏใน พ.ศ.๒๑๙๑ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระหรือออกพระ นับถือศาสนาพุทธ มีบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณวัดสพ (คุณชวลิตสันนิษฐานว่ามาจากแม่โพสพซึ่งเกี่ยวกับข้าว) อันเป็นบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของข้าราชการกรมนาของเมืองนคร ท่านมีส่วนในการพัฒนาการทำนาของชาวนาจนเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองทั่วไป ท่านเสียชีวิตในปี พ.ศ.๒๒๐๖ แม้ว่าจะเสียชีวิตไปนานแล้ว ชาวเมืองนครก็ยังรำลึกถึงความดีของท่านอยู่ โดยชาวจีนได้ตั้งศาลขึ้นที่บ้านพักอาศัยของท่าน (บริเวณบ้านของคุณประมูล ศรีเปารยะในขณะนั้น - พ.ศ.๒๕๔๓) และเนื่องจากศพของท่านได้ฝังอยู่ในตำบลมะม่วงสองต้นอันเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งปรัง ด้วยความเชื่อที่ว่าวิญญาณของท่านสถิตอยู่ในเขตทุ่งปรัง การปฏิบัติสิ่งใดในเขตทุ่งปรังก็ต้องรำลึกถึงท่านเสมอ ... ”
จึงใคร่เชิญชวนท่านทั้งหลายโดยเฉพาะ #ลูกหลานจีนนคร ไม่ว่าจะรุ่นระยะไหน โดยเฉพาะรุ่นปัจจุบันทั้งหลายได้เริ่มกับประมวลบันทึกไว้ไม่ว่าจะในระดับครอบครัว วงศ์สกุล หรือสมาคมตระกูลแซ่ ตลอดจนในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเถอและเมืองให้มาก ๆ ขึ้น เพราะล้วนมีคุณค่าและความหมายในหลายสถานะ
อนึ่ง ในวาระ ๑๐๐ ปี ของสมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๕๖๗ นี้ ผู้เขียนและคณะทายาทของขุนบวรรัตนารักษ์และนางช้อย ได้ทำการบูรณะอาคารเก่าตึกยาวบวรนคร อายุ ๑๒๕ ปี ที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนจีนสยาม นครศรีธรรมราช ของสมาคมพาณิชย์จีน และ ที่ทำการของนครสมาคม สมาคมของชาวนครที่มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ในการประกอบการงานที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยจะมีห้องหนึ่งจัดแสดงประวัติและข้อมูลของจีนนครเท่าที่จะพอประมวลรวบรวมได้
บ้านบวรรัตน์ นครศรีธรรมราช
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗
จึงขอเอานี้ที่ชวนพี่น้องลูกหลานจีนนคร มาร่วมด้วยช่วยกันครับ
งานนี้ พี่ Surawee Leelawat กับ Sriroj James Anutaraset ชี้ชักนำครับพี่น้องครับ
๒๘ พฤศจิกา ๖๗ ๐๘๕๐ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1680262942868821&set=pcb.1680268986201550