เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 07 March 2017
- Hits: 1512
ทนทบุรี ที่ทนกุมารท่านอัญเชิญพระทันตธาตุมา อยู่ที่ไหน ?
Where is DantaPura ?
Where NST Tooth Relics were From ?
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170307_3)
วันก่อนที่ส่งเรื่องนี้ออกแพร่
ท่านพระครูเหมเจติยาภิบาล
ตำแหน่งผู้อภิบาลพระบรมธาตุ
แห่งวัดพระบรมธาตุเมืองนคร
บอกว่ากำลังศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อยู่
และจะขอนำบทนั้นไปอ้างอิง
ผมก็เลยแปลให้ใหม่แบบครบความตามนี้
ท่านใจสนใจอย่างยิ่ง กรุณาอ่านเองนะครับ
หรือจะรออ่านใน นสพ.รักบ้านเกิด
ฉบับเดือนเมษายนก็ได้นะครับ.
๗ มีค.๖๐
(๑) ที่อินเดียมี “ทันตปุระ” จริง ๆ ด้วย
ผมเพิ่งถูกเชิญจากรัฐเตลางคะนะที่เพิ่งแยกจากรัฐอานธรประเทศ ทางตอนใต้ของรัฐโอริสสาที่คือแดนกลิงคะโบราณในสมัยพุทธกาลจนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ด้วยการแนะนำของสถานทูตอินเดียในประเทศไทย ให้ไปนำเสนอในงานฉลองพระพุทธศาสนาระดับโลกของรัฐนั้น ที่นครไฮเดอราบัด พร้อมกับพาลงพื้นที่ ๓ พุทธสถานสำคัญ คือ นครนาคารชุนโกณฑะ นิละกัณฑะพัลลี และ พันนิคีรี ที่ร้างและปรักหักพังเหลือแต่ฐานรากแล้วทั้งนั้น แล้วได้หนังสือน้อยมาเล่มหนึ่งว่าด้วย ทันตปุระ ที่เขาเรียกตามแบบอินเดียใต้ว่า Dhantapuram ระบุว่าที่นี่เคยประดิษฐานพระทันตธาตุ ทันตกุมารท่านก็เชิญพระทันตธาตุไปลังกาจากที่นี่ โดยที่ยังไม่เคยได้ไปด้วยตนเอง เพราะเมื่อครั้งก่อนก็เริ่มต้นตอนใต้ลงไปจากที่นี่
ในหนังสือเล่มนี้ที่สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐบาลอานธรประเทศในนครไฮเดอราบัด เรียบเรียงและพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ ที่กำลังจะขุดค้นครั้งใหม่ซึ่ผมยังหาบันทึกรายงานไม่เจอ ระบุว่าแม้ทุกวันนี้ที่เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ นั้น ทันตะปุระ เคยเป็นนครหลวงของกลิงคะ หนึ่งใน ๑๖ มหาชนบททางชายฝั่งตะวันออก ที่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในฐานะเมืองสำคัญทางการค้าทั้งภายในและภายนอกทางทะเล มีการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองที่รุ่งเรือง มีพุทธสถานและโบราณวัตถุสถานเก่าแก่ถึงสมัยพุทธกาลสอดคล้องกันในหลายบันทึกและพงศาวดาร ไม่ว่าจะทางลังกา ในชาดก มหาวัสดุ มหาวงศ์ มหาภารตะ จนกระทั่งพงศาวดารในศาสนาเชน
