เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 01 June 2017
- Hits: 1795
มาฉลองงานชิ้นนี้กันเถิดครับ...พี่น้องทั้งหลาย
Let's Celebrate this Fabulous Work
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170601_1)
อะไรจะวิเศษเท่าการศึกษาประมวลค้นคว้าแล้ววิเคราะห์
จนสังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้
ที่ทรงคุณค่าเพื่อการก้าวกันไปข้างหน้า
ให้สมกับ "คุณ" และ "ค่า" อย่างนี้อีกแล้ว...อ่านกันเลยนะครับ
ขอบพระคุณ สุรเชษฐ์ แก้วสกุล ศิลปสถาปัตยกรรมลุ่มแม่น้ำหลวง
๑ มิย.๖๐
กระบวนพระศรีรัตนมหาธาตุ : คำบรรยายลักษณะแห่งพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จากเอกสารสมัยอยุธยา
----------------------------------
ส่วนหนึ่งของ การสังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารโบราณ มรดกความทรงจำ และประวัติศาสตร์แห่งเมืองนคร
โครงการปริวรรตเอกสารปฐมภูมิประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช โดยพระครูเหมเจติยาภิบาล วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช (โสภิต แซ่ภู่)
----------------------------------
กระบวนพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นคำอธิบายว่าด้วยลักษณะ องค์ประกอบแต่ละส่วนของพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ที่มีการคัดลอกกระจายอยู่ในเอกสารโบราณหลายชิ้น รวมถึงการคัดลอกเผยแพร่ในยุคสมัยอันใกล้ เช่น ในชีวิวัฒน์ ซึ่งคัดกระบวนพระบรมธาตุเจดีย์มาได้ครบถ้วน แต่เพิ่มเติมรายละเอียดบางประการเข้ามา ทั้งนี้เป็นการดีกว่าหากเราจะเริ่มต้นโดยการย้อนกลับไปทำความเข้าใจเนื้อหาส่วนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดก่อน
ข้อคัดลอกเก่าที่สุดอยู่ท้ายสมุดพระตำราเจดีย์เมืองนครสมัยอยุธยาปลาย ต่อจากรายการแบ่งหน้าที่ดูแลพระระเบียงล้อมพระบรมธาตุแก่บุคคลกลุ่มต่าง ๆ ก่อนหน้ารายละเอียดของพิธีทำขวัญพระธาตุในเดือน 6
----------------------------------
คำว่า กระบวน ปรากฏอยู่ในเอกสารอยุธยาหลายเล่มที่พบในภาคใต้ หมายถึงคำพรรณาแจกแจงลักษณะต่าง ๆ ดังจะพบในเรื่องแทรกต่อจากพระตำรากัลปนาเมืองพัทลุง อาทิ
"...และนิมนต์พระมหาอโนมทัสสี ให้ไปเอากระบวนพระมหาธาตุเจ้ามาแต่เมืองลังกา และมาก่อพระศรีรัตนมหาธาตุเจ้าสูงเส้นหนึ่ง..."
กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระยาธรรมรังคัลเจ้าเมืองพัทลุง ส่งพระมหาอโนมทัสสีเดินทางไปจดกระบวนพระมหาธาตุเจดีย์จากลังกา คำว่าเอากระบวนในที่นี้ อาจเทียบได้กับศัพท์ช่างภาคกลางว่า ถ่ายอย่าง หรือถ่ายแบบ
รวมถึงเมื่อพระเถระองค์ใดได้สร้างวัดขึ้น ทั้งวิหารเจดีย์ แล้วเสร็จ ก็จะจดกระบวนของสิ่งก่อสร้างทั้งหลายในวัดขึ้นไปขอพระราชทานกัลปนาที่ดิน และข้าพระจากอยุธยา มีตัวอย่างอยู่หลายสิบครั้งอาทิ
"…อยู่มาเล่าไซร้ พระครูธรรมรังสีรามเจ้าทำพระไพหาร ตำบลวัดเบิก และเอากระบวนเข้าไปพระนครศรีอยุธยา แลเบิกญาติโยมแลไร่นาโตนดต้นตาลผลารามิสที่ภูมิสัด ให้ออกจากส่วยหลวง แลมีพระตำราโกษาธิบดีมาไว้ ฯ ๙ ฯ"
----------------------------------
กระบวนพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้เก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับพระบรมธาตุครั้งโบราณไว้อย่างมากมาย ปรากฏศัพท์พื้นถิ่นที่น่าสนใจเช่น
การเรียกบัลลังก์ของเจดีย์ว่า เหม ซึ่งยังไม่พบว่าปรากฏในเอกสารอื่น
เรียกยักษ์เฝ้าประตูว่า นนทยักษ์ คือนี้ใกล้เคียงกับชื่อ นนทรีย์ ที่ใช้เรียกรูปเฝ้าประตูทางเข้าที่ตกค้างในวรรณกรรมสมัยอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ (ปูนปั้นยักษ์ขนาบข้างประตูวิหารวัดจำปาก็เรียกว่า นนทรีย์)
เรียกฐานช้างแบก ช้างล้อม หรือช้างรอบ ว่า ฐานช้างล่อหัว คือฐานที่มีช้างโผล่(ล่อ)หัวออกมา
เรียกพุ่มข้าวบิณฑ์บริเวณใต้ยอดสุดของพระบรมธาตุว่า สาแหรกแก้ว ซึ่งให้ภาพทีชัดเจนของสายแก้ว 4 เส้นที่ถูกร้อยเข้ามาล้อมเป็นพุ่ม คล้ายสาแหรกคานหาม
ทั้งยังแสดงตำแหน่งเดิมของนาคแปดเศียรว่าอยู่ระหว่างรูปยักษ์ ซึ่งนาคนี้เป็นส่วนหนึ่งของราวบันใด ที่จะถูกย้ายออกมาวางห่างจากเดิมหลังการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 5
----------------------------------
น่าสังเกตว่ากระบวนพระศรีรัตนมหาธาตุนี้ ไม่ได้จดชื่อเรียกของรูปสลักทวารบาลบนบานประตู ที่เคยเป็นประเด็นสนใจทางวิชาการในช่วงหลายปีก่อน สะท้อนว่ารูปสลักบนบานประตูนี้ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ หรือมีตัวตนเป็นพิเศษจนต้องถูกให้ชื่อ
(อย่างไรก็ตาม ความทรงจำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ได้เกิดชื่อเรียกรูปสลักบนบานประตูว่า พระพรหม - พระอิศวร โปรดดู ชีวิวัฒน์ : เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 7 - หน้า 97)
ด้วยรายละเอียดมหาศาลที่ถูกบรรจุไว้ในข้อความไม่กี่สิบบรรทัด กระบวนพระศรีรัตนมหาธาตุจึงเป็นบันทึกความทรงจำของเมืองนครที่สำคัญ และน่าสนใจอย่างยิ่งครับ
----------------------------------
