logo_new.jpg

คือตำนานแห่ง #ต้าอวี่ ที่ #อู่ฮั่น ตรงริม #น้ำแยงซี
Legend On Yu The Great
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20240405_5)
กล่าวกันว่า ... ให้ระวังการเอาตำนานมาแปลงเป็นประงัติศาสตร์
กล่าวกันอีกว่า ... ตำนานนั้นเป็นเรื่องเล่า อย่าเอามาเป็นประวัติศาสตร์
กล่าวกันด้วยว่า ... ตำนานนั้นก็อาจมีเค้าความจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย
จนมีคนสรุปว่า ... ตำนานนั้น จริง ๓๐ เท็จ ๗๐
ส่วนประวัติศาสตร์นั้น จริง ๗๐ เท็จ ๓๐
ตรงหัวสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีที่อู่ฮั่น ฝั่งตรงข้ามกับหอนกกระเรียนเหลือง
เขาสร้างทำผนังกำแพงหินนี้ขึ้น เพื่อบอกเล่าตำนานของต้าอวี่ไว้ตามนี้
ที่ระยะหลังมานี้ที่มีการศึกษษทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากขึ้น ๆ
เริ่มมีเสียงเล่าขานว่า เรื่องนี้มีเค้าความจริงมากขึ้น ๆ หาใช่แต่งเอาทั้งนั้น
ผมงี้เห็นเข้าก็นะจังงังเลยครับ ...
ลองอ่านที่ #ศิลปวัฒนธรรม ทำไว้นี้ เมื่อปีที่แล้วครับ
แล้วไล่ดูภาพชุดแรกนี้ครับ หลังเที่ยงจะต่อด้วยภาพอีกชุดครับผม ...
ตำนาน “#ต้าอวี่” ผู้แก้ “น้ำท่วม”
ยุคจีนโบราณนาน 13 ปีจนสำเร็จ รอดโดนประหาร
กลุ่มชนที่ยิ่งใหญ่อย่างจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายยุคสมัยสืบเนื่องมาหลายพันปี หากย้อนกลับไปถึงยุคจีนโบราณที่เป็น “สังคมบุพกาล” นอกจากเรื่องราวของการรบพุ่งกันแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการย่อมเป็นเรื่องการบริหารจัดการด้านต่างๆ รวมไปถึงเรื่องการรับมือกับธรรมชาติ ซึ่งในยุคก่อนความเป็นรัฐชาติจะเริ่มก่อตัวขึ้น มีผู้นำที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมจนผู้คนยกย่องให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งชนเผ่า
หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์และแหล่งอารยธรรมใต้ดินสามารถบ่งชี้ว่า เมื่อ 1,700,000-1,800,000 ปีก่อนมีมนุษย์โบราณอาศัยในหลายพื้นที่ในประเทศจีน กระทั่งเมื่อ 4,000-5,000 ปีก่อน นักประวัติศาสตร์รับรู้ข้อมูลสมัยนั้นว่าเป็นยุคของจักรพรรดิหวงตี้และเหยียนตี้ ซึ่งเริ่มมีการทำเกษตร และปศุสัตว์ สืบเนื่องมาถึงยุค 4,000 ปีก่อนซึ่งเป็นยุคของพระเจ้าเหยา ซุ่น และอวี่ ในระบบสมาพันธ์ชนเผ่าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ
หลี่เฉวียน ผู้รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์จีนในยุคต่างๆ และผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” อธิบายว่า ยุคพระเจ้าเหยา ซุ่น และอวี่ เป็นยุคที่พัฒนากำลังการผลิตอย่างมาก ผลิตผลจากแรงงานมีเหลือเฟือ สังคมเริ่มแบ่งแยกเรื่องฐานะในวงศ์ตระกูลควบคู่กันไปกับวิทยาการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยุคนี้ใช้ดินอัดและหินมาสร้างกำแพงเมือง มีเครื่องใช้ และพระราชวังที่ยิ่งใหญ่กันแล้ว
ก่อนหน้าการ “สละราชบัลลังก์” ของเหยาและซุ่นนี้ (หัวหน้าสมาพันธ์ชนเผ่ายุคนี้ไม่ใช้ส่งต่อบัลลังก์ทางสายเลือด ยังใช้วิธีคัดเลือก) ชนเผ่าบริเวณลุ่มน้ำหวงเหอและฉางเจียงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เหยาเรียกประชุมสมาพันธ์ชนเผ่าเพื่อหาผู้นำที่จะเป็นคนแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยผู้นำ 4 เผ่า เสนอชื่อ กุ่น