(๒) พงศาวดารธาตุวงศ์ของลังกา
กับ ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช
เขายกพงศาวดารธาตุวงศ์ของลังกาที่แต่งเมื่อ พ.ศ.๘๕๓ ว่ามีการประดิษฐานพระทันตธาตุที่ “ทันตปุระ” นี้ จากส่วนที่โทณพราหมณ์จัดพระทันตธาตุเบื้องซ้ายให้เขมะเถระอัญเชิญมาถวายท้าวพรหมทัต หนึ่งใน ๘ กษัตริย์ แห่งกลิงคะ โดยพระองค์ทรงสถาปนาหอพระธาตุเป็นอาคารหลายชั้น มีหลายห้องคูหาทาทอง ประดับประดาด้วยไข่มุกมากมาย ในนครที่มีกำแพงล้อมรอบ กับ ๑๐ ช่องประตู โดยพระเจ้าคูหสีวะซึ่งเปลี่ยนจากศาสนาเชนมานับถือพุทธได้จัดให้มีการบูชาพระทันตธาตุจนกระทั่งพระเจ้าปาณฑุแห่งชมพูทวีปส่งทูตชื่อชิตญาณมาทูลเชิญพระเจ้าคูหสีวะให้อัญเชิญพระทันตธาตุไปยังนครปาฏลีบุตรจนเป็นที่เลื่องลือทั่วทุกทิศ ขณะเดียวกันพระเจ้ากีรธรนเรนทรา ? (Kheeradhara Narendra) ได้กรีฑาทัพมาบุกปาฏลีบุตรเพื่อชิงพระทันตธาตุแต่พ่ายแพ้กลับไป กษัตริย์แห่งปาฏลีบุตรซึ่งเชื่อว่าเป็นอานุภาพแห่งพระทันตธาตุจึงมีพระราชานุญาตให้พระเจ้าคูหสีวะอัญเชิญพระทันธาตุกลับไปบูชาที่ทันตปุระ
จากนั้น ทันตกุมาร กษัตริย์แห่งอุชเชนีได้มายังกลิงคะเพื่อบูชาพระทันตธาตุ แล้วพระเจ้าคูหสีวะทรงประทับใจในพระจริยวัตรจึงทรงถวายพระธิดาให้อภิเษกด้วย ขณะเดียวกันราชบุตรแห่ง Kheeradhara Narendra ได้ตามมาบุกกลิงคะเพื่อครอบครองพระทันตธาตุ พระเจ้าคูหสีวะซึ่งรู้ว่ากองทัพของพระองค์สู้ไม่ได้ จึงขอให้พระทันตกุมารอัญเชิญพระทันตธาตุไปสู่พระเจ้ามหาเสนะแห่งลงกาก่อนที่จะถูกบุกถึงและสิ้นพระชนม์ชีพในการรบ
พระทันตกุมารทรงอัญเชิญพระทันตธาตุลงไปทางใต้ (กับพระนางเหมชาลา) จนเรืออับปางขณะข้ามแม่น้ำกฤษณาแล้วไปขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว (ซึ่งเขาเขียนว่าเป็นเพชร Diamond Sands) ก่อนที่จะเดินทางต่อจนถูกพญานาคมาลักกลืนพระทันตธาตุจนมีเถระมาช่วยทวงคืนได้ จากนั้นจึงลงเรือที่ Thambalithi จนไปถึงลังกา ซึ่งถึงทุกวันนี้มีการศึกษาค้นคว้า เชื่อว่า Thambalithi ที่ทรงอัญเชิญพระทันตธาตุลงเรือนั้น คือ Thalamitha ที่บริเวณปากแม่น้ำกฤษณาในขณะนั้นซึ่งขณะนี้ออกไปไกลออกไปจากหมู่บ้านถึง ๖ – ๘ กม. และยังห่างจากทะเล ๑๒ – ๑๕ กม.
