logo_new.jpg

การค้า คุณค่า ย่านเก่า
Trade, Value and Old Area
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20180307_
2)
วันนี้กลุ่มงานอนุรักษ์ฯ สยามสมาคม ตามผมไปร่วมเวทีเสวนานี้ โดยมี อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมกับตัวแทนอื่นอีก ๔ คน จากหอการค้าฯ อพท. สผ. และ เมืองเชียงใหม่ แล้วท่าน อ.ชัยวัฒน์ วางผมไว้เป็นคนท้ายสุด โดยผมเองนั้น บอกตรงว่าเลิกคิดแนวนี้มานาน ที่คิดก็แต่ไปตามดูและที่จะลองทำเล่น ๆ เองบ้างเท่านั้น การถูกวางไว้คนสุดท้าย ก็เลยเก็บเกี่ยวความรู้อย่างเพลิน และได้นำเสนอในฐานะมาจากเมืองนคร ๑ ใน ๒๗ เมืองเก่าตามแผนของ สผ.นิด ๆ หน่อย ๆ บางประเด็น เช่น
๑) ที่ อ.ชัยวัฒน์ พูดถึง State Intervention ว่าควรแค่ไหนนั้น ผมเสนอกรณีศึกษา คุณป้าอินเทอร์เวนชั่นที่ย่านสวนหลวง ซึ่งพบว่าคุณป้านั้น บ้านเดิมอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟนคร ไม่ไกลจากบ้านผม ส่วนคนที่ขับรถมาจอดนั้น ก็คนสิชล เมืองนคร ขณะที่เจ้าของตลาดหนึ่งนั้น นามสกุลก็เป็นคนที่ไม่ไกลจากวัดศรีทวีบ้านผม สุดท้ายเมื่อวานนี้ที่ กทม.แถลงผลการตรวจสอบ พบว่า ผอ.โยธาฯ คนหนึ่งที่นำร่องงานนี้ ก็คนนครที่ลานสกา งานนี้อาจต้องพิจารณา นครอินเตอร์เวนชั่นละกระมัง
๒) สำหรับเมืองนครนั้น ตอนผมกลับจากเชียงใหม่หลังจบ มช.และได้ไปลาคุณไกรศรี นิมมานเหมินท์ ท่านบอกว่าเมืองนครมีอะไรให้ทำมากมายกว่าที่เชียงใหม่ ที่ได้ฟังคุณสุวารีจากเมืองเชียงใหม่เล่าว่าตอนนี้ "เนื้อเมือง" เปลี่ยนแปลงหมดจนเหมือนไม่ใช่เชียงใหม่แล้ว ผมก็เลยเอะใจว่าหรือว่าให้เมืองนครเป็นไปอย่างนี้น่าจะดี คือไม่ต้องทำอะไรอาจจะดีกว่า เดี๋ยวจะลงเอยอย่างเชียงใหม่ เช่นมีแผนอนุรักษ์เมืองเก่าที่ สผ.มาทำไว้เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเดียว
๓) ต่อประเด็น การค้า - คุณค่า - ย่านเก่า นั้น ผมชวนฉุกคิดนิดหน่อยว่า อันที่จริงแล้ว ย่านเก่านั้นมีหลายนัยยะ ทั้งเก่าแท้ เก่าเทียม (จนแม้กระทั่งเก่าเกิน และ ฯลฯ ก็น่าจะมี แต่ไม่ได้เสนอ) ผมไม่ใครติดใจเท่าไหร่ เพราะมันก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา แต่ประเด็นที่สนใจมากกว่าคือ เรื่อง "ค่า" ที่คนส่วนใหญ่มักจะไหลไปที่ "มูลค่า" มากกว่า "คุณค่า" หรือไม่ก็ลากเอา "คุณค่า" ไปทำแต่ "มูลค่า" กันถ่ายเดียว แถม ปะหน้าด้วย "การค้า" ก็ไปไหนไม่พ้นแน่ สองประเด็นนี้ ผมสนใจข้อสังเกตของ อ.ชัยวัฒน์ ที่เติมตอนท้ายว่า "ย่านเก่า" นี้ มีเรื่องของ "ชีวิตที่ผูกพัน" อยู่ด้วย ขณะที่ตัวแทนจากตลาดสามชุก ที่ถามว่าจะมีระบบอะไรไปช่วยด้วยได้ไหม ผมจึงนึกถึงอย่าง อพท.และเป็นมากกว่านั้น คล้าย ๆ เป็นหน่วยช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นที่พัฒฯาและบริหารจัดการย่านเก่า เพราะท่ามกลางธุรกิจกับท้องถิ่น ไม่ง่ายสำหรับชาวชุมชนแน่นอน
๔) ผมยกกรณีที่เมืองนคร เช่นกรณีมรดกโลกที่พระธาตุนครซึ่งขาดการมีส่วนร่วม แถมต้องไปตามเกณฑ์ต่างประเทศ ที่สำคัญขาดความชัดเจนเรื่องเป้าหมายในการขับเคลื่อน จนวุ่นวายไปเสียหมดและน่าจะเป็นไปได้ยาก จนยากจะเจียรนัย และผมก็นึกไม่ออกว่าจะเสนอข้อเสนอทางนโยบายอย่างไรได้ ยิ่งนึกถึงที่จังหวัดที่ผู้ว่าก็มาแล้วไป ๆ ๆ ไม่พบใครเอาจริงเท่าไหร่ ฝ่ายที่เลือกตั้งเข้ามาก็บอกไม่ถูก หวัง-วางใจได้อย่างยาก ตอนนี้ก็ถูกใบแดงเหลืองและ ม.๔๔ กันทั้งเทศบาลและ อบจ. ประมาณนี้ที่ได้นำเสนอ แต่ที่ได้รับความรู้ข้อคิดมานั้น มหาศาลนัก

๗ มีค.๖๑ ๒๒๓๐ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//