logo_new.jpg

พระธาตุเมืองนคร : การสร้างอำนาจของนครผู้อ่อนแอ ?
Power Making of the Weakness NaKorn ?
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170424_2)

#นครดอนพระ
#รักบ้านเกิด
#สารนครศรีธรรมราช

มีแต่พวกเราคนนครทั้งหลายที่จะต้องคลี่คลายและให้ความหมายกันเองต่อไปนะครับ 
เพราะเราทั้งนั้นคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะค่อย ๆ ถูเอาไปเล่าขานจนกลายเป็นตำนาน.

เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมว่างพอที่จะตะลุยอ่านหลายหนังสือที่ทำท่าจะท่วมหัวแล้วเอาตัวไม่รอดได้ในที่สุด รวมทั้งบทความบทที่ ๔ ว่าด้วยทรัพย์และอำนาจ พุทธศาสน์กับการเมือง : วิธีคิดของคนใต้ ใน “ตำนานเมืองและพระธาตุนครศรีธรรมราช ในหนังสือ ชื่อ “ตำนานและเรื่องเล่าปรัมปราท้องถิ่นภาคใต้ : อัตลักษณ์ วัฒนธรรม อำนาจ และการต่อต้านในประวัติศาสตร์ความเป็นไทย แล้วเกริ่นเล่นในเพจเฟสบุ๊ค คุยกับหมอบัญชาเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐ ไปอย่างนี้

เล่มที่ ๒ ที่อ่านตลอดเมื่อวานนี้คือเล่มนี้
โดยไม่ได้อ่านหมดเล่ม เลือกอ่านแต่ที่เกี่ยวกับตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนคร ก่อนที่จะผ่านตากับเรื่องนางเลือดขาว โดยตลอดทางได้หมายเหตุเอาไว้เพื่อทำอะไรต่อได้เต็มไปหมด
ผมทราบข่าวหนังสือนี้ที่ยิปซีสำนักพิมพ์พิมพ์ออกมาตั้งแต่แรก และเดาว่าน่าจะมีอะไรเกี่ยวกับเมืองนคร เพราะคุณพิเชษฐ์นี้ก็เป็นคนนคร
เพิ่งได้เมื่องานสัปดาห์หนังสือเดือนนี้
สงกรานต์นี้ก็เลยอ่านเสีย ก่อนที่จะลืมอีก
ดูผู้เขียนบทนำและผู้สอบวิทยานิพนธ์ก็พออ่านทางออกว่าจะแนวไหน
ขออนุญาตถ่ายที่หมายเหตุออกมาแบบชวนให้คนนครไปซื้อหามาอ่าน เพราะบทวิเคราะห์ทั้งนั้นน่าสนใจมาก ๆ ว่าใช่อย่างนั้นไหม ? หากใช่ ? เราจะช่วยกันอย่างไรให้เมืองนครเราไปได้ดีกว่านั้น ?
หรือว่าจะเพียงเชิดชูบูชาและทำสารพัดกับพระธาตุ เพียงเป็นการสร้างอำนาจของนครผู้อ่อนแอ ?
กันต่อ ๆ ไป ?
แล้วจะชวนคุณพิเชษฐ์มาตั้งวงเสวนากันที่เมืองนครสักคราครับ
๑๘ เมย.๖๐

วันนี้ขอชวนอ่านเอาเรื่องกันอีกรอบ ในฐานะคนนครที่ควรจะสนใจและใส่ใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษสักนิด หลังจากเคยอ่านและใช้ ๒ ตำนานที่ว่ากันเรื่อยมา

บทความนี้มี ๕๐ หน้า แบ่งเป็น ๒ ตอน ตั้งชื่อหัวข้อที่ชวนค้นคว้าหาคำตอบอย่างยิ่งว่า
• “ความเงียบ” และ “เสียงดัง” และวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ กับ
• พระธาตุ : การสร้างอำนาจของนครผู้อ่อนแอ

ในฐานะที่ตั้งใจจะอ่าน “เอาเรื่อง” แบบ “หาเรื่อง” คือ ค้นหาให้ได้เรื่อง ผมพบข้อที่ควรฉุกคิดในระหว่างบรรทัดมากมายไปหมดตั้งแต่ย่อหน้าแรกเริ่มเลยทีเดียว ดังที่คุณพิเชฐ แสงทอง ตั้งต้นไว้ว่า “...ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์ตำนานกลุ่มนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือการพิจารณาว่า ตำนานกลุ่มตำนานนครศรีธรรมราช ได้เปิดเผยเนื้อหาสาระใดออกมาและปิดบังเนื้อหาสาระใดเอาไว้บ้าง...” โดยระบุบอกต่อไว้ในวงเล็บว่า “...กลายเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘ความเงียบ’ ...กับ ‘เสียงดัง’...” ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่ง “หล่อหลอมให้นครศรีธรรมราชมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซึ่งอาจสามารถตอบคำถามที่น่าสนใจได้ว่าเหตุไฉนนครศรีธรรมราชและพื้นที่อื่น ๆ ใก้เคียงที่เคยถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดกับนครศรีธรรมราชจึงสามารถหลอมตัวเองเข้ากับวาทกรรมความเป็นสยาม/ไทยได้อย่างกลมกลืนตลอดมา ไม่เหมือนกับปัตตานีที่ยังคงกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” เหรือชายขอบของความเป็นไทยอยู่กระทั่งทุกวันนี้”

“ความเงียบ” และ “เสียงดัง” และวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์

