เชิญติดตามการรายงานของน้องสองคนที่ตามพวกเราไปอู่ทองทวายเมื่อไม่นานมานี้
ใครอยากไปอีกบ้าง บอกได้ หากยังมีแรงแล้วจะพากันไปอีกครับ
๕ มิย.๕๙
..........................
แชร์จาก อัลบั้ม จาก happening mag
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทีม happening ได้มีโอกาสไปร่วมทริป ‘ตามรอยไทย ทวารวดีที่อู่ทองถึงทวาย’ ซึ่งจัดโดย อพท. พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง สุพรรณบุรี และ หพท. หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archivesเป็นการไปสำรวจร่องรอย โดยมีผู้รู้อย่าง นพ.บัญชา พงษ์พานิช เป็นผู้นำทางและบรรยายให้ความรู้กับผู้ร่วมทริป โดยเดินทางไปทางสุพรรณบุรี สำรวจเมืองโบราณอู่ทอง และเลยไปถึงเมืองทวายในประเทศพม่าด้วย อัลบั้มภาพชุดนี้เป็นบันทึกถึงความทรงจำและความรู้ส่วนหนึ่งที่เราได้จากทริปครั้งนี้
เริ่มเดินทางจากหอจดหมายเหตุพุทธทาสกันแต่เช้า หลังออกจากกรุงเทพราวสองชั่วโมงกว่าเราก็มาถึงจังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่แรกที่เราไปเยือนก็คือ วัดเขาดีสลัก ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนเขา จะว่าไปแล้วในเมืองไทยก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่เป็นจำนวนมาก (ในบ้านเรานิยมสร้างรอยพระพุทธบาทกันมากในยุคต้นรัตนโกสินทร์) แต่ถ้าถามถึงที่มาของรอยพระพุทธบาท จะพบว่าคนโบราณเขาสร้างรอยพระพุทธบาทขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องจากในช่วงหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วพุทธศาสนิกชนยังไม่นิยมสร้างรูปเคารพ แต่จะสร้างสัญลักษณ์ อย่าง ธรรมจักร และ รอยพระพุทธบาท เพื่อรำลึกถึงพุทธคุณ จนในยุคราว พ.ศ. 500 ที่มีชาวกรีก-โรมันหันมานับถือศาสนาพุทธ จึงเริ่มมีการสร้างแบบจำลอง กลายเป็นพระพุทธรูปขึ้นมา
รอยพระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลักถือเป็นหนึ่งในพระพุทธบาทจำนวนน้อยที่ทำเป็นรูปนูนขึ้น (ส่วนใหญ่จะทำเป็นร่องลึกลงไป) อายุสมัยของรอยพระพุทธบาทนี้หลายฝ่ายเชื่อว่าอยู่ในช่วงท้ายๆ ของยุคทวารวดี (ช่วงยุคทวารวดีก่อตัวในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 และเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษ 12) ระหว่างเดินขึ้นไปจะเห็นว่าทำเลที่ยอดเขาแห่งนี้รายรอบด้วยทุ่ง มองลงไปจะเห็นเมืองโบราณอู่ทอง เหล่านักวิชาการเชื่อว่าในยุคโบราณทำเลนี้อาจจะเป็นชายฝั่งทะเล จึงเป็นเหตุผลให้เมืองอู่ทองน่าจะเป็นเมืองสำคัญในยุคทวารวดีถึงขั้นที่อาจจะเป็นเมืองศูนย์กลางเลยก็เป็นได้
รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลักทำจากหินชนวน ถูกพบเจอบนภูเขาแห่งนี้ ตัวหินไม่แน่ใจว่าเป็นหินท้องถิ่นหรือไม่ แต่สันนิษฐานว่าแกะสลักในท้องถิ่น ปัจจุบันบางส่วนแตกชำรุดจึงมีการปั้นปูนเสริม รอบๆ รอยพระพุทธบาทมีการทำรูปใบจักรล้อมรอบ ข้อสังเกตสำคัญคือลายดอกตรงข้อนิ้วที่ว่ากันว่าเป็นลวดลายแบบทวารวดี แต่ก็มีลวดลายบางอย่างที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อย่างเช่นลาย “มงคล 108” ที่ไม่ได้เป็นลวดลายของสมัยทวารวดี ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องตีความกันต่อไป ที่น่าสนใจอีกประการคือลวดลายในพระพุทธบาทชื้นนี้ยังสะท้อนถึงเรื่อง “ไตรภูมิ” ด้วย
ลงมาจากเขาดีสลัก เราจะพบงานพุทธศิลป์ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง คือกลุ่มหินสลักเป็นภาพพุทธประวัติ เป็นงานของช่างยุคปัจจุบันที่มีคววามวิจิตรสวยงาม แต่ละชิ้นเล่าเรียงพุทธประวัติตอนต่างๆ อย่างเป็นลำดับ หินสลักเหล่านี้ได้ทำการศึกษาแนวทางจากหินสลักยุคทวารวดีที่พบในที่ต่างๆ ในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคอีสาน แล้วเอามาทำใหม่ให้เป็นงานที่ฝากไว้ในยุคนี้ ...ในภาพนี้เป็นพุทธประวัติตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นตอนท้ายๆ ของพุทธประวัติแล้ว ใครสนใจอยากชมพุทธประวัติตอนอื่นๆ เราขอแนะนำอย่างยิ่งให้หาโอกาสไปชื่นชมพุทธประวัติผ่านหินสลักชุดนี้ให้ได้สักครั้งจริงๆ
เหรียญเงินที่ขุดพบที่อู่ทองเป็นโบราณวัตถุที่บอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย ที่มาอันแตกต่างหลากหลายแสดงถึงการเชื่อมต่อของวัฒนธรรมและการค้าขายในยุคโบราณที่กว้างไกลเหลือเชื่อ อย่างในภาพนี้จะเห็นว่ามีทั้งเหรียญเงินพระอาทิตย์ที่ด้านหลังมีรูปสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบฮินดู วางโชว์ใกล้ๆ กับเหรียญโรมันสมัยพระเจ้าวิคโตรินุส และก็เหรียญโบราณนี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า “ทวารวดี” เพราะที่โบราณสถานคอกช้างดินในอู่ทองนี่เอง ที่มีการขุดพบเหรียญเงินที่จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เป็นคำว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณย” แปลว่า “การบุณย์แห่งพระเจ้าศรีทวารวดี” ซึ่งเหรียญดังกล่าวก็จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองด้วย