เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 19 April 2024
- Hits: 297
ชิงเปิดตัว #Suvarnabhumi_Recognita ในสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินี้ซะ
Clelebrating The Suvarnabhumi Recognita
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20240406_2)
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ พอดีหนังสือนี้ของ พ่อ Bīravijñ Koad ออกมาจากโรงพิมพ์วานนี้
วันนี้นายหัว Pairot Singbun บอกว่าต้องไปรับลูกเมียไปบ้านพ่อตาแม่ยาย
ให้หมอนี้เป็นพนักงานนำไปส่งแผง H 40 ในงานที่ศูนย์สิริกิติ์
เพื่อเป็นการเปิดตัวซะในงานสัปดาห์หนังสือระดับชาตินี้ ๕๕๕
ตอนแรกกะว่าปีนี้น่าจะอดไป สุดท้ายมีข้ออ้างให้ได้ไปจนได้
ท่านที่สนใจไปเฉลิมฉลองได้ที่แผง สนพ.ต้นฉบับ ของพี่ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ครับผม
มีหนังสืออีกหลายเล่มของหมอนี่ขายด้วยครับ
ส่วนเล่มลูกปัดลพบุรีนั้น พอดีพี่ Chairat Kongka ถามหา ตอนนี้จองหมดแล้วครับ
สำหรับงานนี้ ที่ผมเห็น Bīravijñ Koad เขาค้นคว้าเรื่องศรีวิชัยอยู่ก่อน
ก็เลยบอกให้ขยายขึ้นไปถึงสุวรรณภูมิซะ กะให้เลยมาตามพรลิงค์ด้วยสิ ... ฮิฮิ
ออกมาอย่างวิเศษแค่ไหน อ่านคำนิยมของ รมว.เอนก และท่าน อ.เสมอชัย ดูครับ
นี้งานของ Suvarnabhumi Studies Center ตอนที่ผมเป็น ผอ.ครับ
ออ ๆ งบเขามีพิมพ์ได้แค่ ๕๐ เล่ม อิอิ
ผมก็เลยเอาทุนของ สุธีรัตนามูลนิธิ บวรนคร
สมทบกับทุนส่วนตัวของพ่อ Bīravijñ Koad สมทบกันอีกฝ่ายละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ได้หนังสือออกมา ๑,๐๐๐ เล่ม ยกให้สถาบันฯ ได้เป็น ๒๐๐
แล้วสุธีรัตนามูลนิธิ รับมา ๔๐๐ เล่มเท่านั้นครับ
ท่านที่สนใจ ไปที่งาน แผง H40
หรือไม่ก็สั่งได้ที่ สโมสรธรรมทาน สวนโมกข์กรุงเทพ ครับผม
นี้ครับ คำนิยมของผม ...
วิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ (Computational Science) วิทยาการข้อมูลหลากกระบวนทัศน์ (Multiparadigm Data Science) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะนำมาประยุกต์ใช้ในการการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิได้อย่างไรไหม? คือคำถามที่ตามมาหลังจากได้ติดตามศึกษาและค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีของแผ่นดินไทยที่ลึกเกินกว่าที่แวดวงส่วนใหญ่ศึกษาค้นคว้ากันมา ยิ่งเมื่อได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ในวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ที่มุ่งทำการศึกษาค้นคว้าเชิงลึกซึ่งเป็นการหาความรู้ด้วยวิทยาการใหม่ๆ พร้อมกับการสร้างนักวิชาการหน้าใหม่ ประกอบกับเห็น ดร.พีรวิชญ์ เควด ที่กำลังศึกษาด้านนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความสนใจติดตามเรื่องนี้เรื่อยมา โดยสนใจการศึกษาบนคาบสมุทรไทย-มาเลย์ที่มีความรุ่งเรืองในช่วงระยะเวลาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิเป็นต้นมาจากนานาข้อมูลเชิงพหุวิทยาการที่มีภูมิสารสนเทศศาสตร์ (Geoinformatics) เป็นฐานสำคัญด้วย จึงได้ชักชวนให้ขยายขอบเขตเชิงเวลาการศึกษาให้ลึกเลยไปจนถึงระยะเวลาของสุวรรณภูมิเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน พร้อมกับขยายขอบเขตเชิงพื้นที่ให้กว้างขึ้นกว่าเพียงคาบสมุทรไทย-มาเลย์ จนออกมาเป็น “ประวัติศาสตร์เชิงภูมิศาสตร์ของคาบสมุทรไทย-มาเลย์” ที่ผู้ศึกษาตั้งใจตั้งชื่อว่า Suvarṇabhūmi Recognita