เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 26 May 2024
- Hits: 307
การที่ความคิดฝันเกิดเป็นจริงได้นั้น
อยู่ที่คนทำ
DreamComeTrueThroughDoing
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 30240523_1)
ถูกออกแบบเอาไว้ว่าให้เป็น "#สาธารณกุศลศิลป์"
คำๆนี้ นพ.บัญชา พงษ์พานิช Bunchar Pongpanich เป็นผู้บัญญัติ
เมื่อตอนปลายปี 2666 คุณหมอบอกให้เอาหนังสือกองใหญ่ไปอ่าน เป็นหนังสือที่พูดถึงแนวคิด "#สาธารณศิลป์" โดยบอกว่ากระดิ่งที่จะสร้างทำขึ้นนั้น ถ้าทำตามแนวคิดนี้จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามามีส่วนและร่วมเป็นเจ้าของ
ในตอนที่เขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอจัดสร้างกระดิ่งเพื่อนำเรียนต่อท่านเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อพิจารณาและหากผลเป็นอย่างไรก็ให้แจ้งสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช รับทราบนั้น มีความพยายามที่จะนำคำว่า "สาธารณศิลป์" มาเป็นแนวคิดหลักในการขยายความกระบวนการในการจัดสร้าง และเนื้อหาหลังจากนี้ก็จะต่อด้วยการขยายความการจัดการผลประโยชน์ของโครงการที่ตั้งใจจะให้รายได้หลังจากค่าใช้จ่ายถูกนำไปใช้เพื่อการกุศล ซึ่งกำหนดจะสมทบเป็นทุนการดำเนินงานและทุนการศึกษาของภิกษุสามเณร
คุณหมอได้แนะนำให้ปรับคำ "#สาธารณศิลป์" เป็น "#สาธารณกุศลศิลป์" ซึ่งจะครอบคลุมแนวคิดและแนวทางในการฟื้นการสร้างกระดิ่งในครั้งนี้
เขียนข้อความส่วนนี้เอาไว้ เพื่อจะย้ำเตือนเผื่อลืมว่า คำว่า "สาธารณกุศลศิลป์" นพ.บัญชา พงษ์พานิช Bunchar Pongpanich เป็นผู้บัญญัติขึ้น
(ปล. พยายามสืบค้นใน google แล้ว ผลการสืบค้นไม่ปรากฏคำนี้ อาจจะมีคำใกล้เคียงที่สุดคือคำว่า "#สาธารณกุศล" แต่ไม่มีคำว่า ศิลป์ ต่อท้าย ส่วนคำว่า "#กุศลศิลป์" ก็ปรากฏเป็นเพียงชื่อซอยบนถนนสรรพวุธ แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ถ้าใครมีข้อมูลว่ามีใครใช้คำว่า "#สาธารณกุศลศิลป์" ก่อนหน้านี้ช่วยแจ้งด้วยนะครับ แต่หากยังไม่มีเบาะแสอื่นใด ผมก็เชื่อในสิ่งเห็นต่อไปครับ)
คลิปวีดิโอนี้ตัดต่อจากวีดีโอถ่ายทอดสดของ คิดถึงจัง เรดิโอ ออนไลน์
ดูวีดิโอถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่
https://www.facebook.com/Ditladaproduction/videos/1572781720288369
----------------------------------
ตามที่ปรากฏการติดตั้งกระดิ่งจำนวน 209 ใบ ในหมู่เครื่องสูงประกอบอิสริยศองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่รอบพนักลานประทักษิณ เมื่อ 139 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2428) โดยมีนายบุญศักดิ์ ชาวปากพนังฝั่งตะวันออกเป็นผู้จัดสร้าง แต่เมื่อกาลเวลาล่วงผ่าน เกิดการชำรุด ร่วงหล่น สูญหาย มาโดยลำดับ
พระครูเหมเจติยาภิบาล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ในคราวการประชุมหารือร่วมกับโครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอด ได้ปรารภเกี่ยวกับสถานภาพปัจจุบันของกระดิ่งซึ่งได้ถูกปลดลงจากราวราชวัติเพื่อการบูรณะและต่อมามีการกระจายสูญหายว่าควรจะได้ดำเนินการจัดหากระดิ่งเพื่อแทนที่กระดิ่งที่สูญหายไป
.
โครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดได้นำความหารือร่วมกับผู้ที่สนใจ พบว่ามีผู้มีจิตศรัทธาประสงค์จะร่วมกันบูรณะและแทนที่กระดิ่งที่มีการชำรุดสูญหาย จึงเป็นการสมควรที่จะได้ระดมความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย อันจะเป็นต้นกำเนิดแห่งความเลื่อมใสและเครื่องสร้างกำลังใจให้พุทธศาสนิกชนมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อการนับถือพระพุทธศาสนา อีกทั้งจะยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงเรื่องราวของวิถีชีวิตของประชาชนที่เชื่อมโยงกับความงามทางศิลปะอันเป็นเครื่องแสดงถึงอารยธรรมที่ฝังอยู่อย่างแนบแน่นของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในการอนุรักษ์แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาสืบไป
.
การจัดสร้างกระดิ่งครั้งนี้อาศัยความร่วมมือในลักษณะ “สาธารณกุศลศิลป์” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสรรค์กระดิ่งที่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีจิตศรัทธาเพื่อให้ได้ผลงานศิลป์ที่ถ่ายทอดและสะท้อนความผูกพันและความศรัทธาอย่างลึกซึ้งของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการนับถือพระพุทธศาสนาผ่านการสร้างกุศลด้วยการสร้างเพื่ออุทิศถวายซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสู่สาธารณะ โดยประกาศหาเจ้าภาพร่วมสร้างกระดิ่งจำนวน 209 ราย ซึ่งรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายจะสมทบเป็นทุนการดำเนินงานและทุนการศึกษาของภิกษุสามเณรโรงเรียนพระบรมธาตุพิทักษ์วิทยา (พระปริยัติธรรม วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร แผนกสามัญศึกษา)
.
และโดยเนื่องด้วยปี 2567 เป็นโอกาสมหามงคล จังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมกับโครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดได้สร้างทำกระดิ่งเพิ่มอีก 1 ใบ เป็นใบที่ 210 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล ครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567