เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 12 January 2017
- Hits: 1437
ผมว่าโลกเรานี้กำลังป่วย กับ ๕ กรอบ ๓ จังหวะ ๗ ประเด็น
Steps On Our Sickly World
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170110_2)
เมื่อวานตอนเช้า น้องคนขับแท็กซี่ชาวอำนาจเจริญเปรยกับผมอย่างนี้ จากสภาพมัวซัวของฟ้าบางกอกที่บอกไม่ถูกว่าฤดูอะไร หนาวหรือฝน ? แล้งหรือร้อน ?
ถึงตอนนี้ การพยากรณ์อากาศก็บอกได้ว่า ลีลาฟ้าฝนเมฆหมอกนั้นไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะความกดอากาศจากเบื้องบนทางตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นไปในจีนและทางตะวันตกเฉียงใต้ลงไปในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงแบบบอกไม่ถูก จนฝนฟ้าพากันมาถล่มถึงประจวบ จนกระทั่งที่กรุงเทพและบริเวณที่ราบภาคกลางจนถึงแปดริ้วบางปะกงที่ผมมานั่งทำงานอยู่
ขออนุญาตนำบทเรียนรู้ที่ได้สรุปไว้เมื่อคราว ๓ ปี สึนามิมาบอกเล่า เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ดังนี้
เมื่อหลังสึนามิที่บ้านเราเมื่อปลายปี ๔๗ หรือ ๑๒ ปีก่อน พอ มกราคม ๔๘ ชาวโลก ๑๖๘ ประเทศก็นัดไปหารือกันที่โกเบ ซึ่งผ่านแผ่นดินไหวใหญ่ตายเป็นเบือเมื่อ ๑๐ ปีก่อน คือ ๒๕๓๘ เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการ ๑๐ ปี เพื่อให้โลกนี้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ที่เรียกว่ากรอบงานเฮียวโกะ ๕ ประการ โดยคาดหวังว่าภายในปี ๕๘ ความสูญเสียจากภัยพิบัติจะลดลง ประกอบด้วย
๑) การให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงเป็นอันดับแรก
๒) มีการประเมิน ติดตาม เตือนภัยที่ดี
๓) สร้างเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างจริงจัง
๔) ลดความเสี่ยงอย่างจริงจัง
๕) สร้างเสริมการเตรียมความพร้อมให้เข้มแข็งเพื่อรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ
ทั้งนี้ เท่าที่พวกเราประมวลการบริการจัดการภัยพิบัติที่มีการพัฒนากันนั้น มีการวางไว้ ๓ จังหวะ ๗ ประเด็น คือ
๑ - ก่อนเกิดภัย มี ๓ ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง - ความทรงจำตื่นตัวตระหนักรับรู้เรื่องภัยพิบัติ ดังเช่นที่ ณ ขณะนี้ที่พวกเรากำลังเป็นกันอยู่ แต่มักจะลดลงเรื่อย ๆ หลังจากนี้เป็นต้นไป
สอง - ความพร้อมเผชิญและอพยพอย่างปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่า ณ ขณะนี้ แต่ละท่านแต่ละที่ก็น่าจะพอรู้ตัวรู้ตน ตลอดจนรู้เพื่อนบ้าน รู้ท้องถิ่น รู้จังหวัด รู้ประเทศ นี้แล้วว่ามีความพร้อมเผชิญและอพยพในระดับใด
สาม - การลดระดับความรุนแรงและสูญเสียที่จะเกิดขึ้นหากมีภัย
ทั้งสามประเด็นนี้จะต้องมีอยู่พร้อมก่อนการเกิดภัย มิใช่เกิดภัยแล้วจึงเรียกหานะครับ
๒ - เมื่อเกิดภัย มี ๒ ประเด็น คือ
