รอยลูกปัด
- Details
- Written by Super User
- Category: รอยลูกปัด
- Published: 28 July 2016
- Hits: 3231
JanDeeNagara @ ChangKlang MuangNakorn (5)
จันดีนครที่ช้างกลาง นครศรีธรรมราช
: คืออะไรกันแน่
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด, รอยลูกปัด 20160727_2)
หลักฐานที่อาจนับว่าสำคัญที่สุดที่พบในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากร่องรอยคูน้ำคันดิน แนวอิฐต่าง ๆ ตลอดจนวัตถุที่พบหลายประเภทตั้งแต่เศษกระเบื้องเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ โลหะสำริด เหล็ก โดยเฉพาะเครื่องประดับทำจากหิน แก้วและทองคำ ที่ทำเป็นลูกปัด หัวแหวนแล้ว รูปโลหะสำริดที่แรกเห็น ใคร ๆ ก็เอ่ยถึง “เหวัชระ” ที่นับเป็นหนึ่งในรูปสัญญลักษณ์และเคารพสำคัญในพระพุทธศาสนาวัชรยานหรือมนตรยาน พบแพร่หลายมากในสมัยศิลปะเขมร แต่มีความแตกต่างในหลายประการ กล่าวคือ เหวัชระ ที่พบโดยทั่วไปนั้น มี ๘ เศียร ๑๖ กร ๔ เพลา แต่องค์นี้ มีกึ่งหนึ่ง คือ ๔ เศียร ๘ กร ๒ เพลา โดยบางพักตร์ปรากฏมีเขี้ยวอย่างยักษ์ ในขณะที่พระกรก็ทำมุทราต่าง ๆ ข้างหนึงถือกระดิ่งไว้ด้วย แตกต่างจากเหวัชระทั่ว ๆ ไป ที่กล่าวกันว่ามาจากทิเบต หมายถึง เทพผู้พิทักษ์ในคติพุทธมหายานแบบตันตระ หรือมนตรยาน ต่อมาพัฒนาเป็นนิกายวัชรยาน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในแถบทิเบต ภูฏาน จีน และเข้ามายังเขมรราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยเทพผู้พิทักษ์เหล่านี้จะเรียกว่า “ยิ-ดัม” โดยลามะชั้นสูงจะมียิ-ดัม คอยปกปักรักษา มีหน้าที่คอยกำราบภูตผีปีศาจและดูแลมิให้สิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้น ปรากฏเป็นชื่อ เหวัชระ, คุหยสมาช, มหามายา, สังวร, กาลจักร หรือชัมภละ เป็นต้น ที่พระพักตร์มักเรียงกันสองด้าน ๆ ละ ๓ กับเบื้องบนอีก ๑ พระกรก็มักถือหัวกะโหลก ยืนบนซากศพหรืออสูร แต่ที่สำคัญรูปโลหะสำริดที่พบนี้ เป็นศิลปะอย่างชวา มีเนื้อและลวดลายวิจิตรงดงามประณีตกว่าอย่างเขมรมาก บางท่านสันนิษฐานว่าอายุอาจร่วมสมัยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ซึ่งก่อนกว่าเหวัชระในศิลปะเขมรที่พบโดยทั่วไป
ณ ขณะนี้ ผมจึงขอสรุปข้อค้นพบและสันนิษฐานเบื้องต้น เพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อดังนี้
๑) โบราณวัตถุและโบราณสถานแห่งนี้ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูน้ำคันดิน บางตอนก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่ริมสายน้ำ มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ภายในมีทรากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ พบโบราณวัตถุหลายประเภท อาจเป็นศาสนสถานหรือนครน้อย ๆ
๒) ตำแหน่งที่ตั้ง อยู่บนคลองจันดีที่ตำแหน่งเกือบต้นน้ำ ใกล้เชิงเขาธง-เขาหลวงที่สูงชัน และเป็นเส้นทางเดินข้ามสู่เมืองนครศรีธรรมราชโบราณที่ถือเป็นอู่อารยธรรมสำคัญหนึ่งของคาบสมุทร โดยคลองจันดีนี้ไหลไปลงแม่น้ำหลวงและแม่น้ำตาปี ผ่านอำเภอฉวาง เวียงสระ และออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่นับเป็นอีกอู่อารยธรรมสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีคลองสินปุนจากคลองท่อมที่ไหลมาลงแม่น้ำตาปีอีกด้วย โดยจากคลองท่อมยังอาจเดินทางบกมายังบริเวณพื้นที่โบราณสถานนี้ได้ด้วย
๓) อายุสมัยของโบราณวัตถุที่พบ ส่วนมากอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๕ และมีความเชื่อมโยงกว้างขวาง โดยเฉพาะจากแผ่นดินใหญ่จีน อินเดีย ถึง ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่การเดินทางค้าขายทางทะเลบนเส้นทางสายไหมทะเลกำลังรุ่งเรือง และอาณาบริเวณนี้มีร่องรอยหลักฐานของอารยธรรมศรีวิชัยและพุทธวัชรยานที่สัมพันธ์กับชวาเป็นจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่ในย่านเครือร่วมกัน
๔) ในเบื้องต้นนี้ จึงขอเรียกเป็น “จันดีนคร-JanDeeNagara” ตามชื่อเดิมของถิ่น อันเป็นทั้งชื่อคลองและชื่อบ้านซึ่งเท่าที่สอบถาม ไม่มีผู้ใดรู้ความหมาย นอกจากเรียกต่อ ๆ กันมานาน มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากคำเรียกสถูปอิฐของผู้คนโบราณในสมัยศรีวิชัยจากชวา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเรียกสิ่งก่อสร้างลักษณะนี้ว่า “จันทิ-Candi” อยู่เช่นกัน
ขอเชิญท่านที่สนใจศึกษาค้นคว้าช่วยกันขยายผลต่อด้วยนะครับ
ในเบื้องต้น กำลังฝันว่าถ้าเป็นไปได้ หากจะมีการขุดค้นเพื่อการศึกษาสำรวจได้ก็จะดียิ่ง
แต่ จะอย่างไรจึงจะดี ? ผมเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันครับ
หมายเหตุ ได้แนบภาพเหวัชระอย่างเขมรและทิเบต รวมทั้งบางสิ่งที่เพิ่งพบใหม่ และ แผนที่ต่าง ๆ มาในที่นี้ด้วยแล้วครับ ขอบคุณคุณศราวุธที่ช่วยทำแผนที่ประกอบมาให้ด้วยนะครับ
๒๗ กค.๕๙