logo_new.jpg
นี้ ที่ถูกน้อง ๆ สั่งให้ทำในวันสองวันนี้
ThisWorkToBeDoneThisWeekendForBIABrothersAndSisters
(bunchar.com การพระศาสนา 20200801_4)
เมื่อตอนก่อนที่เราจะเริ่มต้นและกลายเป็น #สวนโมกข์กรุงเทพ ทุกวันนี้นั้น
พวกเราขอให้น้องชายคนหนึ่ง ซึ่งกำลังเรียนอยู่วิสคอนซิน
ทำการศึกษา ๓ หรือ ๔ กรณีศึกษา เพื่อจะเอามาปรับทำกัน
ด้วยเห็นว่าเป็นกรณีควรศึกษา เพื่อเลือกว่าอะไรไม่ทำ ? และอะไรควรทำ ?
หากจะทำ ควรทำอะไร ? และอย่างไร ?
จนเมื่อ ๒ ปีก่อน ก็เกิดความคิดว่า น่าจะศึกษาเพิ่มเติม
ตานี้มิใช่เพื่อสวนโมกข์กรุงเทพแล้ว แต่ #เพื่อกิจการพระพุทธศาสนา
พอดี สกว.อยากให้ทำด้วย ก็เลยเริ่มทำกันมาตามลำดับ
กับ ๓ กลุ่ม กรณีน่าศึกษา ว่าด้วย #การส่งเสริมการปฏิบัติธรรม
ศึกษากรณีละ ๔ กรณี
ตอนนี้ ผมสรุปสังเคราะห์กรณีการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ตามที่น้อง ๆ ทำมา
ออกมาเป็น ๙ ประเด็นน่าศึกษานี้
ท่านที่สนใจ หากอ่านแล้วอยากเสริมเติมหรือแก้ไขอะไร บอกด้วยนะครับ
ทั้งของ
วัดมเหยงคณ์ อยุธยา
วัดมเหยงคณ์ จ.อยุธยา
ทั้งของ
วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
วัดป่าสุคะโต
ชัยภูมิ
และของ ๒ สุดยอดองค์กร คือ
จากกรณีศึกษาประเด็นศาสนธรรมด้านการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม จาก ๔ กรณีศึกษา ประกอบด้วย วัดมเหยงคณ์ วัดป่าสุคะโต มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ และ สถาบันพลังจิตตานุภาพ อันเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งเป็นวัด มิใช่วัด และอยู่ในกำกับของวัด ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมในสังคมไทยร่วมสมัย ผลการศึกษา สรุปได้ว่า กรณีศึกษาด้านศาสนธรรม การส่งสริมการปฏิบัติธรรม มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
๑. กรณีศึกษาเหล่านี้ มีแนวทางและแบบอย่างที่รักษา สืบทอด จากแบบอย่างและแนวทางของอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือและกำหนดวางแนวไว้ กล่าวคือ วัดมเหยงคณ์ นับถือพระครูสังวรสมาธิวัตร (ประเดิม โกมโล) แห่งวัดเพลงวิปัสสนา วัดป่าสุคะโต สืบทอดแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ แห่งวัดสนามใน มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมป์ ในแนวทางของเถราจารย์ฝ่ายพม่าจากท่านอาจารย์เลดี อาจารย์ซายาเท็ตจี อาจารย์อูบาขิ่น และอาจารย์โกเอ็นก้า ขณะที่สถาบันพลังจิตตานุภาพนั้นสืบทอดงานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ
๒. การสืบทอดและสานต่อตลอดจนการพัฒนาสร้างสรรค์และดำเนินการ มีความเด่นชัดและเป็นที่นับถือในเชิงปฏิปทาและแบบอย่าง โดยเฉพาะบุคคลหรือคณะบุคคลผู้สืบทอด กล่าวคือ วัดมเหยงคณ์ โดยพระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี (พระภาวนาเขมคุณ) และคณะ วัดป่าสุคะโต โดยพระอาจาร์คำเขียน สุวัณโณ และคณะ ได้แก่ พระไพศาล วิสาโล พระสุรทัต พระวรเทพ พระทรงศิลป์ พระวัฒนชัย พระสุทธิศาสตร์ พระสันติพงศ์ พระสมใจ ฯลฯ สถาบันพลังจิตตานุภาพ มีพระอาจาย์วิริยังค์ สิรินธโร (พระพรหมมงคลญาณ) กับคณะกรรมการสถาบันในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่คณะกรรมการมูลนิธิ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการคุณวัฒน์ คณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการหลักสูตรต่าง ๆ ตลอดจนผู้ดูแลสาขา คณะกรรมการทำงานต่าง ๆ ผู้ช่วยสาขา ใน ๒๓๐ สาขาทั่วประเทศ และคณะกรรมการในสาขาต่างประเทศ ๗ สาขา มีคณะพระวิทยากร กับอาจาริยสาทั่วประเทศกว่า ๑,๗๐๐ คน ขณะที่มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายจากอินเดีย มีศูนย์กระจายอยู่ทั่วโลกกว่า ๙๐ ประเทศ ขณะนี้มี ๙ ศูนย์ในประเทศไทย กำลังก่อตั้งเพิ่มอีก ๓ ศูนย์ อยู่ภายใต้คณะกรรมการมูลนิธิ มีคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการศูย์ปฏิบัติธรรม และ ธรรมบริกรที่ล้วนผ่านการอบรมและปฏิบัติมาก่อนเป็นอาสาสมัครผู้รับใช้ธรรมมะ
๓. มีหลักสูตรและกำหนดการที่ชัดเจนและดำเนินหลักสูตรอย่างเป็นระบบแบบแผนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ทั้งที่เป็นหลักสูตรประจำและที่จัดเสริมในวาระ โอกาส และ หลักสูตรมีความหลากหลาย รองรับผู้สนใจศึกษาหลายกลุ่มและระดับ รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาการปฏิบัติธรรมขึ้นไปตามลำดับ แก่คณะต่าง ๆ วัดมเหยงคณ์ มีทั้งการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ประจำเดือนตลอดปี ท้งหลักสูตรคนใหม่และคนเก่า กับการบวชเนกขัมมภาวนานอกเทศกาล ทุกวัน ในเทศกาลสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และวันประเพณีไทย บวชวันละ ๓ รอบ รวมถึงรุ่นพิเศษตามสาขาต่าง ๆ ตลอดจนในสถานที่อื่น ๆ และ แก่องค์กรต่าง ๆ วัดป่าสุคะโต มีคอร์สปฏิบัติธรรมประจำเดือนตลอดปี พิเศษตามวาระและต่างสถานที่ในหลายจังหวัด และจัดขึ้นโดยเฉพาะ มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์ มีหลักสูตร ๑๐ วันทั่วไป ๑๐ วันสำหรับผู้บริหาร ๑ วันศิษย์เก่า ๓ วันศิษย์เก่า ตลอดจนหลักสูตรระยะยาว สำหรับผู้ผ่านหลักสูตรต่าง ๆ มาแล้ว ได้แก่ หลักสูตรสติปัฏฐาน ๒๐ วัน ๓๐ วัน ๔๕ วัน ๖๐ วัน รวมถึงหลักสูตรสำหรับเด็กและเยาวชน ๑ วัน ขณะที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ มีหลักสูตรครูสมาธิ ๒๐๐ ชั่วโมง ทั้งภาคจันทร์-ศุกร์ ตอนเย็น และภาคเสาร์—อาทิตย์ เต็มวัน แบ่งเป็นขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง กับยังมีหลักสูตรชินนสาสมาธิ (การชนะใจตนเอง) ๑ วัน และ ๓ วัน หลักสูตรนิรสาสมาธิ(เน้นการปฏิบัติ) ยุวสาสมาธิ(สำหรับเยาวชน) ปุราสมาธิ(สำหรับครูสมาธิ) อัตถสาสมาธิ(ธรรมศึกษา) สัคคสาสมาธิ(ยกใจสู่สวรรค์)
๔. มีการบริการจัดการหลักสูตร องค์คณะผู้สอน ให้คำปรึกษา ชี้แนะและตอบคำถาม รวมทั้งการสอบอารมณ์กรรมฐาน สอดประสานกับหลักสูตร ตั้งแต่พระอาจารย์หลักและพระอาจารย์ผู้ช่วย ตลอดจนผู้ช่วย ที่กำหนดในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งธรรมจริยาสา ของสถาบันพลังจิตตานุภาพ และ ธรรมบริกร ของมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในพระสังฆราชูปภัมภ์
๕. มีการจัดการเชิงระบบต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องอาคารสถานที่ บริการพื้นฐาน พื้นที่ศึกษาปฏิบัติ อาหาร ที่พัก ตลอดจนการสื่อสารส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การสมัคร และ ทำความเข้าใจให้ความร่วมมือการเข้าร่วม ทุกกรณีศึกษาให้ความสำคัญและมีการจัดการไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าการสมัครและตอบรับการเข้าร่วม การต้อนรับลงทะเบียน การเข้าสู่ที่พัก อาคารสถานที่พัก แม้กระทั่งชุดแต่งกายในระหว่างปฏิบัติธรรมก็มีจัดไว้ให้ในบางกรณี พื้นที่ศึกษาปฏิบัติธรรมอันสัปปายะ พร้อมระบบเสียงที่ดี รวมถึงระบบบริการอาหาร น้ำปานะและเครื่องดื่ม
๖. ไม่มีอัตราและการคิดค่าใด ๆ ในทั้ง ๔ กรณีศึกษา เน้นการจัดให้เป็นธรรมทานของวัด องค์กร และผู้มีส่วนร่วมในลักษณะของการรับใช้ธรรมะ หากผู้ใดได้รับประโยชน์ก็ชวนเชิญเข้าร่วมรับใช้ธรรมะและให้บริการกันต่อ ๆ ไป โดยปัจจัยในการดำเนินการทั้งหมดมาจากการบริจาคทำบุญของผู้เห็นประโยชน์ต่าง ๆ
๗. มีหมู่คณะ ศูนย์สาขา เครือข่ายเชิงกระบวนการแบบขยายวง ในการสร้างเสริมขบวนการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมโดยพุทธศาสนิกฝ่ายฆราวาสขับเคลื่อน ทั้ง ๔ กรณีศึกษาล้วนมีการทำงานเชิงกระบวนการผ่านหมู่คณะท่ามกลางเครือข่ายงานธรรมทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ก่อเพิ่มขึ้น พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี (พระภาวนาเขมคุณ) วัดมเหยงคณ์ เป็นองค์วิทยากรหลักและร่วมอบรมปฏิบัติธรรมกับยุวพุทธิกสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ยังมีการก่อตั้งศูนย์และสาขาสถานปฏิบัติธรรมขึ้นอีก ... แห่ง ขณะที่วัดป่าสุคะโต อยู่ในเครือข่ายงานธรรมคณะศิษย์หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ก่อรูปเป็นสถาบันสติปัฏฐาน มีเครือข่ายพื้นที่จัดอบรมปฏิบัติธรรมเป็นประจำในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร (ร้านเลม่อนฟาร์ม, อาคารธรรม ดีรุ่งโรจน์, ครุสติสถาน, สวนโมกข์กรุงเทพ ฯ) นครราชสีมา (อาศรมวิริยะธรรม) ระยอง (ธรรมคีตศิลป์) ขอนแก่น (วัดนวการาม) ขณะที่มูลนิธิส่งเสริมวิปัสนากัมมัฏฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์ มี ๙ ศูนย์ในประเทศไทย (ศูนย์ธรรมกมลา-ปราจีนบุรี, ธรรมอาภา-พิษณุโลก, ธรรมสุวรรณา-ขอนแก่น, ธรรมกาญจนา-กาญจนบุรี, ธรรมสีมันตะ-ลำพูน, ธรรมธานี-กรุงเทพ, ธรรมโปราโณ-นครศรีธรรมราช, ธรรมจันทปภา-จันทบุรี และ ธรรมปุเนติ-อุดรธานี และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก ๓ ศูนย์ ที่จังหวัดนครสวรรค์ นครราชสีมาและ นครปฐม ท่ามกลางเครือข่ายใหญ่ทั่วโลกถึง ๙๐ ประเทศ ส่วนสถาบันพลังจิตตานุภาพ ซึ่งก่อตั้งและเริ่มอบรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีผู้เข้ารับการอบรมสำเร็จคณะแรก ๘๐ คน ขณะนี้ มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า ๘๐๐,๐๐๐ คน มีศูนย์สาขากระจายทั่วประเทศและต่างประเทศแล้วกว่า ๒๖๗ สาขา ที่อยู่ต่างประเทศในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มี ๑๐ สาขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขับเคลื่อนโดยฆราวาสที่ผ่านการอบรมปฏิบัติธรรมรับผลแล้ว ร่วมไม้ร่วมมือกันสนองงานต่อเนื่องในลักษณะรับใช้ธรรมะและครูบาอาจารย์
๘. มีสัญญะ พิธีกรรม และกลยุทธเฉพาะผูกใจในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมร่วมกัน ดังเช่น วัดมเหยงคณ์ นอกจากจะตั้งอยู่ในโบราณสถานสำคัญริมเกาะเมืองอยุธยา ยังมีการสร้างอาคารสถานต่าง ๆ พร้อมระบบรองรับสนับสนุนการอยู่ภาวนาที่สัปปาะและสมบูรณ์พร้อม ที่น่าศึกษายิ่งคือการจับวรเนกขัมมภาวนาทั้งในช่วงเทศกาลและประจำวัน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลายพันคนในแต่ละช่วงเทศกาลซึ่งส่วนในการเหนี่ยวนำสู่การเรียนรู้ปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น ๆ ตามลำดับ โดยทางวัดยังมีระบบการสื่อสาร ถ่ายทอด บันทึก เผยแผ่และออกอาการกระจายเสียงอย่างต่อเนื่องหลายช่องทาง ขณะที่วัดป่าสุคะโตนอกจากตั้งเป็นสถาบันสติปัฏฐานที่มีหลักสูตรประจำเดือน พร้อมกับมีคณะวิทยากรพร้อมออกสอนตามสถานที่ในเครือข่ายต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยมี ๒ กิจกรรมสำคัญประจำปีที่ถือเป็นการร่วมปฏิบัติภาวนาร่วมกัน คือ กิจกรรมธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว ที่ริเริ่มโดยหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ และงานปฏิบัติธรรมอาจริยบูชาหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ทั้งที่วัดป่าสุคะโต และที่สวนโมกข์กรุงเทพ ส่วนสถาบันพลังจิตตานุภาพ มีกิจสำคัญประจำปีที่ทุกหลักสูตรและศูนย์สาขา จะต้องนำผู้อบมรมเข้าร่วมสอบปฏิบัติภาคสนาม ณ ดอยอินทนนท์ เป็นเวลา ๔ วัน ๓ คืน ขณะที่มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์นั้น มีศูนย์รวมใจอยู่ที่ศูนย์พุทธศาสน์สากล นครมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย
๙. อีกประเด็นน่าศึกษา จากทั้ง ๔ กรณีศึกษานี้ มี ๓ กรณีที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ครูบาอาจารย์จะชรามากหรือล่วงลับไปแล้ว หากมีการออกแบบและประสานจัดการที่ดี การส่งเสริมการปฏิบัติธรรมไม่เพียงจะยังสืบสานต่อเนื่องได้ แต่ยังขยายตัวได้อย่างมาก ดังเช่น ของสถาบันพลังจิตตานุภาพ ที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๐ และจดทะเบยนเป็นมูลนิธิเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ เมื่อพระอาจารย์วิริยังค์ มีอายุ ๘๐ – ๙๐ ปีแล้ว เช่นเดียวกับของวัดป่าสุคะโต และ มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์
๑ สค.๖๓ ๐๙๕๐ น.
บ้านท่าวัง สะพานควาย กทม.
 
 
 
 
 
Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//