ทั้งหมดนี้ มีทั้งที่พ้องและต่างจากตำนานพระธาตุเมืองนคร คือ เมืองทันตะปุระเป็นทนทบุรี คูหสีวะเป็นท้าวโคสีหราช ราชบุตรเขยทันตกุมารเป็นราชบุตรทนทกุมาร (พระทันตกุมารเป็นสวามีพระนางเหมชาลามิใช่พี่กับน้อง) Kheeradhara Narendraผู้บุกรุกเป็นท้าวอังกุศราช หาด Diamond Sands เป็นหาดทรายแก้วชเลรอบและอยู่ที่คาบสมุทรไทยมิใช่ที่แม่น้ำกฤษณาแต่ประการใด โดยในหนังสือของเขาก็กล่าวไว้ด้วยว่ามีปรากฏเรื่องคล้าย ๆ กันเกี่ยวกับตำนานพระประโทนของไทย (ซึ่งเขาคงเข้าใจคลาดเคลื่อน จากที่ถูกคือตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช) ที่แม้จะแตกต่างในรายละเอียด พระนามกษัตริย์และสถานที่ต่าง ๆ แต่โครงเรื่องเดียวกันคือทันตกุมารอัญเชิญพระทันธาตุจากทันตปุระไปยังลังกา และในที่นี้ผมยังไม่ขออภิปรายเรื่องเหล่านี้ แต่มุ่งเปิดประเด็นหลักถึง “ทันตปุระในอินเดีย” ตามที่ระบุถึงไว้หัวเรื่องและในหนังสือนี้ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่
(๓) เขาขุดค้นทางโบราณคดีแล้วหลายครั้ง
เขาระบุว่าจากการสำรวจและขุดค้นโดยสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐอานธรประเทศในอาณาบริเวณรายรอบ Dantavaktrunikota พบประจักษ์พยานหลักฐานที่สอดคล้องกับตำนานและพงศาวดารต่าง ๆ ว่า ทันตปุระ นี้คือเมืองหลวงแห่งกลิงคะ กล่าวคือมีแนวเนินดินสูง ๑๐ เมตรล้อมรอบ พร้อมกับมีป้อมประตูอยู่ ๔ ทิศแม้จะเหลือให้เห็นเพียงทิศตะวันตกเป็นแนวทางยาวแคบ ๆ อยู่กับเนินกำแพงเมือง ส่วนแม่น้ำ Vamsadhara ที่น่าจะเคยเลียบกำแพงด้านตะวันออกนั้นทุกวันนี้ไหลห่างออกไป ๒ กม.มีลักษณะคล้ายกับเมืองโบราณร่วมสมัยอื่น ๆ ในละแวกนี้ ได้แก่ Kotalingala ริมฝั่งขวาของแม่น้ำโคทาวารี และ อมราวดี หรือ Dhanyakataka บนฝั่งขวาของแม่น้ำกฤษณา
จากการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเนินดินด้านในแนวกำแพงดิน พบฐานสถูปเรียงเป็นแถว และได้เปิดดูเพียง ๒ สถูป มีแกนข้างในเป็นดินล้อมรอบด้วยอิฐรูปลิ่มขนาด ๓๙ x๓๕x๙ ซม. และ ๔๐x๔๐x๙ ซม. มีความสูง ๖๐ ซม. พร้อมกับพบเครื่องถ้วยในพระสถูป ทั้งประเภทสีดำและแดง(black and red ware), สีดำขัดมัน(black polished ware), สีแดงชุบสี(red slipped ware) และ สีดำขัดมันมีปุ่ม(highly polished black knobbed ware) ส่วนที่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเนินดินพบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์เป็น ๒ ชั้นเข้ากันได้กับยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์กับเริ่มต้นสมัยกลางที่เรียกกันว่า สมัยที่ ๑ และ ๒ กล่าวคือ สมัยที่ ๑ มีโครงสร้างเป็นอิฐร่วมกับภาชนะประเภทสีดำและแดง(black and red ware), สีดำขัดมัน(black polished ware), สีแดงชุบสี(red slipped ware), ลายลูกกลิ้ง(rouletted ware), แบบมีปุ่ม(knobbed ware) กับลูกปัดและกำไล ส่วนสมัยที่ ๒ นั้นพบภาชนะสีแดงหม่น(dull red ware), สีเทา(grey ware) และ สีดำ(black ware) ที่มีคุณภาพด้อยกว่า และที่สำคัญคือไม่มีการพบภาชนะสีดำและแดงกับอิฐมีปีก ? (brick bats)เลย
ส่วนการขุดค้นที่คันกำแพงดินด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งขุดลงไปลึก ๑.๕ เมตรนั้น ได้พบร่องรอยวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์บนชั้นดินหนาที่อัดแน่นจนสรุปได้ว่าป้อมกำแพงดินนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล จนกระทั่งสมัยแรกเริ่มยุคกลางซึ่งมีการพัฒนาความแข็งแรงของกำแพงดินในเขตที่ราบลุ่มน้ำคงคาทางตะวันออกดังที่ขุดพบ
ในปี พ.ศ.๒๕๔๑-๒ สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ยังได้ขุดค้นด้านในป้อมกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือพบแถวของสถูป ๔ องค์ โดยมี ๒ องค์สร้างด้วยอิฐรูปลิ่ม อีก ๒ องค์ ด้วยอิฐรูปลิ่มและอิฐแบบมีปีก (brick bats) ด้านในเต็มไปด้วยก้อนหินเขี้ยวหนุมาน (quartz pebbles) ที่อัดแน่นอยู่กับดิน แต่ละสถูปมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ เมตร เมื่อขุดลงไปลึกถึงระดับ ๒.๖๐ เมตร พบเป็นฐานอิฐเรียงกัน ๓๙ แผ่น ใต้ลงไปเป็นฐานหินแกรนิตรูปวงกลมรองรับอยู่ อิฐที่ใช้มีหลายขนาด คือ ๓๖x๒๘x๙, ๔๐x๓๙ x๙, ๓๔x๓๓x๙ และ ๓๔x๒๙ x๙ ซม.
