การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 26 December 2020
- Hits: 1137
อาจาริยวาท สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินธโร)
HomageTheBuddhistGreatMaster
(bunchar.com การพระศาสนา 20201224_8)
ในวาระกาลละสังขาร ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓
ตลอดระยะเวลากว่า ๒๖๐๐ ปี ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรมและเผยแผ่แก่ผู้คนสืบมาจนเป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งของโลกที่แผ่ขยายไปทั่วพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายในแต่ละพื้นที่ในลักษณะต่าง ๆ ทั้งขยายวงและถดถอย เฉพาะในประเทศไทยที่บรรพชนบนผืนแผ่นดินนี้ได้เลือกรับไว้จนกำหนดให้เป็นศาสนาหลักประจำชาติ ได้รับการยอมรับในสากลว่าเป็นประเทศศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก ก็มีลักษณาการเช่นเดียวกัน มีทั้งรุ่งเรืองงามสง่าและหม่นหมองเป็นที่น่าห่วงใย โดยมีการปรับปรุงพัฒนาและริเริ่มใหม่ ๆ ในกิจการพระพุทธศาสนาไทยเป็นจำนวนไม่น้อย มูลนิธิ
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives
จึงน้อมนำวาระรำลึก ๑๑๑ ปี ของพุทธทาสภิกขุ พ.ศ.๒๕๖๐ ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย สังเคราะห์บทเรียนในเชิงหลักคิด หลักปฏิบัติจากกรณีศึกษาที่จะเกิดประโยชน์ในการขยายผลและจรรโลงการพระพุทธศาสนาในสังคมไทยสืบไป โดยในระยะแรก มุ่งในกิจการพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ๓ ด้าน ประกอบด้วย ด้านศาสนธรรม การส่งเสริมการปฏิบัติธรรม, ด้านศาสนสมบัติ และด้านศาสนประเพณี พิธีการ ในวัดและองค์กรทางพระพุทธศาสนา ด้านละ ๔ แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนลักษณะ ระดับ ขนาด และพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นั้นเฉพาะกรณีศึกษาประเด็นศาสนธรรม ด้านการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม จาก ๔ กรณีศึกษา ประกอบด้วย #วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ เป็นวัดป่าในชนบท ขนาดกลาง, #วัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดบ้านชานเมือง ขนาดกลาง, #มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ในพระสังฆราชูปถัมป์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสาธารณกุศลขนาดใหญ่ และ #สถาบันพลังจิตตานุภาพ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิกำกับโดยวัด ขนาดใหญ่ อันเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งเป็นวัด มิใช่วัด และอยู่ในกำกับของวัด ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมในสังคมไทยร่วมสมัย ผลการศึกษา สรุปได้ว่า กรณีศึกษาด้านศาสนธรรม การส่งเสริมการปฏิบัติธรรม มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
๑. มีแนวทางและแบบอย่างที่รักษา สืบทอด จากแบบอย่างและแนวทางของอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือและกำหนดวางแนวไว้ กล่าวคือ #สถาบันพลังจิตตานุภาพ นั้นสืบทอดงานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ
๒. การสืบทอดและสานต่อตลอดจนการพัฒนาสร้างสรรค์และดำเนินการ มีความเด่นชัดและเป็นที่นับถือในเชิงปฏิปทาและแบบอย่าง โดยเฉพาะบุคคลหรือคณะบุคคลผู้สืบทอด กล่าวคือ #สถาบันพลังจิตตานุภาพ มีสมเด็จพระญาณวชิโรดม (พระอาจาย์วิริยังค์ สิรินธโร) กับคณะกรรมการสถาบันในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่คณะกรรมการมูลนิธิ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการคุณวัฒน์ คณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการหลักสูตรต่าง ๆ ตลอดจนผู้ดูแลสาขา คณะกรรมการทำงานต่าง ๆ ผู้ช่วยสาขา ใน ๒๓๐ สาขาทั่วประเทศ และคณะกรรมการในสาขาต่างประเทศ ๗ สาขา มีคณะพระวิทยากร กับอาจาริยสาทั่วประเทศกว่า ๑,๗๐๐ คน
๓. มีหลักสูตรและกำหนดการที่ชัดเจนและดำเนินหลักสูตรอย่างเป็นระบบแบบแผนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ทั้งที่เป็นหลักสูตรประจำและที่จัดเสริมในวาระ โอกาส โดย หลักสูตรมีความหลากหลาย รองรับผู้สนใจศึกษาหลายกลุ่มและระดับ รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาการปฏิบัติธรรมขึ้นไปตามลำดับ แก่คณะต่าง ๆ #สถาบันพลังจิตตานุภาพ มีหลักสูตรครูสมาธิ ๒๐๐ ชั่วโมง ทั้งภาคจันทร์–ศุกร์ ตอนเย็น และภาคเสาร์–อาทิตย์ เต็มวัน แบ่งเป็นขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง กับยังมีหลักสูตรชินนสาสมาธิ (การชนะใจตนเอง) ๑ วัน และ ๓ วัน หลักสูตรนิรสาสมาธิ (เน้นการปฏิบัติ) ยุวสาสมาธิ (สำหรับเยาวชน) ปุราสมาธิ (สำหรับครูสมาธิ) อัตถสาสมาธิ (ธรรมศึกษา) สัคคสาสมาธิ (ยกใจสู่สวรรค์) เป็นต้น
๔. มีการบริการจัดการหลักสูตร องค์คณะผู้สอน ให้คำปรึกษา ชี้แนะและตอบคำถาม รวมทั้งการสอบอารมณ์กรรมฐาน สอดประสานกับหลักสูตร ตั้งแต่พระอาจารย์หลักและพระอาจารย์ผู้ช่วย ตลอดจนผู้ช่วย ที่กำหนดในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งธรรมจริยาสา ของ #สถาบันพลังจิตตานุภาพ
๕. มีการจัดการเชิงระบบต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องอาคารสถานที่ บริการพื้นฐาน พื้นที่ศึกษาปฏิบัติ อาหาร ที่พัก ตลอดจนการสื่อสารส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การสมัคร และ ทำความเข้าใจให้ความร่วมมือการเข้าร่วม ทุกกรณีศึกษาให้ความสำคัญและมีการจัดการไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าการสมัครและตอบรับการเข้าร่วม การต้อนรับลงทะเบียน การเข้าสู่ที่พัก อาคารสถานที่พัก แม้กระทั่งชุดแต่งกายในระหว่างปฏิบัติธรรมก็มีจัดไว้ให้ในบางกรณี พื้นที่ศึกษาปฏิบัติธรรมอันสัปปายะ พร้อมระบบเสียงที่ดี รวมถึงระบบบริการอาหาร น้ำปานะและเครื่องดื่ม
๖. ไม่มีอัตราและการคิดค่าใด ๆ ในทั้ง ๔ กรณีศึกษา เน้นการจัดให้เป็นธรรมทานของวัด องค์กร และผู้มีส่วนร่วมในลักษณะของการรับใช้ธรรมะ หากผู้ใดได้รับประโยชน์ก็ชวนเชิญเข้าร่วมรับใช้ธรรมะและให้บริการกันต่อ ๆ ไป โดยปัจจัยในการดำเนินการทั้งหมดมาจากการบริจาคทำบุญของผู้เห็นประโยชน์ต่าง ๆ
๗. มีหมู่คณะ ศูนย์สาขา เครือข่ายเชิงกระบวนการแบบขยายวง ในการสร้างเสริมขบวนการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมโดยพุทธศาสนิกฝ่ายฆราวาสขับเคลื่อน ทั้ง ๔ กรณีศึกษาล้วนมีการทำงานเชิงกระบวนการผ่านหมู่คณะท่ามกลางเครือข่ายงานธรรมทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ก่อเพิ่มขึ้น #สถาบันพลังจิตตานุภาพ ซึ่งก่อตั้งและเริ่มอบรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีผู้เข้ารับการอบรมสำเร็จคณะแรก ๘๐ คน ขณะนี้ มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า ๘๐๐,๐๐๐ คน มีศูนย์สาขากระจายทั่วประเทศและต่างประเทศแล้วกว่า ๒๖๗ สาขา ที่อยู่ต่างประเทศในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มี ๑๐ สาขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขับเคลื่อนโดยฆราวาสที่ผ่านการอบรมปฏิบัติธรรมรับผลแล้ว ร่วมไม้ร่วมมือกันสนองงานต่อเนื่องในลักษณะรับใช้ธรรมะและครูบาอาจารย์
๘. มีสัญญะ พิธีกรรม และกลยุทธ์เฉพาะ ผูกใจในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมร่วมกัน ดังเช่น #สถาบันพลังจิตตานุภาพ มีกิจสำคัญประจำปีที่ทุกหลักสูตรและศูนย์สาขา จะต้องนำผู้อบรมเข้าร่วมสอบปฏิบัติภาคสนาม ณ ดอยอินทนนท์ เป็นเวลา ๔ วัน ๓ คืน
๙. อีกประเด็นน่าศึกษา จากทั้ง ๔ กรณีศึกษานี้ มี ๓ กรณีที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ครูบาอาจารย์จะชรามากหรือล่วงลับไปแล้ว หากมีการออกแบบและประสานจัดการที่ดี การส่งเสริมการปฏิบัติธรรมไม่เพียงจะยังสืบสานต่อเนื่องได้ แต่ยังขยายตัวได้อย่างมาก ดังเช่น ของ #สถาบันพลังจิตตานุภาพ ที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๐ และจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ เมื่อพระอาจารย์วิริยังค์ มีอายุ ๘๐ – ๙๐ ปีแล้ว
ซึ่งข้อค้นพบเหล่านี้ จะเกิดประโยชน์ไม่น้อย หากได้มีการพิจารณาดำเนินการต่อยอดขยายผลในลักษณะต่าง ๆ อาทิ การจัดทำคู่มือ การจัดการเรียนรู้ดูงาน ตลอดจนการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ และโครงการร่วมพัฒนา ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนองค์การทางศาสนาหรือสาธารณกุศล และผู้มีจิตศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาสามารถมีส่วนร่วมดำเนินการได้ โดยมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ขอปวารณาในการมีส่วนร่วมด้วยตามกำลังสามารถ ทั้งนี้ขอน้อมกราบเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (พระอาจาย์
วิริยังค์ สิรินธโร), คณะสงฆ์ ตลอดจนผู้มีส่วนรวมในการให้ข้อมูล ชี้แนะต่าง ๆ ในการดำเนินการครั้งนี้ ตลอดจนกราบขออภัยหากมีความบกพร่องใด ๆ
มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อิทปัญโญ
๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)