logo_new.jpg
พึงจำเริญในสังเวชนียธรรมกันให้มาก
DhammaForYourSeriouslyConsider
(bunchar.com การพระศาสนา 20220516_5)
ที่พวกเราพยายามสร้างทำบริเวณนี้เป็น #สังเวชนียสถานจำลอง
โดยการอัญเชิญสิ่งมงคลควรชวนคิดมาประกอบไว้
๑) #พระศรีมหาโพธิ์พุทธชยันตี ต้นหนึ่งเดียวเมื่อคราวนั้นสู่เมืองไทย
ปลูกมาพอดี ๑๐ ปี เมื่อวิสาขบูชาปี ๒๕๕๕
งามปานนี้ แถมดูแลต้นและกิ่งมีแกนกลาง ๑ สาขา ๔
กำลังสวยและเสริมเติมความหมายได้หลายอย่าง
แห่งหลวงพ่อสมเด็จฯ ปยุตโต ที่ก็กำลังตั้งลำต้นสูงตระหง่านงาม
๓) #โพธิ์สามสี ที่เป็นพุ่มน้อยแปลกตา ล้อมด้วยกอพุดสารพัด
๔) #ธรรมจักรศิลาร่วมสมัย พร้อมพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทรงแสดง
๓ ภาษา บาลี ไทย และ อังกฤษ
ทั้งนั้นี้เพื่อการจำเริญในสังเวชนียธรรมที่ทรงย้ำก่อนกาลดับขันธปรินิพาน ...
สังเวชนียธรรม (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช)
ภิกษุทั้งหลาย!
บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่
ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด
มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ โง่
ฉลาด มั่งมี และยากจน ล้วนต้องตาย
ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนะดิน
ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง
สุกบ้าง ดิบบ้าง ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด
มหาปรินิพพานสูตร
ที.ม. ๑๐/๑๘๕/๑๓๑-๑๓๒
---------------------------
ลองอ่านนี้ที่มีผู้ขยายความให้ไว้ครับผม
"สังเวช" ไม่ได้หมายความว่า หดหู่ใจ หมดแรงใจ
แต่ตรงกันข้าม หมายความว่า มีกำลังเรี่ยวแรงพรั่งพร้อมขึ้นมา เกิดแรงหรือกำลังใจขึ้นมา
"คำว่า "สังเวช" นั้นเป็นอย่างไร หลายคนเข้าใจแคบๆว่า "สังเวช" หมายถึง สลดหดหู่ใจ ถ้าสลดหดหู่ใจก็หมดแรง เพราะคนที่สลดหดหู่เสียแล้ว ก็เกิดความท้อถอย ใจแห้งเหี่ยว ไม่มีแรงจะทำอะไร
แต่ความจริงนั้น "สังเวช"ไม่ได้มีความหมายว่าหดหู่ใจ ไม่ได้หมายความว่าหมดแรง แต่ตรงข้าม "สังเวช" หมายความว่าเกิดกำลังขึ้น สังเวชนั้นมาจากภาษาบาลีว่า “สํเวค” เวคะ แปลว่า เรี่ยวแรงกำลัง และ สํ แปลว่า พร้อม สังเวคะ คือ มีกำลังแรงพรั่งพร้อมขึ้นมา หมายความว่า เหตุการณ์เกี่ยวกับพุทธประวัติก็ดี เกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นที่เคารพนับถือสำคัญๆ ก็ดีนั้น เป็นสิ่งที่เตือนใจให้เกิดความสังเวช คือเกิดแรงหรือกำลังใจขึ้นมาในการที่จะปฏิบัติกิจหน้าที่ ไม่ได้หมายความว่าให้หมดแรง
เหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวชที่ชัดเจนก็คือ ความตาย หรือการสิ้นสุดแห่งชีวิต ได้แก่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า (และในที่นี้ก็คือ การมรณภาพของหลวงปู่ชา) อันนี้เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เพราะทำให้ระลึกโยงมาถึงความตายของพวกเราแต่ละคน ซึ่งทางภาษาพระท่านเรียกว่า ทำให้เกิด"มรณสติ"
"มรณสติ" คือ สติระลึกถึงความตาย ให้มองเห็นธรรมดาของชีวิต ว่าความตายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปที่แน่นอนของชีวิตนี้ ที่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีความเจริญขึ้นแล้วก็มีความเสื่อมคือชรา และในที่สุดก็อวสานด้วยมรณะ คือความตาย เมื่อเห็นธรรมดาของชีวิตอย่างนี้แล้ว จะได้เกิดความรู้เท่าทัน มีสติ มองเห็นอนิจจัง เมื่อมองเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ความไม่คงอยู่กับที่ ความที่จะต้องเกิดจะต้องดับและแตกสลายไป พอมองเห็นธรรมดาอย่างนี้ เห็นความเกิดขึ้นความดับไปอย่างนี้แล้ว ผู้ที่ระลึกถึงอย่างถูกต้อง จะไม่เกิดความเศร้าสลดหดหู่ใจ แต่จะเกิดความได้คิด มองเห็นความจริงของชีวิต แล้วก็เกิดพลัง เกิดเรี่ยวแรงกำลัง ที่จะทำกิจหน้าที่ ซึ่งพระท่านเรียกว่า "ความไม่ประมาท" ส่วนผู้ที่ระลึกไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดความเศร้าสลดใจ หรือมิฉะนั้นก็จะเกิดความหวาดกลัว พรั่นพรึง อันนั้น ท่านเรียกว่าทำใจผิด ไม่มีโยนิโสมนสิการ
ผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ ระลึกถึงความตาย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปตามธรรมดาของชีวิต ก็ทำให้เกิดความไม่ประมาท เพราะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน กาลเวลาผ่านไปนั้น เป็นไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะรีรอนอนคอยเวลาอยู่ไม่ได้ จะเป็นคนเฉื่อยชาอยู่ไม่ได้ เพราะเวลาไม่รอเรา และความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งรัดตนเองในการที่จะทำกิจหน้าที่ ทำกุศลทำความดีต่างๆ
การที่เกิดความได้คิดขึ้นแล้วหันมาเตือนใจตนเอง ให้กระตือรือร้นทำการต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท อันนี้แหละเรียกว่า "สังเวช" คือทำให้เกิดความได้คิด และเกิดมีกำลังในการที่จะทำความดีงาม ในการที่จะทำกิจหน้าที่ เพราะฉะนั้น ควรจะทำความเข้าใจในคำที่เรียกว่า “สังเวช” ให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่หมายความว่า..สลดหดหู่ และหมดแรงใจ แต่ตรงข้าม หมายถึงเกิดพลังในการที่จะทำในสิ่งที่ดีงามถูกต้องต่อไป
ผู้ที่ไปนมัสการสังเวชนียสถานนั้น ถ้าไปแล้วได้เห็นสถานที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ เกิดความสลดหดหู่ใจขึ้น จะได้ประโยชน์อะไร ความหดหู่ใจนั้นเป็น"อกุศล" ดีไม่ดีก็จะเป็นถีนมิทธะ เป็นนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นความเจริญก้าวหน้าของจิต และกีดขวางความเจริญของปัญญา เป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้ไม่ก้าวหน้าในธรรม
ผู้ที่ระลึกถูกต้องเกิดสังเวชนั้น จะต้องทำให้จิตใจเป็นกุศล ถ้าเกิดเป็นอกุศลเป็นความหดหู่เสียแล้วก็กลายเป็นตรงข้าม แทนที่จะปฏิบัติธรรม ก็กลายเป็นเสื่อมถอยจากธรรม เพราะฉะนั้น การไปสังเวชนียสถานก็เป็นการไปเห็นสถานที่ ที่จะเตือนใจเราให้เกิดกุศลธรรมในใจ คือเกิดพลังแรงในการที่จะเจริญในกุศลธรรมให้มากยิ่งขึ้น
เมื่อก่อนนี้ไม่เคยนึกถึงความตาย มัวแต่สนุกสนานรื่นเริง ใช้เวลาอย่างไม่เป็นประโยชน์ มุ่งแต่บำรุงบำเรอความสุขให้แก่ตนเอง จนไม่นึกถึงว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ก็ไม่ตั้งอยู่ตลอดกาล
แต่เมื่อได้ระลึกถึงมรณะคือความตาย เกิดมรณสติขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้เกิดความได้คิด หยุดเลิกจากการที่มัวแต่ลุ่มหลงระเริงต่างๆนั้น เปลี่ยนใหม่ หันมาตั้งอยู่ใน"ความไม่ประมาท" หันมาทำกุศล ทำความดีต่างๆ การที่ได้ความได้คิด และเกิดกำลังแรงในการทำความดี นี้เรียกว่า "สังเวช"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมเทศนา แสดงในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อชา สุภัทโท เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๖ ในหนังสือ "ความเป็นกัลยาณมิตรของ หลวงปู่ชา"
## ท. ส. ปญฺญาวุฑฺโฒ - รวบรวม. ##
๑๖ พค.๖๕ ๐๗๕๐ น.
บ้านท่าวัง สะพานควาย กทม.
 
 
 
 
 
Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//