logo_new.jpg
รูปจีนเมื่อแรกสร้างท่าวัง-ท่ามอญ
TheThawang-Thamon NakornChinesePre-runner
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20220531_2)
ในเอกสารชั้นอยุธยา แถบที่ #ท่าวังท่ามอญ แทบทั้งนั้น
ท่าน โสพิทร์ แซ่ภู่ กับนาย Chedha Keawsakun ศึกษาค้นคว้าออกมาได้ว่า
แทบทั้งนั้นเป็นที่กัลปนาแด่พระในพระบรมธาตุแทบทั้งนั้น
ครั้นต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อกว่า ๒๐๐ ปีก่อน
ปรากฏในรูปแผนที่และบันทึกว่าเกิดเป็นร้านย่านตลาดแล้ว
ในรายงานตรวจราชการของ #เจ้าพระยายามราช (ปั้น สุขุน)
สมัยยังเป็นพระยาสุขุมฯ เมื่อราว ๆ พ.ศ.๒๔๔๐
ระบุว่าได้เร่งเร้าสามจีนแห่งเมืองนครนี้ ให้สร้างตึก
เพราะคนไทยบอกว่าไม่สร้างแข่งกับพระกับเจ้า นิยมเรือนไม้มุงหญ้า
สามจีนที่ท่านระบุ คือ #จีนเฮียนปู้ #จีนซำเฮง และ #จีนซุ่นหงวน
โดยบางรายงาน มี #จีนซุ่นฮวด ปรากฏนามด้วย
รูปที่บ้านนี้มีอยู่ คือ จีนเหล่านี้
(รูป ๑) #จีนเฮียนปู้ หรือนาย #ลิ้มเฮียนปู่ ที่บอกต่อกันมาในสกุลว่า
เป็นนายเรือจากเมืองจีน มาค้าที่เมืองนคร
แล้วแต่งกัน #แม่โง้ปู่เหนี่ยว ลูกครึ่งไทยจีนคนแถววัดสบ
ดองกันกับสกุล #ขุนพรมเสนา ทางนั้น
รูปนี้ อยู่ในชุดมีบรรดาศักดิ์ฝ่ายจีน เข้าใจว่าน่าจะได้รับจากการเป็นนายเรือ
และนำข้าวกับเงินตราจากการค้าขายในนครเข้าจีน ที่กำลังต้องการมาก
รูปนี้ ลูกชายพี่ ไมตรี ลิมปิชาติ จัดมามอบให้
(รูป ๒ บน) #จีนเฮียนปู้ กับ #แม่ปู่เหนี่ยว ในอีกชุดถ่ายภาพคู่บนโต๊ะหินอ่อน
ทั้งสองนี้ถือว่าเป็นต้นสายสกุล #ลิมปิชาติ
(รูป ๒ ล่าง) ๕ ใน ๘ ลูกชายลูกหญิง ของจีนเฮียนปู้ และ แม่ปู่เหนี่ยว
ยืนซ้าย คือ #จีนซุ่นฮวด ต่อมาคือ #ขุนสุมนสุขภาร
มีลูกชาย คนหนึ่งคือ #หลวงชาติตระการโกศล
อีกคนคือ นาย #จำเริญ_ลิมปิชาติ นายกเทศมนตรีเทศบาลสมัยสร้างถนนจำเริญวิถี
๒ ท่านนี้ ได้ภริยาในสายสกุล สุขุม ของท่านปั้น
ยืนขวา คือ #จีนซุ่นหงวน อีกตำนานสุดยอดเฒ่าแก่แห่งเมืองนคร
นั่งขวาสุด คือ ลูกสาวคนโต นาม #แม่อิ่ม_ตัญญพงษ์
อีก ๒ สตรี เป็นน้องสาว กับคนอื่น ๆ อีก
ที่ล้วนเป็นต้นสายของหลายสกุลจีนที่ท่าวัง-ท่ามอญ
(รูป ๓) รูปใหญ่ คือรูปวาดบนกระดาษ #จีนเฮียนปู้ รูปเล็ก คือรูป #จีนซุ่นหงวน
อยู่ในความครอบครองของ จีนซุ่นหงวน ในฐานะลูกชายคนโต
ต่อมาตกอยู่ในความครอบครองของหลานสาว นาม เยาวดี มณีกุล
เพิ่งมอบให้ไว้กับผมเพื่อนำมาประกอบการทำประวัติจีนท่าวังที่เมืองนคร
บอกว่า " ... คุณก๋งบอกว่า รูปนี้นายยิ้มเป็นคนวาดไว้ ... "