กระบวรศรีรัตนมหาธาตุ แต่ดินสูงขึ้นไปจนถึงยอด ๓๗ วา ๒ ศอก ฐานติดดินชื่อว่าทับเกษตร ยาว ๑๗ วา แลลดขึ้นชั้นหนึ่งชื่อว่าทิพย์คีรี สูง ๖ วา มีพระยืน ๒๕ พระองค์ สูง ๕ ศอก แลหว่างพระนั้นมีช้างล่อหัว ๒๒ ตัว สูง ๓ ศอก บนทิพย์คีรีนั้น มีกำแพงแก้วสูง ๒ ศอก ยาว ๑๔ วา ๑ ศอก เท่ากันทั้ง ๔ ด้าน
ฐานลวดรับระฆังบนกำแพงแก้ว ๕ ลวดสูง ๙ ศอก ระฆังสูง ๗ วา กว้างกำลังระฆัง ๓๓ วา เหมสูง ๒ วา ๓ ศอก กว้างเหม ๔ วา ๒ ศอก ๑ คืบ คอแร้บนเหมสูง ๖ ศอก มีรูปพระอรหันต์ยืนทุกเสาฅอแร้ ๘ พระองค์ สูง ๔ ศอก หน้ากระดานแลฅอแรกว้าง ๒ ศอก ๑ คืบ
ปล้องไฉนติดหน้ากระดานมีกำลังรอบองค์ ๑๑ วา แลปล้องไฉนนั้น ๕๒ ปล้อง แต่หน้ากระดานปล้องไฉนจนถึงบัวคว่ำบัวหงายนั้นสูง ๑๕ วา กลีบบัวใหญ่รอบ ๑ ศอก กลีบบัวเซียน้อย ๑ คืบ กลีบบัวใหญ่ ๑๕ กลีบ ปากบัวใหญ่น้อยกำลังรอบ ๑๑ ศอก แต่บัวคว่ำบัวหงายถึงปทุมโกศสูง ๔ วา ๒ ศอก แต่ปทุมโกศถึงสาแหรกแก้ว ๖ ศอก แต่สาแหรกแก้วสุดยอดสูง ๓ ศอก
แลกำแพงแก้วบนทิพย์คีรีนั้น มีพระเจดีย์ ๔ มุมชื่อว่าพระรัทเจดีย์สูง ๗ วา กำแพงแก้วมีท่อนํ้าเป็นศีรษะนาค ๗ ท่อ หาศีรษะมิได้ ๓ ท่อ
แลด้านอุดรนั้นมีประตูแลบันได มีพระเจดีย์อยู่บนหลังคา ประตูบนบันไดมีอัฒจรรย์ขึ้นไปบนกำแพงแก้ว ๑๙ ขั้น หัวบันไดนั้นมีฝาผนังทั้งสองข้าง มีรูปพระข้างละองค์ ชื่อว่าพระหัดตุคราม พระรามเทพ ณ หัวฝาผนังนั้นมีนกอินทรีข้างละตัว ชื่อว่าท้าวกุเวณุราช ท้าวกุเวณุเทพราช ข้างตีนบันไดนั้นมีรูปนนทยักษ์ยืนถือตระบองข้างละตัว ชื่อว่าท้าวทศรศราช ท้าวทศรศมหาราช หว่างนั้นมีรูปนาค ๗ ศีรษะข้างละตัว ชื่อว่าท้าววิรุฬหัก ท้าววิรุฬปักษ์
แลระเบียงชั้นในรอบพระบรมธาตุนั้น ๔ ด้าน แปยาว ๒๓ วา ขื่อยาว ๔ วา มีฝาผนังสูง ๔ ศอก แลประตูปิดเผย และมีธรรมาสน์พระสงฆ์แสดงพระสัทธรรมเทศนา ๓ ด้านทุกวันอัฐบาร มีพระโมคลาร ๘ พระองค์ พระนั่งหัตถบาท ๑๒ พระองค์ พระยืน ๒ พระองค์ รวม ๒๒ พระองค์
----------------------------------
แบบพระบรมธาตุเขียนขึ้นใหม่โดยใช้ภาพประกอบจากบทความ
มรดกพุทธศิลปสถาปัตยกรรม วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
อ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ อิสรชัย บูรณะอรรจน์ และดร.นันทวรรณ มวงใหญ
(โปรดดู : http://www.tci-thaijo.org/index.…/NAJUA-Arch/article/…/44340)
เป็นเค้าโครง ร่วมกับแบบสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร ร่วมกับภาพถ่าย และการสำรวจรังวัดบางส่วน
แบบขยายยอดพระบรมธาตุ บริเวณ สาแหรกแก้วจดถึงยอดจากหนังสือ
การบูรณะปลียอดทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช สิ้นสุดครึ่งแรกตามแผนงาน (2537) — at วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช.