บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: บัญชาชีวิต
- Published: 30 December 2024
- Hits: 45
ส่งการบ้านนี้ร่วมเป็นมงคลรับปีใหม่นี้ครับ
MorningWorkForComming2025NewYearBlessing
(20241230_5 บัญชาชีวิต)
น้าพาครับ แม่ครับ อ่างปลาทองสองใบนี้ ที่รับไว้วันนั้น
ถือเป็นสองอ่างคู่แฝดแทนแม่แทนน้าพาด้วยก็ได้
ตรุษจีนนี้ที่ชาวท่าวังจะจัดงานกัน ก็เลยจะเชิญออกไปให้ผู้คนได้ชื่นชม
และใช้เป็นตัวแทนความระลึกและปรารถนาดี ๑๐๘ ประการกันเลย
น้อง ๆ ให้ช่วยเขียนข้อความประกอบสำหรับเป็นมงคลรับปีใหม่ ๒๕๖๘ ที่จะถึง
ก็เลยไปส่องมาเขียนได้ประมาณนี้ครับ
ส่วนภาพละเอียดครบและงามกว่านี้มาก
ตามดูได้ที่เพจ #TheLibraryAtNakorn ครับ
อ่างปลาทองกับร้อยมงคลสกุลสีดอกกุหลาบสมัยราชวงศ์ชิง
สำหรับความปรารถนาอันดีงามในชีวิตรับปีใหม่ ๒๕๖๘
TheBovornNakornChingDynastyFamilleRose
GoldenFishBasinsForAllWishes&Blessings
๑) นับเป็นคู่อ่างปลาทองที่หาครบคู่ได้ยาก ภายในเป็นหมู่ปลาทอง ๘ ตัว กำลังว่ายวนอยู่ท่ามกลางไม้น้ำใสสะอาดรอบปลาทองตัวที่ ๙ ตรงก้นอ่าง ด้านนอกประดับด้วยรูปนูนสัญญลักษณ์เครื่องมงคลบนพื้นสีฟ้าไข่นกการะเวก (เทอร์คอยซ์) ในกลุ่มสกุลสีกุหลาบ (ฟามีย์โรส) ที่มีการพัฒนาสีเคลือบแก้วและโลหะในเยอรมันในรัชสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง เมื่อศตวรรษที่ ๑๗ แล้วบาทหลวงเยซูอิตนำเข้าสู่ราชสำนักจีนเพื่อนำมาใช้ในงานถมลงยาโลหะกระทั่งจักรพรรดิหย่งเจิ้งทรงให้ขุนนางนามถังหยิงพัฒนาเตาของราชสำนักที่จิงเต๋อเจิ้นในเขตมณฑลกวางตุ้งเพื่อนำมาใช้ในงานเครื่องเคลือบสำหรับใช้ในราชสำนักจนรุ่งเรืองมากในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง มีพัฒนาการเชิงซ้อนหลายชั้น อาทิ ใช้สีที่มาจากต่างชาติ (Fencai) ล้วนเป็นสีอ่อน (Ruancai) มีการเคลือบ (Hualancai) และทำแต่ในราชสำนัก (Falancai) สำหรับใช้ในราชสำนัก (Yangcai) โดยส่วนมากจะมีสีชมพูเป็นหลักกับสีอื่น ๆ ที่อ่อนหวาน จนเป็นที่สนใจของตลาดโลกโดยเฉพาะในยุโรปและกลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของจีนที่มีชื่อเสียงผลิตจำหน่ายเป็นที่นิยมไปทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ กระทั่งเกิดการบัญญัติชื่อในแวดวงเครื่องถ้วยขึ้นที่ฝรั่งเศส ว่า Famille Rose – ฟามีย์โรส (ผู้เขียนเสนอใช้ชื่อว่าเครื่องเคลือบสกุลสีกุหลาบ ต่อเนื่องกับเครื่องศิลาดลและลายครามของจีนที่มีชื่อเสียงมาก่อน) ต่อมามีการสร้างโรงงานเครื่องเคลือบในแนวนี้ในอีกหลายประเทศในยุโรปสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ (สามารถติดตามฟังรายละเอียดโดยสรุปสังเขปได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=xako0kPJqpA ) และเข้าใจว่า เครื่องเบญจรงค์ของไทยที่เริ่มสร้างทำและนิยมแพร่หลายในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ก็น่าจะพัฒนาร่วมกันมากับงานเครื่องเคลือบสกุลสีกุหลาบนี้ ด้วยในท่ามกลางพัฒนาการของเครื่องถ้วยจีน มี Sancai และ Wucai คือ เครื่องเคลือบสามสี และ เครื่องเคลือบห้าสี โดยเบญจรงค์ของไทยที่หมายถึงเครื่องเคลือบ ๕ สีนั้น เป็นการสั่งทำจากประเทศจีนด้วยลวดลายและสีสันที่ไทยนิยม เข้าข่ายเครื่องเคลือบสกุลสีกุหลาบ เช่นกันกับเครื่องเคลือบของชาวจีนช่องแคบ หรือ เปอรานากันที่นิยมสีสันทำนองเดียวกันแต่ด้วยลวดลายนิยมของชาวช่องแคบที่นิยมเรียกว่าเครื่องถ้วยเปอรานากัน
๒) สำหรับรูปมงคลที่ปรากฏรายรอบอ่างอาจแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ที่ขอบปากอ่าง บริเวณด้านนอกของอ่าง และที่ขอบด้านล่างของอ่าง
ขอบปากอ่าง มีลายสลับตลอด เว้น ๔ ช่องกระจกมีดอกเบญจมาศและดอกโบตั๋นอย่างละ ๒ ดอกอยู่ตรงข้ามคู่กัน
ขอบด้านล่างของอ่าง เป็นลายดอกไม้คล้ายดอกโบตั๋น ๔ ดอกบานสะพรั่งให้เห็นเกสรแสดงลักษณะของสองสิ่งตรงข้ามคือหยินกับหยาง อยู่ท่ามกลางกิ่งก้านขดและดอกตูมเป็นคู่ ๆ มี ๔ ช่องกระจก วาดเป็นรูปนกน้อยกำลังเกาะกรีดปีกบินร่าเริงอยู่บนช่อดอกไม้ต่าง ๆ อาทิบัว และโบตั๋น
รอบนอกตลอดอ่าง ทำเป็นลวดลายมงคลต่าง ๆ ทั้งนูนสูง นูนต่ำและรูปวาดหลากหลายรูปลักษณะและสีสัน สลับกันบนพื้นน้ำเคลือบสีฟ้าเทอร์ค้อยซ์ นับจำนวนได้ประมาณ ๕๐ สิ่งมงคล เป็นตัวแทนของ ๑๐๘ มงคล หมายให้เป็นเครื่องระลึกถึงสิ่งดีงามที่จะมาบังเกิดกับชีวิตจิตใจของผู้พบเห็น
๓) กล่าวกันว่าอ่างปลาทองกลุ่มนี้มีความเฉพาะและยากที่จะพบสมบูรณ์และครบคู่เช่นนี้ นับเป็นอีก อ่างปลามงคลเคลือบสกุลสีกุหลาบ (ฟามีย์โรส) สมัยราชวงศ์ชิง ร่วมสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ ของการก่อสร้างตึกยาวบวรนคร และการออกมาค้าขายตั้งถิ่นฐานของคนจีนที่ท่าวัง นครศรีธรรมราช ประกอบกับเป็นผลผลิตสร้างสรรค์ของชาวตะวันออกที่นำเทคโนโลยีด้านสีของชาวตะวันตกมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จนก้าวหน้าและนำตลาดโลกในสมัยนั้น รวมทั้งในตลาดไทย คาบสมุทรและช่องแคบ กับยังเป็นตัวแทนแห่งความเป็นมิ่งมงคลของผู้คนทั้ง ๑๐๘ ประการ ส่วนช่องกระจกทั้ง ๔ ที่ด้านนอกนั้น สำหรับบวรนคร อาจหมายถึงหลักอริยสัจ ๔ ประการในพระพุทธศาสนา เช่นกันกับปลาทองทั้ง ๘ ที่อาจหมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ อันประกอบด้วยไตรสิกขา คือ ศีลหรือกายภาวนา สมาธิหรือจิตตภาวนา และ ปัญญาภาวนา ที่พึงเจริญให้มาก โดยปลาทองที่ก้นอ่างอาจหมายถึงธรรมทั้งปวงที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อันเป็นที่สุดแห่งธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้จากความจริงของธรรมชาติ
บัญชา พงษ์พานิช บวรนคร ๓๐ ธันวาคม ๖๗
ขอเชิญมาร่วมชื่นชมและใช้เป็นเครื่องเจริญมงคลให้ชีวิตในงานตรุษจีนเมืองนคร ที่ท่าวัง ๒๘ มกราคม - ๑ กุมภาพันธ์ ๖๘ นี้
๓๐ ธันวา ๖๗ ๑๑๕๕ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1702018307359951&set=pcb.1702021974026251