เพื่อให้ล้อกับงาน “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก Suvarnabhumi Terra Incognita” ที่ผมมีส่วนร่วมศึกษากับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และเป็นปฐมเหตุหนึ่งที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นเป็นจังหวะแห่งการขับเคลื่อนนโยบายในด้านนี้พร้อมกับเลือกแต่งตั้งให้ผมทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นที่ปรึกษาตลอดมา และมีคณะกรรมการวิชาการของสถาบันช่วยกำกับการ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สรัสวดี อ๋องสกุล ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช และนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี ตั้งแต่เริ่มต้น
“Suvarṇabhūmi Recognita: ประวัติศาสตร์เชิงภูมิศาสตร์ของคาบสมุทรไทย-มาเลย์” เล่มนี้นับเป็นงานแนวใหม่มากที่น่าจะเติมช่องว่างความรู้ที่ยังไม่รู้อีกมากมายและมีความต้องการศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้นอีกมากด้วย ไม่ว่าเรื่องปูมการค้าทางทะเลแต่โบราณที่ปรากฏในนานาเอกสารบันทึกของโลกตั้งแต่กว่า 2,000 ปีก่อนนับจากยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์หรือสมัยสุวรรณภูมิที่แต่ก่อนนิยมยกให้เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเกี่ยวพันกับทั่วทั้งดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นภาคพื้นทวีปหรือคาบสมุทรและหมู่เกาะ ต่อเนื่องมาถึงสมัยแรกเริ่มรัฐคือฝูหนาน อาณาจักรแห่งทะเลใต้ ศรีวิชัย ตามพรลิงค์-ศรีธรรมราช จนกระทั่งอยุธยา-มะละกา-มัชปาหิต อย่างเชื่อมโยงกับพื้นที่ตามระยะเวลา (Space and Time) มีพหุวิทยาการที่ใช้วิทยาศาสตร์เชิงคำนวณและปัญญาประดิษฐ์สมัยใหม่รองรับ โดยมีหลายข้อมูลเก่าที่ช่างสืบค้นและคว้ามาประกอบ โดยเฉพาะหลักฐานบันทึกแต่ก่อนทั้งจากฝ่ายยุโรป อาหรับ อินเดีย ตลอดถึงจีน กับหลายชุดความรู้ใหม่ที่ท้าทายการตรวจสอบ รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าต่อเติมอีกมากมาย โดยเฉพาะการกำหนดตำแหน่งแห่งหนของพื้นที่ต่างๆ ตามบันทึกโบราณที่มีความแตกต่างมากจากที่เคยมีนักวิชาการสันนิษฐานไว้และถูกใช้สืบเนื่องกันมานับร้อยปี
ในฐานะของผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาในระยะเริ่มต้น (พ.ศ. 2564 ถึง 2566) ขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เห็นถึงความสำคัญของการสุวรรณภูมิศึกษา ขอบพระคุณท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ตลอดจนคณะกรรมการวิชาการและแวดวงวิชาการทุกท่านฝ่าย โดยเฉพาะ ดร.พีรวิชญ์ เควด ที่รับคำชวนและได้เป็นประจักษ์พยานของความเป็นไปได้ของงานวิชาการอันหลากหลายจากหลากหลายแวดวง เพื่อการศึกษาทำความรู้จักและเข้าใจในแผ่นดินอันเป็นภูมิสถานสำคัญของชีวิต ชาติ และรัฐ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านและท้าทายใหญ่ของโลก ที่วิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ วิทยาการข้อมูลหลากกระบวนทัศน์ และปัญญาประดิษฐ์ กำลังขยายตัวและอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงหากเราไม่รู้จักนำมาใช้เพื่อการสร้างสรรค์บนฐานของเราเอง
บัญชา พงษ์พานิช
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และบวรนคร
อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา (พ.ศ. 2564 ถึง 2566)
12 มิถุนายน พ.ศ. 2566
๖ เมษา ๖๗ ๑๘๕๖ น.
บ้านท่าวังสะพานควายกทม.