กุ่นที่ได้รับมอบหมายแก้ปัญหาน้ำท่วมใช้วิธีสร้างเขื่อนกั้นน้ำ แต่กั้นทางหนึ่งได้ อีกทางก็พัง ผ่านไป 9 ปีก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เหยาจึงส่งซุ่นไปตรวจสอบการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซุ่นเห็นว่ากุ่นหมดหนทาง และทำให้การจัดการล่าช้า สุดท้ายกุ่นต้องโทษประหารตามกฎชนเผ่า
หลี่เฉวียน เล่าว่า กุ่นไม่ได้แก้ตัว ไม่ได้อ้อนวอนสำหรับการให้อภัย เขาถูกจับมัดบนยอดเขาอวี่ซาน (คาดว่าปัจจุบันอยู่เมืองเผิงไหล มณฑลซานตง หรืออาจอยู่ในอำเภอตงไห่ มณฑลเจียงซู) และถูกตัดศีรษะ ส่วนร่างถูกโยนลงสู่เหวลึก
หลังจากนั้นที่ประชุมชนเผ่าเลือกเสนอชื่อ อวี่ ลูกชายของกุ่นมาสานต่อตำแหน่งผู้นำแก้ปัญหาน้ำ ตอนที่อวี่ ได้รับคำสั่ง เขาเพิ่งแต่งงานได้ 4 วันเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้โต้แย้ง อวี่รีบบอกลาถูซานซื่อ ภรรยาแล้วไปเป็นแนวหน้าแก้ปัญหาน้ำ
อวี่ต้องการเข้าใจความล้มเหลวของบิดา เขานำผู้ช่วยจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังพื้นที่ที่อุทกภัยร้ายแรงที่สุด วัดระดับความสูงของภูมิประเทศโดยใช้เสาไม้เป็นสัญลักษณ์ จากข้อมูลของผลสำรวจ เขาตัดสินใจเปลี่ยนวิธีสร้างเขื่อนกั้นน้ำซึ่งบิดาเขาเลือก มาใช้วิธีขุดคลองชักน้ำแทน นำผู้คนในชุมชนขุดลอกคูคลองเพื่อชักน้ำท่วมขังลงแม้น้ำฉางเจียงและหวงเหอแล้วดึงน้ำสู่ทะเล เขาใช้เวลาแก้ปัญหานี้ 13 ปี ตลอดระยะเวลานี้เขาเดินทางผ่านหน้าบ้านตัวเองโดยที่ไม่เคยเข้าไปเยี่ยมเยียนเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้อวี่ ได้รับคำชื่นชม
นอกเหนือจากเป็นผู้นำการแก้ปัญหา อวี่ยังเป็นแรงงานด้วยตัวเอง เขาขนหินขุดดินทุกวันตลอดเวลา 10 ปีจนมือแข็งกระด้าง ยืนแช่น้ำยาวนานจนเล็บหลุด หน้าตาสกปรกมอมแมม เรียกได้ว่าขยันทำงานจนผู้ติดตามเห็นแล้วซาบซึ้งจนน้ำตาไหล
หลี่เฉวียน อธิบายว่า รายละเอียดการทำงานยังมีเรื่องเล่าต่ออีกว่า อวี่ขุดคลองใหญ่มากมาย เจาะภูเขา ขุดลอกทางเดินน้ำของแม่น้ำหวงเหอ และสามารถบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยได้ในที่สุด โดยที่สมัยนั้นผู้คนใช้เครื่องมือที่ทำจากหินหรือไม้อย่างหยาบๆ การสร้างงานชลประทานขนาดใหญ่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ท่ามกลางการฝ่าฟันอุปสรรคอย่างยากลำบาก ยุคนั้นมีวีรบุรุษผู้แก้ปัญหาน้ำหลายราย แน่นอนว่า อวี่เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เรื่องราวของเขาเป็นที่กล่าวขานสืบต่อกันมา
ความสำเร็จของอวี่ ทำให้เขาได้รับความเคารพ ถูกยกย่องว่าเป็น “ต้าอวี่” (อวี่ผู้ยิ่งใหญ่) ผู้คนดันให้เขาเป็นผู้นำสมาพันธ์ชนเผ่าต่อจากซุ่น หลี่เฉวียนบรรยายต่อว่า เล่ากันว่าอวี่แบ่งประเทศจีนเป็น 9 รัฐ ได้แก่ รัฐจี้, เหยี่ยน, ชิง, สวี, จิง, หยาง, เหลียง, อวี้ และยง
เผ่าที่อวี่เป็นผู้นำนั้นอาศัยตรงพื้นที่ต้นน้ำและตอนกลางของแม่น้ำหวงเหอ อาณาเขตเล็กกว่าทั้ง 9 รัฐข้างต้นมากพอตัว จึงคาดว่า 9 รัฐที่เอ่ยถึงเป็นผืนดินที่เกิดขึ้นหลังน้ำลด และถูกอวี่นำมาบริหารจัดการเป็นเขตปกครอง นอกจากเรื่องแก้ปัญหาน้ำ หลังจากนั้น อวี่ยังขยายขอบเขตอำนาจไปอีก โดยปราบปรามชนเผ่าบริเวณลุ่มน้ำเจียงฮั่น และพบปะผู้นำชนเผ่าอื่นๆ
หลังจากยุคอวี่ เป็นยุคของลูกชายที่เรียกว่า “ฉี่” และสถาปนาราชวงศ์เซี่ย (ประมาณ 2,072-1,600 ปีก่อนคริสตกาล) ใช้ระบบสืบราชสมบัติตามสายโลหิต
๕ เมษา ๖๗ ๑๒๐๐ น.
บ้านท่าวัง สะพานควาย กทม.

 

 

 

 

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//