logo_new.jpg

คืองานเดือนสิบที่เมืองนครในปีที่ ๑๐๐
OnNakornDuearnsibCentenary
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20231201_1)
พอดีฝากพ่อ ปิติ ระวังวงศ์ ถามพ่อ วันพระ สืบสกุลจินดา บก.สารนครว่า
ผ่านเดือนสิบ ๑๐๐ ปีมาแล้ว จะมีหมายเหตุอะไรส่งท้ายทสักหน่อยไหม
หรือว่าจะให้ผ่านเลย
ฟังมาว่าให้ลองเขียนส่งไปดูได้
เช้านี้ก็เลยลองร่ายตามนี้ เผื่อว่าจะได้รับการพิจารณา
แต่ถ้าไม่ ก็โพสไว้เลยดีไหม ? ตามนี้ แล้วแต่ บก.ครับผม
แต่ว่าภาพอาจมีมากกว่านี้ครับ
ถามว่าในจังหวะครบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๖๖ ที่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมกันจัดงานเทศกาลในลักษณะสวนสนุกและตลาดในปี พ.ศ.๒๔๖๖ เพิ่มจากงานประเพณีบุญเดือนสิบที่มีกันตามวัดต่าง ๆ เนิ่นนานมานั้น เป็นอย่างไรบ้างนั้น นอกเหนือจากงานที่จัดขึ้นในอำเภอต่าง ๆ หลายอำเภอแล้ว เฉพาะในตัวเมืองนครศรีธรรมราชมีการจัดงานในลักษณะสวนสนุกและตลาดในระดับกว้างขึ้น ๕ งาน โดยมี #งานหลักของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถือเป็นงานที่จัดสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๖ โดยปีนี้จัดที่สวนสาธารณะทุ่งท่าลาดตามที่จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ มีกิจกรรมสำคัญที่ทางจังหวัดประกาศว่าเป็นงานพิเศษในวาระ ๑๐๐ ปี คือพิธีเปิด ณ เวทีกลางในบริเวณงาน เน้นการมีการแสดงร่วมบนเวทีด้วยผู้แสดงจำนวน ๕๐๐ คน กับขบวนแห่หมฺรับจากสนามหน้าเมืองไปสู่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่เน้นการมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน พร้อมกับการขยายระยะเวลาจัดงานจาก ๑๐ วัน เป็น ๒๐ วัน โดยในงานเน้นร้านค้าขายของต่าง ๆ อย่างที่เคยจัดเสมอมา กับกิจกรรมการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตเพื่อดึงให้คนมาเที่ยวงาน นอกจากนั้นมีพื้นที่สวนสนุก เวทีกลาง การแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ขณะที่กิจกรรมเชิงนิทรรศการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มีน้อยมากและจัดอยู่ในพื้นที่ไกลท้ายงาน
งานที่สองที่จัดต่อเนื่องมานับสิบปี คือ #งานเดือนสิบที่วัดหน้าพระบรมธาตุ พัฒนาจากที่ชาวนครกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้กับงานเดือนสิบที่บริเวณทุ่งท่าลาด จึงได้มดลองจัดงานเดือนสิบย้อนยุคขึ้นในบริเวณวัดพระธาตุ ต่อมาเมื่อทางวัดพระธาตุมีนโยบายไม่ให้มีการจัดงาน วัดหน้าพระบรมธาตุจึงเปิดให้มีการจัดงานขึ้น โดยในระยะแรก ๆ มีน้ำหนักงานเชิงวัฒนธรรมประเพณีในสัดส่วนสูงแล้วค่อย ๆ ลดน้อยลง ขณะที่มีสวนสนุกและร้านค้าเพิ่มขึ้น โดยยังรักษาบรรยากาศงานวัดย้อนยุคไว้ในระดับหนึ่ง
งานที่สามเป็นอีกความริเริ่ม #ของคณะสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราชคณะหนึ่ง เมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน โดยมีการย้ายสถานที่จัดงานในหลายพื้นที่ ตั้งแต่บริเวณสวนศรีธรรมาโศกราช หน้าศาลากลางจังหวัด และ ริมกำแพงเมือง เน้นงานสวนสนุกเพื่อการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเปรตจนผู้คนรวมทั้งคณะผู้จัดงานก็กำหนดชื่อว่า งานเปรตเดือนสิบ ร่วมกับตลาดร้านค้า กับกิจกรรมการละเล่นและแสดงทางวัฒนธรรมในสัดส่วนสูง โดยปีนี้จัดที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
