การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 23 April 2017
- Hits: 1527
เพื่อใคร...พุทธมณฑลไทย ?
For Whom, The BuddhaMonThon
(bunchar.com การพระศาสนา 20170421_1)
#งานพุทธมณฑลถวายพระพุทธองค์
#๑๑๑ปีพุทธทาส
กล่าวเสมอ ๆ ว่า พุทธมณฑลนี้คือศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก โดยเมื่อพุทธชยันตีครั้งล่า ก็ได้ข่าวว่ามีหลายมติออกมาจากหลายฝ่าย ว่าจะพัฒนาเพื่อสิ่งนั้น ถึงขั้นว่าจะมีการก่อสร้างศูนย์ประชุมพระพุทธศาสนาโลก
แต่จากการที่ผมได้มีส่วนพบปะและประชุมกับบางฝ่ายในหลายวาระโอกาสและประเทศ ไม่เคยได้ยินการเอ่ยถึงเรื่องนี้ แถมที่ไทยเราชอบประกาศว่าเราเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกนั้นก็เช่นกัน หลาย ๆ ชาติต่างพากันส่ายหัว เพราะไม่มีอะไรคืบหน้าหรือทำท่าว่าจะเป็นเช่นนั้น หากจะมีและเป็นที่ยอมรับก็คือการจัดประชุมวิสาขะบูชาโลกที่จัดได้ยิ่งใหญ่อลังการ ที่สำคัญคือการดูแลและต้อนรับขับสู้สุดยอด
ทางอินเดียถึงกับเคยจัดการประชุมใหญ่ ทวงความเป็นศูนย์กลางที่แท้ตั้งแต่เริ่งพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ
การหารือกันวันนั้นที่ผมเสนอว่าก่อนจะคิดทำจนไกลว่าจะเป็น World Destination หรือให้นักท่องเที่ยวมากันมาก ๆ แล้วปูพรมทำทั้งบริเวณ ๒,๕๐๐ ไร่ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลแถมการบริหารจัดการดูแลรักษาและบริการ ตลอดจนการเข้าถึงซึ่ง "ยากมาก" นั้น ควรคิดเป็นขั้น ๆ ว่าเพื่อผู้ใช้กลุ่มก้อนไหนบ้างและอย่างไร ?
เราได้ข้อสรุปคร่าว ๆ ว่าวันนั้นว่า
หนึ่ง เป็นสวนสาธารณะชั้นเยี่ยมและขนาดใหญ่ยักษ์ของผู้คนในย่านละแวะนั้น ๆ มาพัก มาวิ่ง มาปิคนิค มาขี่จักรยาน ออกกำลังกาย ตอนเช้า-เย็นและวันหยุด ซึ่งทุกวันนี้ก็มีสถานะที่โดดเด่นอยู่มากแล้ว
สอง เป็นบุญสถานของคนไกล มาแสวงบุญ ไหว้องค์พระทศพลฯ ประธาตุพุทธมณฑล ตลอดจนสิ่งอื่นที่มีอยู่แล้ว อาทิสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล กับ หอพระไตรปิฎกหินอ่อน ซึ่งหากมีการประสานจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมและมีวาระอันลงตัว สำหรับผู้มาในแต่ละวันธรรมดา วันหยุด กระทั่งวันเทศกาลพิเศษในพระพุทธศาสนาที่น่าจะมีคนมากันมากได้ไม่ยาก
สาม เป็นศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติภาวนา โดยอาจจะเริ่มจาก อาคารปฏิบัติธรรม และ แดนธุดงค์ ซึ่งมีอยู่แล้วทั้ง ๒ เขต โดยหากคณะสงฆ์จัดให้มีขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือน ด้วยการอาราธนานิมนต์พระและสำนักภาวนาชั้นนำของทั่วประเทศ หมุนเวียนกันมาเป็นเจ้าภาพจัด ก็ไม่น่าจะยากที่จะเกิดขึ้นจนติด ยิ่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์เป็นองค์ประธานด้วยแล้ว ยังอาจจะเพิ่มงานการอบรมและปริยัติเป็นหลักสูตรต่าง ๆ ด้วยก็ยังได้
สี่ หากมีครบสามสิ่งนี้ สุดท้าพุทธมณฑลก็จะค่อย ๆ กลายเป็นพุทธมณฑลที่แท้และสมภาคภูมิในระดับชาติของชาวพุทธไทย มีพระ มีนักภาวนา มีคนแสวงบุญ มีนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีคนมาพักผ่อนหย่อนใจต่าง ๆ เชื่อได้ว่า กิจกรรมการใส่บาตร สวดมนต์ ฟังธรรม และ นั่งภาวนา ก็จะค่อย ๆ เข้ามา ๆ ๆ
ห้า จากนั้นจึงค่อยขยับสู่สากลตามเหตุและปัจจัยตามสมควร
ผมสรุปความคิดของตนเองเท่าที่ได้นำเสนอต่อวงหารือ และที่ อ.ขวัญสรวงได้ประมวลเป็นแผนภูมิ กับที่ทบทวนและเรียบเรียงขึ้นใหม่ประเดี๋ยวนี้ ประมาณนี้ครับ
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเขาจะเห็นเป็นอย่างไร แต่ผมก็ขอทำหน้าที่เท่าที่ทำได้ประมาณนี้นะครับผม.
๒๑ เมย.๖๐