นอกจากอิฐแล้วยังพบเศษภาชนะหลายแบบ ทั้งแบบเรียบ ๆ มีลายประดับ ง่าย ๆ, ลายขูดขีดและลายกดประทับ ส่วนใหญ่ผลิตด้วยแป้นหมุนและเผาได้ระดับ มีทั้งประเภทสีแดงหม่น, สีแดง, สีแดงขัดมัน, สีดำ, สีดำขัดมัน ฯลฯ ส่วนรูปทรงนั้นมีทั้งเป็นไห แจกัน หม้อ ตะเกียง ขาตั้งตะเกียง ชาม ฝา และ อ่าง ที่พิเศษคือการพบภาชนะแบบมีปุ่มสีเทาดำ, สีดำขัดมัน และสีแดง ซึ่งปุ่มมีขนาดใหญ่ และมีร่องเป็นวงรอบอยู่ด้านในด้วย ลักษณะนี้เข้ากันได้กับภาชนะประเภทสีดำขัดมันในภาคเหนือ (Northern Black Polished Ware-NBPW) ซึ่งมีรายงานการพบที่ Sisupalgarh ในโอริสสา อายุเมื่อ ๓ – ๒ ศตวรรษก่อนคริสตกาล กับยังพบการตกแต่งลักษณะพิเศษต่าง ๆ บนภาชนะ ได้แก่ การเคลือบกราไฟท์หรือกราไฟท์กับไมก้าที่ขอบ ปากของภาชนะ รวมทั้งมีการขุดขีดเป็นอักษรหรือรูปบนผิว คอ ขอบหรือที่ฐาน และการกดประทับตรากระทั่งการระบายป้ายแต้มให้เป็นภาพ
โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบที่ทันตปุระนี้ รวมถึงลูกปัดดินเผา หินคาร์นีเลียน จัสเปอร์ และ อะเกต กำไลแก้วและเปลือกหอย ตะปูเหล็ก แหวน แท่งตะกั่ว รูปคนและสัตว์ปั้นด้วยดินเผา แท่งหินบด โม่ และกระดูกที่อาจจะทำเป็นหวี และที่สำคัญคือการพบเครื่องถ้วยขัดมันสีดำมีปุ่ม (highly polished black knobbed ware) ในชั้นดินแรก ๆ จำนวนมาก ร่วมกับเครื่องถ้วยสีดำแดง, สีแดงขัดมัน,สีดำ, สีช็อคโกแล็ต และสิ่งอื่น ๆ โดยเครื่องถ้วยชนิดนี้นั้นมีรายงานการพบมากร่วมกับ Northern Black Polished Ware-NBPW ในชั้นที่มีกิจกรรมของคนที่ Silsupalgarh ในโอริสสา และ Gopalapatnam ทั้งนี้ NBPW นี้เป็นสิ่งชี้ชัดว่าแถบนี้มีความสัมพันธ์กับดินแดนชนบทต่าง ๆ ในอินเดียเหนือเมื่อสมัยพุทธกาล ประมาณ ๖-๕ ศตวรรษก่อนคริสตกาล และทำให้ประมาณอายุของทันตปุระว่ามีอายุอยู่ในช่วง ๓-๒ ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดยภาชนะแบบมีปุ่มนี้อาจเรียกได้ว่า “เครื่องถ้วยกลิงคะ” เนื่องจากมีพบมากในแดนกลิงคะ จาก Sisupalgarh เลียบชายฝั่งทะเลถึง Gopalapatnam ทำนองเดียวกับ NBPW ที่เป็นของภาคเหนือ และน่าจะมีการเริ่มตั้งถิ่นฐานที่ทันตปุระนี้ตั้งแต่ ๕-๔ ศตวรรษก่อนคริสตกาล
“ทันตปุระ” นี้ คือนครหลวงของกลิงคะมาแต่พุทธกาล