สี่ - ปฏิบัติการพิเศษในภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ตนเอง เพื่อนบ้าน ชุมชน-ท้องถิ่น อำเภอ-จังหวัด รัฐบาลกลาง ซึ่งเท่าที่เผชิญและติดตามมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ดูเหมือนว่าจะลงเอยที่การช่วยตัวเองและเพื่อนบ้านกับคนรู้จักหรืออาสาสมัครเป็นหลัก ไม่ว่าจะกรณีเมื่อน้ำท่วมครึ่งประเทศก็เป็นอย่างนั้น
ห้า - ปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตในขณะเกิดภัย อันนี้เกือบจะเป็นสิ่งเดียวที่ประเทศไทยเราดูเหมือนว่าจะโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งระบบอาสาสมัครกู้ภัยกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
๓ - หลังจากภัยพิบัติ มี ๒ ประเด็น คือ
หก - การบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือหลังภัยพิบัติ อันนี้ดูว่าจะเป็นของถนัดที่สุดของสังคมไทย ไม่ว่าจะคนบริจาค คนแจก แม้กระทั่งการการบริหารจัดการงบฉุกเฉินเพื่อแจกกันจนแหลกไปข้างหนึ่ง ดังเช่นเมื่อน้ำท่วมครึ่งประเทศก็ได้ตามกวาดล้างขบวนการฉ้อฉลเป็นการใหญ่ จนแม้ขณะนี้ที่กำลังจะล้นทะลักและอาจจะกลายเป็นอีกภัยที่ตามมาอย่างเหลือเชื่อก็ได้
เจ็ด - การฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ อันนี้มักจะค่อย ๆ ซาลงจนต้องดิ้นรนกันเองตัวใครตัวมัน คาดหวังอะไรได้ไม่มาก จนกว่าจะมีภัยครั้งใหม่กลับมาอีก อย่าหวังที่จะวนได้จนครบวงจร ๗ ประเด็น ๓ จังหวะ ๕ กรอบ
ทั้งนี้เมื่อครั้งนั้น ได้ทราบว่ารัฐไทยได้ออกแผนแม่บทฯ ๒๕๕๐ เป็นหลัก ๑๑ ข้อไว้ ซึ่งผมไม่ทราบว่ามาถึง ๑๐ ปีนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง แต่อ่านแล้วก็คิดว่าน่าจะยังไม่เท่าไหร่ ลองอ่านกันเองก็แล้วกันนะครับ.
๑. การป้องกันด้วยกลยุทธ์เชิงรุก
๒. เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการกับหน่วยงานรับผิดชอบ
๓. เน้นความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการด้วยระบบบัญชาเหตุการณ์ (Incidence Command System-ICS)
๔. เน้นการสร้างระบบบริหารจัดการภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBDRM) ในการเตรียมชุมชนตนเองให้มีความพร้อมพอ
๕. เน้นระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ สอดประสานตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ
๖. เน้นระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งระบบหลักและสำรอง
๗. เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในหมู่ประชาชนพลเมือง อาสาสมัคร ภาคเอกชน มูลนิธิการกุศลและบุคลากรภาครัฐ
๘. เน้นการสร้างระบบอาสาสมัคร
๙. เน้นการสร้างระบบเครือข่ายความร่วมมือนานาประเทศ
๑๐. เน้นการเรียนรู้จากบทเรียน กรณีศึกษา ประสบการณ์จริง
๑๑. เน้นการสร้างระบบประกันภัยให้ครอบคลุม
ทั้งหมดนี้ อยู่ใน ๒๐ หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ที่เราพิมพ์ออกมา ๒ ภาษา ในชื่อว่า "สู่ความพร้อมพอต่อนานาภัย...ในอนาคต" (หลักคิดและแนวทางจัดการภัยพิบัติ...ถอดรหัสจากกรณีศึกษา "สึนามิ" ของประเทศไทย) หากมีท่านใดสนใจ จะจัดส่งฉบับ pdf ให้เอาไปใช้นะครับ.
๑๐ มค.๖๐