#นายเรือยิ้ม หรือ #ตันยิ้มจื้อ ผู้นี้ เป็นนายเรือจีนแต้จิ๋ว
จากเหยี่ยวเพ้งไม่ไกลจากซัวเถา
นำเรือสำเภาจีนมาค้าเมืองนครเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๓๐
แล้วได้แม่อิ่ม (รูปที่ ๔ หน้า) ลูกสาวคนโตของจีนเฮียนปู้และแม่ปูเหนี่ยวเป็นภริยา
มีลูก ๒ คน คนแรกเป็นต้นสายสกุล #สถิรกุล
คนหลังคือ #นายตันยิดเส็ง ที่ต่อมาเป็น #ขุนบวรรัตนารักษ์ (รูปที่ ๔ หลัง)
นายเรือยิ้มผู้นี้ เป็นผู้เชิญป้าย #ศาลเจ้ากวนอู จากเหยี่ยวเพ้ง
มาตั้งเป็นศาลเจ้ากวนอูที่ท่าวังเมืองนคร
และเป็นฐานของบรรดาพ่อค้าจีน ตลอดจนสมาคมพาณิชย์จีน โรงเรียนจีนในนคร ฯลฯ ตั้งแต่นั้น
ต่อมาเมื่อนายเรือยิ้มออกเรือไปค้าแล้วหายไปในทะเลคาดว่าประสบภัยถึงชีวิต
แม่อิ่ม จึงได้กับ #จีนซำเฮง หรือ #ขุนนาถจินารักษ์ นายอำเภอจีนแห่งเมืองนคร
ซึ่งมีเคหาสถานและศาลเจ้าใหญ่ที่ริมคลองท่าวังตรงตรอกท่าวังวันนี้
(รูป ๕) คือนายตันยิดเส็ง ลูกของนายเรือยิ้มกับแม่อิ่ม
กับภริยา คือ #แม่ช้อย (รูป ๖ ล่าง) ลูกของ #จีนซุ่นเห้ง
(รูป ๖ ขวาสุด - น้องชายอีกคนหนึ่งของแม่อิ่ม)
กับ #แม่อบ_ทิพยมงคล (รูป ๖ กลาง) อีกสายสกุลใหญ่
สืบจาก #หมื่นทิพยไกรลาส ในย่านท่าวัง-ท่ามอญ
พร้อมลูกหลานที่สืบสาย #สกุลบวรรัตนารักษ์ ในวันนี้
ทั้งหมดนี้ ที่คิดว่าน่าจะนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะ
และจัดแสดงที่ #ตึกยาวบวรนคร
เพื่อบอกเล่าความเป็นมาและการก่อเกิดของย่านจีนนครที่ท่าวัง-ท่ามอญ
โดยกะว่าอาจจะนำเสนอเป็นสัก ๓ ช่วงพัฒนาการ
(๑) #จีนแรกเริ่ม กลุ่มตาขุนลกและจีนปาด
ที่เข้ามาตั้งฐานในนครตอนปลายอยุธยา
#ตาขุนลก คือผู้อุปัฏฐากพระภิกษุปูจากสทิงพระ แล้วส่งไปอยุธยา
กลับมาเป็นหลวงพ่อทวดทุกวันนี้
มีฮวงซุ้ยและศาลท่านอยู่ที่แถว ๆ วันสนธ์ และ ศาลพระเสื้อเมือง
#จีนปาด คือหนึ่งในต้นสายสกุล ณ นคร
มีฮวงซุ้ยอยู่ที่ชายขอบด้านหลังของโรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา
(๒) #จีนสร้างท่าวัง_ท่ามอญ คือจีนกลุ่มนี้
ที่เข้ามานครตอนต้นรัตนโกสินทร์ แล้วตั้งมั่นในช่วงรัชกาลที่ ๕ - ๖
(๓) #จีนที่ตามมาในระยะที่สาม
ช่วงเกิดสงครามและความวุ่นวายใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่
ที่ทุกวันนี้คือกลุ่มขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจย่านท่าวัง-ท่ามอญ
ลำลอง ๆ ประมาณฯี้ก่อน สำหรับทีมคิดออกแบบครับผม
๓๑ พค.๖๕ ๐๗๐๐ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
 
 
 
 
 
Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//