เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 31 March 2016
- Hits: 1954
รุ่งเช้าวันอาทิตย์นี้ มีให้ทานไฟที่วัดวังตะวันตกเมืองนคร นี้นับเป็นหนึ่งเดียว ณ นครเมืองแห่งธรรม ที่กำลังฟื้นคืน ในหนังสือตามรอยธรรมที่เมืองนคร ที่ ททท.ขอให้ผมเรียบเรียงและ ททท.น่าจะเอามาเปิดตัวที่งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยที่สวนลุม ระหว่าง ๑๓ - ๑๗ มค.นี้ เขียนไว้อย่างนี้ ประเพณีมีธรรมที่เมืองนคร เช่นเดียวกับแทบทุกถิ่นทั้งทั่วประเทศไทยและในโลกนี้ที่ผู้คนชาวนครศรีธรรมราชได้สร้างสรรค์วิถีวัฒนธรรมประเพณีบนฐานของความเชื่อ ศรัทธาและศาสนา ในฐานะของเมืองแห่งอู่อารยธรรมในพระพุทธศาสนาของภูมิภาค นครศรีธรรมราชจึงมีงานประเพณีมีธรรมในพระพุทธศาสนามากมาย ทั้งระดับชุมชนท้องถิ่นจนถึงระดับชาติและนานาชาติ ที่สำคัญควรแก่การตามรอย เรียนรู้และร่วมบูชา ได้แก่
บุญให้ทานไฟ นิยมหมุนเวียนนัดทำตามวัดต่าง ๆ ในช่วงเดือนอ้ายเดือนยี่ที่มีอากาศหนาวเย็น ด้วยการก่อกองไฟให้ความอบอุ่นแก่พระภิกษุสามเณรตั้งแต่ย่ำรุ่ง แล้วพลอยทำขนมและอาหารถวายพระเป็นภัตตาหารเช้า ชาวบ้านที่ไม่ได้ตั้งกองทำขนมก็สมทบทำบุญถวาย เสร็จแล้วรับศีลรับพรก่อนที่จะร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน งานนี้ชาวนครสืบทอดทำกันมาตามธรรมเนียมแบบนัดหมายบอกปากเปล่าไปตามวัดต่าง ๆ กันก่อนหน้าวันงานไม่นาน ตลอดช่วงเดือนอ้ายเดือนยี่ที่อากาศเย็น ตอนหลัง ททท.นครได้นำมาผนวกกับงานบุญปีใหม่ที่วัดพระธาตุ แต่ไม่ต่อเนื่องจริงจังและเป็นระบบ วัดอื่น ๆ เท่าที่ผมพอรู้ ก็ทำ ๆ กัน เช่นที่คีรีวง ยกระดับนำมาจัดผนวกกับบางงานบุญสำคัญของวัด ผมเคยขอให้จัดให้หลายคณะที่เข้าไปนอนคีรีวงเป็นกรณีพิเศษ เป็นที่ประทับใจมาก เคยเสนอให้จัดระบบเป็นกิจลักษณะ ซึ่งมั่นใจว่าจะฟื้นฟูอีกประเพณีมีธรรมกลับมาได้อย่างดีและมีสีสัน ไม่แพ้ตักบาตรข้าวเหนียว หรือแม้ที่ทางเชียงใหม่จัดตักบาตรพระอุปคุตกลางคืนซึ่งอันนั้น ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะผิดพระธรรมวินัย เช่น ก่อนสิ้นปี ใครสักคณะก็ประสานนัดหมายทำตารางออกมาให้ชัดและรับรู้ทั่วกันว่าวันไหน ให้ทานไฟวัดไหน ประกาศให้ทั่วจังหวัดและประเทศ ขี้คร้านจะเกิดอีกงานเทศกาลสำคัญในเมืองนคร แต่ใครก็ไม่ขานรับ ผมก็ก็เลยรอเวลามาจนถึงวันนี้ ที่เขียนมานี้ เผื่อนายวันพระกะน้อง ๆ รุ่นนี้ จะ Get และ In แล้วเล่นต่อ เพราะดูว่าเขาทำกันเข้าท่า ตอนนี้ก็ทราบว่าให้ทานไฟผ่านไปหลายวัดแล้ว วัดศรีทวีก็ทำไปเมื่อวันที่ ๓ ที่ผ่านมา ส่วนผมติดอีกงานเสียก่อนแล้ว ฝากคนนครไปร่วมฉลองน้อง ๆ คณะนายวันพระและพวก กันด้วยนะครับ สำหรับหนังสือตามรอยธรรมที่เมืองนครเล่มใหม่ล่าสุด น่าจะขอรับได้ที่ ททท.