นอกจากนี้ การขุดค้นที่ Salihundam ซึ่งเป็นแหล่งโบราณในพุทธศาสนาใกล้ ๆ บนริมฝั่งขวาของแม่น้ำ Vamsadhara นอกจากพบกลุ่มอารามวิหารแล้ว ยังพบเหรียญประทับตรา (Punch-marked coins) เหรียญโรมันและเหรียญสาตวาหนะ รวมทั้งเศษภาชนะมีจารึกอักษรพราหมี อายุประมาณ ๓-๒ ศตวรรษก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศักราชที่ ๘ และที่กลิงคะปัตนัมซึ่งเป็นเมืองท่าปากแม่น้ำ Vamsadhara ไม่ไกลออกไป ก็พบแหล่งโบราณคดีในพุทธศาสนาสมัย ๒ ศตวรรษก่อนคริสต์กาลถึงคริสตฺศตวรรษที่ ๑ ขณะที่การขุดค้นที่ Bovikonda ใกล้กับวิสาขะปัตนัม มีการพบพุทธอารามและวิหารขนาดใหญ่ตลอดจนพระสารีริกธาตุในผอบที่มีอายุ ๓ ศตวรรษก่อนคริสตกาล เมื่อรวมแหล่งพุทธอื่น ๆ ที่ กลิงคปัตนัม, Bojjannakonda, Pavurallakonda, Ramatirtham, Lingarajupalem, Kodavali, Adurru, Dharapalem, Kagithammametta, Timmavaram, Erravaram, Amalapuram และ Gopalapatnamซึ่งล้วนอยู่ในเขตกลิงคะ ผู้คนที่นี่จึงน่าจะนับถือพุทธศาสนามาก่อนการพิชิตกลิงคะองพระเจ้าอโศกมหาราชนานมากแล้ว
ในรายงานดังกล่าวทั้งจากหลักฐานบันทึก พงศาวดารต่าง ๆ และ ทางโบราณคดี เขาสรุปว่าทันตปุระนี้คือนครหลวง Dantavaktrunikota ของแคว้นกลิงคะโบราณ ตั้งอยู่ใกล้กับ Amudalavalasa ในเขต Srikakulam ของรัฐอานธรประเทศปัจจุบัน ที่น่าจะรุ่งเรืองเป็นเมืองหลักเมืองหนึ่งในระดับ “ชนบท” ที่มีอารามวิหารมั่นคงมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว.
(๔) แล้วนครเราว่าไง ?
ในฐานะที่ชาวเราถืบพระบรมธาตุเจดีย์เป็นหลักใจ อะไร ๆ ก็พระธาตุทั้งนั้น แม้จะสนใจและรู้เรื่องตำนานพระธาตุกันไม่มากนัก ในขณะที่ตำนานธาตุวงศ์ของฝ่ายลังกานั้น น่าจะไม่มีใครรู้เท่าใด เนื่องจากไม่ค่อยได้ยินการกล่าวถึง อย่าว่าแต่ทนทบุรีในอินเดียอันเป็นที่มาของพระทันตธาตุในองค์พระเลย แม้เมืองนครหรือดอนพระนี้ ก็ดูเหมือนจะมีการศึกษาค้นคว้ากันไม่มากเท่าที่ควร ได้แต่ลอกตาม ๆ กันมาจากตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนคร ๒ ฉบับเท่านั้น จนเพิ่งจะมีการขุดค้นทางโบราณคดีไม่กี่หลุมเมื่อไม่นานนี้ เพียงเพื่อประกอบการเสนอพระธาตุสู่มรดกโลกเท่านั้น ส่วนตำนานทั้ง ๒ ก็เริ่มมีคนตั้งคำถามและเสาะหาตำนานอื่น ๆ หวังว่ารายงานฉบับนี้ของอินเดียที่ผมได้เจอและถ่ายทอดออกมานี้ จะพอมีปะโยชน์บ้างนะครับ.
๖ มีนาคม ๒๕๖๐