บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: บัญชาชีวิต
- Published: 17 April 2017
- Hits: 9086
๘๘ ปี ยุพา บวรรัตนารักษ์
ลูกสาวคนสุดท้องของขุนบวรแห่งเมืองนคร
The Youngest Daugther of KhunBovorn @ MuangNakorn
(bunchar.com บัญชาชีวิต 20170414_2)
เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ที่อาคารสำนักงานร้าน “ตันยิดเส็ง” เชิงสะพานราเมศวร์ ริมถนนราชดำเนินฝั่งตรงข้ามวัดจันทาราม ที่ต่อมาเปลี่ยนจากยี่ห้อตันยิดเส็ง ที่มีกิจการโรงสียิดเส็งจั่น และเหมืองดีบุกยิดเส็งฮวด มาเป็น บริษัท บวรพาณิชย์ จำกัด ในปี พ.ศ.๒๔๘๔
ในวัยเด็ก เข้าศึกษาที่โรงเรียนศึกษากุมารี นครศรีธรรมราช มีอาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ เป็นครูคนหนึ่งด้วย กระทั่งมารดาคือ นางช้อย บวรรัตนารักษ์ ถึงแก่กรรมในปีพุทธศักราช ๒๔๘๖ เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ – ๘ ในกรุงเทพที่โรงเรียนราชินีบน ร่วมกับเพื่อนรักที่ยังติดต่อกันถึงทุกวันนี้ อาทิ รัตยา จันฑเธียร ลิลิน ประไพหลง ไสว เพิ่มสมบัติ อร่ามศรี หุตานน ธนุ รัตนวราหะ วิไล อยู่คงดี โดยพักอาศัยกับบ้านพลเอกหลวงเสนาณรงค์ อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ นครศรีธรรมราช ที่เตาปูน ก่อนที่จะย้ายไปอยู่หอพักของสมาคมสตรีอุดมศึกษาที่รองเมืองซอย ๕ แล้วจึงอยู่กับครอบครัวสถิรกุลซึ่งเป็นญาติสนิท ที่บรรทัดทอง จนจบหลักสูตรอนุปริญญา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร่วมกับเพื่อนิสิตที่สนิทสนม อาทิ นวลศิริ เรืองวิเศษ ชัชวรินทร ทวีโภค ใบพร ม.ร.ว.ลักษณสอางค์ เกษมสันต์
กลับไปช่วยกิจการบริษัท บวรพาณิชย์ จำกัด ในหน้าที่ผู้รักษาเงินร่วมกับพี่สาว รัตนา พงษ์พานิช ซึ่งขยายกิจการอย่างมากมาย โดยรับเชิญเป็นครูสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชอยู่ ๑ ปี ก่อนที่จะแยกไปรับตำแหน่งหน้าที่ผู้ช่วยและแคชเชียร์ของธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด สาขานครศรีธรรมราช เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๓ กระทั่งลาออกก่อนเกษียณเมื่ออายุ ๕๐ ปี เพื่อร่วมดูแลและบริหารจัดการบริษัท บวรพาณิชย์ จำกัดและกิจการในเครือ กับพี่น้องและหลาน ๆ
นอกจากหน้าที่การงานดังกล่าว ยังเป็น อา-น้า ของหลาน ๆ ซึ่งเป็นลูก ๆ ของ ยุติ-จันทร์พริ้ง บวรรัตนารักษ์ สงบ-สนิท ทิพยมงคล และ รัตนา-สุธี พงษ์พานิช พักอาศัยอยู่กับขุนบวรรัตนารักษ์ที่บ้านบวรรัตน์ตลอดมา พร้อมกับขอรับหลานชาย – บัญชา พงษ์พานิช มาเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งแต่อายุเพียง ๑ ขวบ หลังจากพยายามมาก่อนกับบรรยง พงษ์พานิช
กับยังเป็นผู้ใฝ่กุศล ติดตามศึกษาพระธรรมคำสอนผ่านครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ร่วมกับกัลยาณมิตรหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าอบรมภาวนาปฏิบัติธรรมหลายที่ อาทิ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี และ สวนโมกข์นานาชาติ กับ ธรรมมาตา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สำคัญเป็นผู้ดูแลและสานงานการกุศลต่าง ๆ ของขุนบวรรัตนารักษ์และนางช้อย ร่วมกับรัตนา พงษ์พานิชอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากรับบทบาทเป็นฝ่ายรักษาเงินและเหรัญญิกของสมาคมสตรีนครศรีธรรมราช และ เหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างยาวนานตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งร่วมกับคุณพวงรัตน์ บวรรัตนารักษ์ และ รัตนา พงษ์พานิช จนค่อย ๆ วางมือลงในวัยชรา งานการกุศลที่สำคัญคือการเป็นเจ้าภาพสร้าง “พระพุทธรูปประธานพระอุโบสถถวายวัดชะเมา” และ การ “บวชบุตรบุญธรรม นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช” ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่วนรวมต่าง ๆ ตลอดมา อาทิ สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และการริเริ่มหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้สมทบทุนหลักใน “การบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิทรงไทยวัดวังตะวันตก”
๑๔ เมย.๖๐