ในบทนี้ที่เริ่มจากข้อสังเกตว่าตำนานทั้งสองเพิ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองสถานการณ์ทางการเมืองบางอย่างซึ่งนครศรีธรรมราชอ่อนแอและเพลี่ยงพล้ำ เป็นเพียงการสร้างเหตุผลให้กับกิจกรรมทางการเมืองของเมืองนคร โดยเลือกที่จะ “ไม่จดจำ” และ “ส่งเสียงดัง” ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบหลายประการ เช่น การเป็นเมืองท่าที่ยิ่งใหญ่ มีฐานอยู่ที่การเกษตรกรรม แต่ “...ถูกอธิบายทิ้งค้างไว้อย่างโดดเดี่ยวให้เป็นเพียงกิจกรรมของชาวต่างประเทศและชนชั้นผู้ปกครองเท่านั้น ขาดความพยายามเชื่อมโยงให้เห็นถึงอิทธิพลที่การค้านั้นมีต่อโครงสร้างภายในของชุมชน...” แถมยังท้าแรงไว้ด้วยว่า “...ทำให้สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับไปหาคำอธิบายทงภูมิศาสตร์ที่จนตรอก...” แล้วจึงชี้ประเด็นที่ผู้เขียน(น่าจะคิดว่า)ไม่จนตรอก ชี้ให้เป็นประเด็น “การค้าของป่ามากกว่าการเกษตรกรรม” จากนานาหลักฐานที่ผมก็ชอบและติดตามศึกษาค้นคว้าเสมอมา ก่อนที่จะเน้นเสนอเรื่อง “การเกษตร” ที่พัฒนาอย่างมากจนผู้เขียนสรุปว่า คือ “...เสาหลักสองอย่างของนครศรีธรรมราช คือ เศรษฐกิจการค้าและการกัลปนา” แล้วตอกย้ำไว้ว่า “แต่ตำนานในกลุ่มตำนานเมืองสองฉับหลัก...เหมือนจะตั้งใจหลงลืมตัวตนทางโลกย์เช่นนี้ไป โดยเฉพาะตัวตนทางด้านเศรษฐกิจการค้านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับฮิกายัตในวัฒนธรรมมลายูมุสลิมแล้ว...” และ “...กลายเป็นความเงียบที่ผู้บันทึกตำนานไม่ยอมเปล่งเสียง
ในบทความนี้ คุณพิเชฐได้ค้นคว้าหลายเรื่องที่ล้วนน่าสนใจเอามาประกอบการสนับสนุนสมมุติฐานนี้ ดดยเฉพาะเรื่องการค้าของป่านานาชาติ การกัลปนาต่าง ๆ จนกระทั่งตำนานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งเรื่อง สลัดนคร เงินตรานอโม เก้าเส้ง เคร็ง พังพการ พร้อมกับชี้หลายประเด็นที่ผมต้องใส่ดาวเอาไว้ตามต่อ เช่น “...หากมองจากมโนทัศน์ทางพุทธศาสนาปัจจุบัน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของเมืองที่พยายามสถาปนาตัวตนขึ้นมาในฐานะศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาดูจะขัดแย้งกันไม่น้อย อาจชวนสงสัยว่า พร้อม ๆ กับที่มั่งคั่งขึ้นในฐานะเมืองท่าการค้าที่มีอำนาจควบคุมเมืองท่าอื่น ๆ อยู่ด้วยเป็นครั้งคราว นครศรีธรรมราชจะกลายเป็นเมืองพุทธศาสนาไปได้อย่างไร เพราะพุทธศาสนากับการค้ากำไรดูจะเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้...เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ตำนานเงียบเสียงที่จะกล่าวถึงรายละเอียดเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า...”

พระธาตุ : การสร้างอำนาจของนครผู้อ่อนแอ

ในตอนท้ายของบทความที่คุณพิเชฐใช้ นิพพานโสตร ซึ่งเมืองนครมีหลายฉบับมาก และสรุปว่านิยมมากในช่วงต้นจนถึงกลางรัตนโกสินทร์ มาสนับสนุนสมมุติฐานว่าเป็นความ “...พยายามสร้างความทรงจำใหม่เกี่ยวกับพระธาตุ” ซึ่งเป็น “ ’ผล’ ของวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์นี้...ที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้อ่อนแอมากแล้ว...” และเป็นการถ่ายโอน “ภาระต่อพระธาตุจึงตกมาถึงมือของประชาชน...ส่งเสียงเรียกร้องประชาชนให้เข้ามาอุปถัมภ์พระธาตุ พร้อมกับสถาปนาพระธาตุให้เป็นตัวตนใหม่ของนครศรีธรรมราช...สร้างความทรงจำใหม่แก่ประชาชนเกี่ยวกับการสูญเสียสถานะทางการเมืองที่เคยเป็นรัฐอิสระ...ทำหน้าที่ชี้แจงกับประชาชนว่าความพ่ายแพ้ของนครศรีธรรมราชนั้นแท้จริงแล้วคือชัยชนะ...”

รีบไปหามาอ่านกันนะครับ ผมชอบหลายอย่างในนั้น แม้ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด
มีแต่พวกเราคนนครทั้งหลายที่จะต้องคลี่คลายและให้ความหมายกันเองต่อไปนะครับ เพราะเราทั้งนั้นคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะค่อย ๆ ถูเอาไปเล่าขานจนกลายเป็นตำนาน.

๒๔ เมษายน ๒๕๖๐

(ขอส่งมาแบ่งปันพร้อมกับส่งเป็นต้นฉบับให้ นสพ.รักบ้านเกิด ที่เมืองนคร พร้อมกับส่งให้ สารนครศรีธรรมราช พิจารณาลงอีกที่หนึ่งด้วยนะครับ

และหวังว่าผู้เขียนตลอดจนสำนักพิมพ์จะพิจารณาว่านี้มิใช่การลอกเลียนล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เป็นการแนะนำให้คนได้หาซื้อมาอื่านกันมาก ๆ นะครับ)

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//