เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 28 December 2016
- Hits: 1325
๑๒ ปี สึนามิ กับบทเรียนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
12th Anniversary of Pan Indian Ocean Tsunami Lessons
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20161228_2)
ผมเริ่มบันทึกที่หน้าหาดน้ำเค็มไว้อย่างนี้ว่า
"เวลาเดียวกันนี้ที่หน้าหาดน้ำเค็ม เมื่อ ๑๒ ปีก่อน ก็คงจะไม่ต่างจากวันนี้หากไม่เกิดคลื่นคลั่งจากแผ่นดินไหวทีปลายแหลมบนเกาะสุมาตราเข้าโถมใส่ในเช้าวันที่ ๒๖ จนที่หน้าหาดนี้ทลายราบ จนผมได้ตามมานั่งอึ้ง ณ ที่เดียวกันนี้ในอีกไม่กี่วัน ก่อนที่จะวนเวียนลงมาทำอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดมาเรื่อย ๆ จนครบ ๑๒ ปี ในวันนี้ ที่ถูกตามมาร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนรู้...สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อเช้านี้ได้แวะคารวะร่างผู้เสียชีวิตที่ยังพิสูจน์อัตลักษณ์ไม่ได้ ยังทอดกายอยู่ในสุสานบางมรวนถึงทุกวันนี้อยู่อย่างยังกะถูกทอดทิ้ง
นอกจากแกนนำชุมชนชาวน้ำเค็มที่ยังพร้อมหน้า กับ คณะของมูลนิธิชุมชนไทย และ พอช.ที่ผมนับถือยิ่งแล้ว ปีนี้มีผู้แทนจาก ปภ. สสส. และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ที่มาร่วมด้วย โดยเวทีที่ตั้งอยู่ใต้ร่มสนทะเล จิกทะเลกับต้นอื่น ๆ มีลมทะเลพัดเรื่อย ๆ น่าหลับนั้น ผมได้ใช้โอกาสผ่านตาป้ายนิทรรศการดี ๆ ที่แต่ละฝ่ายเตรียมมานำเสนอ เน้นเรื่อง การจัดการภัยพิบัติชุมชน กับ สิทธิที่ดินของชุมชนชาวเล ไทยพลัดถิ่น เฉพาะเรื่องภัยภิบัติก็มีของน้ำเค็ม พังงา ท่าหิน-สทิ้งพระ อุบลราชธานี ปทุมธานี อ่าวไทยตอ บน รูปตัว “กอ” ชุมชนภูเก็ต บ่อเจ็ดลูก หลอมปืน-ละงู ขอนคลาน-ทุ่งหว้า กำพ่วน-สุขสำราญ
โดยบนเวทีมีการนำเสนอหลายบทเรียนรู้ ได้แก่
• กรณีน้ำเค็มกับการจัดการตนเองเพื่ออยู่ได้ในพื้นที่เสี่ยงสึนามิแล้วขยายเป็นเครือข่ายชุมชนจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง
• สตูลที่ขยายตัวต่อเนื่องเชิงพื้นที่-ประเด็น
• กรณีเครือข่ายคนจน สิทธิชุมชนในภูเก็ต
• กรณีชุมชนชาวเล มอแกน มอแกลน และ อูรัคลาโว๊ย กับสิทธิที่ดิน-ชุมชน
• กรณีไทยพลัดถิ่นกับการขอคืนสัญชาติความเป็นไทย
ผมได้ข้อเรียนรู้ของคนน้ำเค็มที่ชวนคนน้ำเค็มสรุปกันเองไว้ว่ามี ๑๐ เงื่อนไขสำคัญ คือ
1. ความมุ่งมั่นจริงจังของคนน้ำเค็ม โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำ
2. มีภาคีพันธมิตรคอยช่วยเหลือชี้แนะและสนับสนุนส่งเสริมต่อเนื่อง
3. การรวมตัวตั้งกลุ่มขยายวงไม่หยุดหย่อน
4. ความตื่นตัวเรียนรู้ไม่สิ้นสุด
5. การลงมือปฏิบัติจริงทันทีในแทบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง
6. การจัดการกองทุนการเงิน การออม จนเป็นธนาคารและรับบสวัสดิการกลางของชุมชน
7. การประสานเชิงรุกกับทุกฝ่ายอย่างเอาจริงเอาจังไม่รั้งรอ
8. มองไกลไปถึงแผนพัฒนาชุมชนในอนาคตอย่างยั่งยืน
9. การมีแผนเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติและการซ้อมเสมือนจริง
10. การมีใจเผื่อแผ่แก่เพื่อนผู้ประสบภัยทั่วไป ไม่คับแคบเฉพาะหมู่คณะและชุมชนของตนเอง
โดยผมเองได้ปรับเป็นข้อคิดส่วนตัวเป็นปัจจัยความสำเร็จว่าด้วย “กอ” ต่าง ๆ เพื่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าในระดับไหน ประกอบด้วย
ก.แกนนำที่มุ่งมั่นเอาจริง / ก.กลุ่มก้อนองค์กรที่เข้มแข็งหนักแน่นและขยายวง / ก.กัลยาณมิตรเครือข่ายการพัฒนาที่ร่วมด้วยช่วยกัน / ก.การเรียนรู้ไม่หยุดหย่อนอย่างตรงประเด็น / ก.กิจกรรมอย่างต่อเนื่อง / ก.กองทุนการเงินชุมชนที่สามารถเริ่มต้นหรือพึ่งตนเองได้ในระดับที่ทำได้ / ก.การประสานเชิงรุก มิใช่เอาแต่รอรับ / ก.การมีแผนพัฒนาพร้อมฐานข้อมูลที่รอบด้านได้เรื่อง / ก.การจัดการภัยพิบัติหรือบริหารความเสี่ยงที่ทุกวันนี้มีมากมายหลายมิติและขนาด มิใช่จำเพาะแต่สึนามิหรือภัยธรรมชาติเท่านั้น / ก.การแบ่งปัน ฯลฯ
แต่วันนั้นเขียนได้ไม่จบ เพราะถูกสปริงนิวส์มาหิ้วไปสัมภาษณ์ ก่อนที่จะถูกลากไปขึ้นเวที แล้วยังมีวิทยุตามมาสัมภาษณ์อีก จนตอนนี้ก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย เกรงว่าจะจดจำไม่ได้หมด จึงขอจบด้วยการรายงานพร้อมภาพตามแนบนี้นะครับ.
เอาเป็นว่านับถือทุกท่าน
ระลึกถึงทุกอย่าง
โดยเฉพาะคนที่ญาติยังหาร่างไม่เจอ
หรือที่เจอแล้วแต่ไม่รู้ได้ว่าร่างใคร
ที่สุดท้าย เราเองก็อาจจะเป็นเช่นนั้น
หากระบบการจัดการดูแลตนเองไม่ได้ดีพอ.
๒๘ ธค.๕๙