งานที่สี่เป็นงานที่เพิ่งริเริ่มขึ้นใหม่โดย #เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เมื่อไม่นานนี้ มุ่งเน้นให้เป็นการตั้งตลาดของชาวชุมชนต่าง ๆ ของเทศบาล พร้อมกับเวทีการแสดงต่าง ๆ ของชาวชุมชนเทศบาล จัดขึ้นที่บริเวณริมกำแพงเมืองและส่วนหนึ่งของสนามหน้าเมือง ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๕ ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช ได้ทดลองจัดงานเดือนสิบเชิงสร้างสรรค์พร้อมบางกิจกรรมย้อนยุคที่อาคารที่ทำการและบริเวณสนามหน้าเมืองด้านหน้า พร้อมกับมีการจัดแสดงโนราโรงครูสาธิตขึ้นด้วย ได้รับความสนใจมากในมิติของการสร้างสรรค์ เชิงวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วม แต่ในปีนี้ มีแต่งานของเทศบาล
งานที่ห้า เป็น #งานที่จัดเป็นการเฉพาะกิจของบวรนคร เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี ที่บริเวณสี่แยกท่าวัง ตั้งชื่อว่างานหรอย ๑๐๐ ปี เดือนสิบเมืองนคร ประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเนื่องในวาระ ๑๐๐ ปี งานเดือนสิบเมืองนคร และ การบูรณะตึกยาวบวรนครที่มีอายุ ๑๒๐ ปี กับกิจกรรมบุญรับตายายและจัดหมฺรับ เสวนา การแสดงดนตรี และฉายหนังกลางแปลง พร้อมกับการติดตลาดอาหารและงานศิลปสร้างสรรค์ โดยมีโนราโรงครูสาธิต และ หนังตะลุงมาร่วมแสดงด้วย
ผู้เขียนเห็นว่าโดยภาพรวมแล้ว งานเดือนสิบที่กล่าวถึงทั้งหลาย ยังเป็นเพียงงานสวนสนุกหากไม่ได้ผนวกงานบุญประเพณีเทศกาลเดือนสิบที่เกิดขึ้นที่วัดและย่านตลาดร้านค้าทั่วทั้งจังหวัดเข้ามาด้วย เนื่องจากบรรยากาศงานที่แท้อยู่ที่การลุกขึ้นการเตรียมการบ้านเรือนร้านค้าเพื่อรับบรรพชนและจับจ่ายเตรียมของไปทำบุญที่วัด ตลอดจนการพบปะญาติมิตรที่กลับมาบ้านและถิ่น โดยมีงานสวนสนุกทั้งนั้นเป็นเพียงพื้นที่ประกอบเท่านั้น โดยหัวใจสำคัญของบุญประเพณีเดือนสิบคือการยกหมฺรับไปวัดและบังสุกุลอุทิศที่แต่เดิมขบวนยกหมฺรับใหญ่ของจังหวัดที่เคยจัดในช่วงวันแรม ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ และเป็นเพียงขบวนแห่เพื่อแสดงแต่มิได้นำไปถวายวัดจริง และปีนี้มีการย้ายวันที่ไม่ตรงกับวันตามประเพณีก็สร้างความไม่ลงตัวเพิ่มขึ้นอีก โดยเห็นร่วมกันกับหลายฝ่ายคนว่าน่าจะยากมากแล้วในการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขงานเนื่องด้วยปัญหาสารพัดและข้อจำกัดหลายประการ ดังที่เสนอไว้แล้วในสารนครศรีธรรมราช ฉบับพิเศษที่ระลึกงานเดือนสิบ ๒๕๖๖ โดยเห็นว่าการลุกขึ้นมาจัดงานเล็ก ๆ ตามวัดวาอารามและชุมชน ตลอดจนแต่ละพื้นที่หรือท้องถิ่นอาจจะเป็นอีกทางออกและคำตอบของการฟื้นคืนมาของงานบุญประเพณีเทศกาลเดือนสิบที่สร้างสรรค์และเข้าให้หัวใจของการบุญนี้ มิใช่เพียงเพื่อการจัดพื้นที่ออกร้านทำมาหากินหรือเล่นสนุกอย่างเดียว ซึ่งทุกวันนี้เหมือนจะยกให้เป็นงานเปรตจนเต็มบ้านเต็มเมืองมากขึ้นจนเกินงามและความหมายแห่งเทศกาลบุญประเพณีเดือนสิบที่ดีงาม.
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖.
ท่านทั้งหลายว่าไงกันบ้าง บอกด้วยครับผม
๑ ธันวา ๖๖ ๑๐๓๐ น.
บ้านท่าวัง สะพานควาย กทม.

 

 

 

 

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//