เมืองนครแล้วนะครับ อยากให้คนนครช่วยกันอ่านและเอาไปตามรอยกันให้ทั่ว เพื่อจะได้ชวนเพื่อนมาร่วมตามรอยแล้วร่วมกันฟื้นคืนธรรมสู่บ้านเกิดเมืองนอน นครของเรา รวมทั้งบ้านเมืองอื่นทั่วทั้งประเทศไทยที่ล้วนเป็นเมืองธรรมกันทั้งนั้นนะครับ
"วัดวังตะวันตก" ในอดีต บริเวณพื้นที่วัดวังตะวันตกนี้ชาวเมืองนครฯ รู้จักกันในนามป่าขี้แรด (พืชพื้นถิ่นชนิดหนึ่ง) พื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เป็นที่ค้างศพตามประเพณีการจัดการศพในท้องที่ โดยบรรทุกศพลงเรือออกมาทางประตูผีทิศตะวันตกของกำแพงเมือง ล่องขึ้นเหนือไปตามคลองท้ายวังแล้วนำศพไปไว้บนพื้นที่ที่เป็นป่าขี้แรด เมื่อประเพณีค้างศพเลิกได้รับการนิยมจึงกลายเป็นพื้นที่เปล่า ปล่อย “ตากแดด” ทิ้งไว้จนกลายเป็นอีกชื่อเรียกละแวกโดยรอบนั้นว่า “บ้านตากแดด” ต่อมาเจ้าจอมมารดาปราง (พระสนมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ธิดาในพระเจ้านครฯ (หนู) ซึ่งได้พระราชทานแก่เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์)) ได้คิดปรับปรุงเป็นอุทยานเพื่อการพักผ่อนของท่านและบุตรชาย โดยเหตุที่อุทยานนี้อยู่ตรงข้ามกับวังตะวันออกอันเป็นนิวาสสถานของเจ้าจอมมารดาปราง ชาวเมืองจึงเรียกอุทยานนี้ว่า วังตะวันตก ครั้นเมื่อเจ้าจอมมารดาปรางสิ้นชีพิตักษัย เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ผู้บุตรซึ่งรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ต้องรับภาระจัดการพระศพ ก็ผูกพระเมรุขึ้นในอุทยานเพื่อเป็นที่ปลงศพ หลังจากนั้นจึงได้ยกวังตะวันออกให้เป็นวัด ตั้งชื่อว่าวัดวังตะวันออก และดัดแปลงวังตะวันตกให้เป็นวัดเช่นเดียวกัน เรียกกันว่า วัดวังตะวันตก
พ.ศ. ๒๓๘๐ เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้ดำริให้ก่ออิฐถือปูนสร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งบนเนินดินซึ่งเคยก่อพระเมรุปลงศพมารดา ตามธรรมเนียมเดียวกันกับงานออกพระเมรุมาศพระศพพระบิดา ณ สนามหน้าเมือง แล้วถวายชื่อว่า “พระศรีธรรมโศกราช” เพื่อเป็นกตัญญุตานุสรณ์แด่มารดา พระบิดา และเฉลิมเกียรติยศแห่งเจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราชทุกสมัย ต่อมาใน ปี พ.ศ.๒๕๐๐ พุทธบริษัทซึ่งนำโดยพระครูสมุห์อินทร์ อินทโชโต ได้พร้อมใจกันสร้างอุโบสถครอบโดยมีพระศรีธรรมโศกราชเป็นพระประธานจวบจนปัจจุบัน
วันพระ สืบสกุลจินดา เรียบเรียง