การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 14 June 2016
- Hits: 2455
The Middle Way of Mind to be Away from All Kind of Suffering
ทางดำเนินสายกลางของใจ จากแหล่งทุกข์สู่ความเป็นอิสระ
(bunchar.com การพระศาสนา 20160614)
เฉพาะในที่นี้ จะกล่าวเรื่องปฏิบัติธรรมให้หนักไปในฝ่ายดับไม่มีเหลือ คือแนวปฏิบัติที่สูงขึ้นไปตามลำดับจนถึงที่สุดของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อกล่าวถึงขั้นสูงอันเป็นการกล่าวโดยหมดจดสิ้นเชิงแล้ว ชั้นต่ำ ซึ่งเป็นเอกเทศส่วนหนึ่ง ๆ ก็เป็นอันว่าได้กล่าวด้วยแล้ว ผู้ศึกษาย่อมแยกออกได้เอง
แนวทางดำเนินอันประเสริฐของชีวิต หรือ กาย วาจา ใจ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ เรียกว่า "อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ" เป็นข้อปฏิบัติที่มีหลัก ไม่อ่อนแอจนถึงกับตกอยู่ใต้อำนาจความอยากแห่งใจ แต่ก็ไม่แข็งหรือตึงจนถึงกับเป็นการทรมานกายให้เหือดแห้งจากความสุขทางกาย เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา คือทางดำเนินสายกลาง" ไม่หย่อนไม่ตึง แต่พอเหมาะเช่นสายดนตรีที่เทียบเสียงได้ที่แล้ว
มัชฌิมาปฏิปทานี้เอง เป็นการทำชีวิตให้ประสพสุขที่แท้จริง เป็นการปฏิวัติดวงจิต โดยมีการคิดปัญหาแห่งชีวิตได้แตกหัก เป็นบทเรียน หรือแบบฝึกหัดสุดท้่าย !
คำว่า "มรรค" แปลว่า "ทาง" ในที่ทั่วไปได้แก่ทางสำหรับเดิน เฉพาะในที่นี้ได้แก่ "ทางเดินของใจ" ไม่ใช่เดินด้วยเท้า และเป็นการเดินจากแหล่งทุกข์ไปสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์หลงยึดถือและประกอบขึ้นใส่ตนด้วยอำนาจอวิชชา
คำว่า "ปฏิปทา" แปลว่า "เป็นที่ไปเฉพาะ" ได้แก่ทางอีกนั่นเอง
คำว่า "ปฏิบัติ" แปลว่า "การไต่ไป เดินไป หรือ ก้าวไป"
"การปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา" ก็คือ การไต่ไปตามหนทางสายกลาง ทางที่ประกอบด้วยองค์แปด ไปสู่ความพ้นทุกข์จากสถานะที่เต็มไปด้วยทุกข์ในส่วนใจ
การปฏิบัติธรรม โดย พุทธทาสภิกขุ หน้า ๒๒-๒๓
ภาพ การชุมนุมปฏิบัติธรรมล้ออายุ ๑๑๐ ปี พุทธทาสภิกขุ ที่ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม คืนวันที่ ๒๗ พค.๕๙