เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 21 July 2023
- Hits: 352
สิงหานี้น่าคลอดครบ ๘ ภาษา สุวรรณภูมิครับ
ThisAugust 8 Languages on Suvarnabhumi : TheGoldenLand
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20230720_5)
หลังปรึกษาหารือและปลุกปล้ำกันมาปีกว่า ๆ
วันนี้ ที่ท่านทูตสมปอง ผอ.สถาบันโลกคดีศึกษา
ได้นำต้นฉบับตัวอย่างหนังสือสุวรรณภูมิ ๖ ภาษาให้ท่าน รมว.ได้เห็น
เพื่อรายงานว่า อย่าเพิ่งเร่งครับ กำลังจะทยอยเข้าโรงพิมพ์แล้วขอรับ
รวมกัน ๘ ภาษา พม่า มลายู เขมร เวียดนาม ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน รวมไทยไทยด้วย
มีหลายคนถามมาว่าจะขอซื้อได้ที่ไหนไหม ?
หนังสือนี้ไม่ได้พิมพ์จำหน่ายครับ เป็นงานความร่วมมือกันของธัชชา
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่วงกว้างในสากล ผ่านทางเครือข่ายสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
พิมพ์เป็นเล่มจำนวนจำกัด แต่สามารถอ่านได้ทั้ง ๘ ภาษา ในลักษณะ E Book ครับ
น่าจะภายในเดือนสิงหาคมนี้ครับ มี Pairot Singbun ตัวการครับผม
นี้ครับ คำนำของผมในเล่ม ...
ในรอบศตวรรษที่ผ่านมามีการศึกษาค้นคว้าว่าด้วยสุวรรณภูมิซึ่งมีการกล่าวขานถึงในหลายบันทึกหลักฐานแทบทั่วทั้งโลกมานับพันปีทั้งในระดับสากลและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายมิติว่ามีอยู่จริงไหม อย่างไร และที่ไหน จนกระทั่ง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสมเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ.(GISTDA) ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ดำเนินการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ – ๖๒ และตีพิมพ์เป็นหนังสือสองเล่ม คือ “SUVARNABHUMI : The Golden Land, The New Finding on 2018 collected paper For Suvarnabhumi Terra Incognita” และ “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก SUVARNABHUMI TERRA INCOGNITA” ซึ่งได้ผลสรุปว่าปรากฏหลักฐานเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทั้งในระดับภูมิภาคและสากลสอดคล้องกันว่ามีสุวรรณภูมิอยู่ในอาณาบริเวณที่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกวันนี้ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่เริ่มปรากฏรัฐและชาติต่าง ๆ ตามลำดับ ที่สำคัญคือมีคุณค่า ๕ ประการ ประกอบด้วย (๑) อยู่บนสะพานเชื่อมโลกที่เต็มไปด้วยของดีมีค่า, (๒) เป็นย่านผ่านไปมา ตั้งถิ่นฐาน ทำการค้า ก่อตัวนานาเมือง นคร รัฐและอาณาจักร, (๓) เป็นดินแดนแลกเปลี่ยนและสั่งสมวิทยาการ เทคโนโลยีและการผลิตสำคัญของโลก, (๔) เป็นชุมทางและสถานีการค้าสำคัญของโลก และ (๕) เป็นอู่แห่งศิลปะและอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่
โดยในปี พ.ศ.๒๕๖๔ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม ได้จัดตั้งสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา หรือ Suvarnabhumi Studies Center ให้เป็น ๑ ใน ๕ สถาบันในวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) เพื่อทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย จัดทำฐานข้อมูล พัฒนากำลังคน และนำพาสู่การพัฒนาต่อไป และเพื่อการขยายผลการศึกษาด้านสุวรรณภูมิศึกษาให้กว้างขวางขึ้น สถาบันสุวรรณภูมิศึกษาจึงได้ร่วมกับสถาบันโลกคดีศึกษาในการแปลและจัดพิมพ์บทสรุปเบื้องต้นจากงาน “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก SUVARNABHUMI TERRA INCOGNITA” เพื่อการสืบค้น ศึกษา ค้นคว้า หาคำตอบเชิงลึกและขยายผลเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ชีวิตวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทย ตลอดจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมกันเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งในประชาคมโลก ที่พื้นที่ที่เป็นสุวรรณภูมิอันเป็นที่ตั้งของประชาคมอาเซียนมาจนถึงทุกวันนี้ยังมีศักยภาพและความหมายนานัปการสืบเนื่องตลอดมา
ในนามของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ขอขอบพระคุณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสมเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ.(GISTDA) ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่เป็นหน่วยริเริ่มดำเนินการจนเกิดการขับเคลื่อนขยายวงนี้โดยสถาบันโลกคดีศึกษา วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เป็นหน่วยประสานจัดการให้กับสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาในช่วงระยะแรกนี้ด้วย
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา (พ.ศ.๒๕๖๔ - ๒๕๖๖)
วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และ ศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
๒๐ กรกฎา ๖๖ ๒๑๑๒ น.
บ้านท่าวัง สะพานควาย กทม.