เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 18 September 2024
- Hits: 241
วันนี้ไหว้พระจันทร์ กันที่สองศาลเจ้าจีนที่ใจกลางเมืองนคร เมื่อปี ๒๔๓๐ … ๑๔๐ ปีก่อน
ForNakornFullMoonFestivalToday
(20240917_1 เพื่อแผ่นดินเกิด)
สมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช The Chinese Chamber of Commerce ขอให้ผมช่วยเขียนอะไรลงหนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปี ๒๕๖๗ นี้
จึเขียนออกมาอย่างยาว มีทั้งหมด ๙ ตอน ตั้งแต่
๑. ถามถึงจีนนคร
๒. บางเบาะแสของจีนท่าวัง ตอนร่วมกันสร้างคูริมถนนราชดำเนิน
เมื่อ ๒๔๕๕ ... ๑๑๕ ปีก่อน
๓. อีกเบาะแสจีนนครที่ทุ่งสง ตอนร่วมกันสร้างโรงพยาบาล
เมื่อปี ๒๔๖๒ ... ๑๐๕ ปีก่อน
๔. จีนนครกับเหมืองแร่ที่นครเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน
... ร่อนพิบูลย์ กะทูน ฉวาง ทุ่งสง และฉลอง สิชล ท่าศาลา
๕. พระยาประดินันท์แห่งเสรฐภักดีและนายกสมาคมสยามพาณิชจีนสโมสร
ที่พระนคร ก็จีนนครเมื่อ ๑๐๐ - ๑๓๐ ปีก่อน
๖. คือ ตงฮั้วเซียงหวย และ ตงหั้วหักเหา แห่งเมืองนคร เมื่อ ๙๐ ปีก่อน
๗. จีนนครกับตึกนคร เมื่อปี ๒๔๔๑ ... ๑๒๕ ปีก่อน
๘. สองศาลเจ้าจีนที่ใจกลางเมืองนคร เมื่อปี ๒๔๓๐ … ๑๔๐ ปีก่อน
๙. ควรคิดทำอะไร ในวาระ ๑๐๐ ปี สมาคมพาณิชย์จีนนครศรีธรรมราช
วันนี้วันไหว้พระจันทร์
จึงขอยกเรื่องที่ ๘ สองศาลเจ้าจีนที่ใจกลางเมืองนคร เมื่อปี ๒๔๓๐ … ๑๔๐ ปีก่อน
มาอ่านกันครับผม
สำหรับหนังสือนั้น ทราบว่าทางสมาคมพิมพ์เสร็จแล้ว
และจะแจกในงานคืนวันที่ ๒๒
ซึ่งผมติดกิจต้องรับแขกจากเมืองจีนที่พระนคร - ชุมพร - สุราษฎร์ - สงขลา
อาจพามาแวะนครด้วยครับผม
ใน https://nakhondragon.blogspot.com ได้ทำประวัติสองศาลเจ้าจีนในย่านท่าวังเมืองนครไว้ โดยการนำงานของคุณชวลิต อังวิทยาธร ที่ทำไว้ในหนังสือ ศาลเจ้าจีนในเมืองนคร เมื่อคราวงานแห่เจ้า-เมืองคอน ฉลองปีมังกรทอง ๒๑ - ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ มี ๕ ศาลเจ้า ประกอบด้วยศาลเจ้าม่าโจ๊ว ศาลเจ้ากวนอู ศาลพระเสื้อเมือง (ปึงเถ่ากง) ศาลเจ้าปึงเถ่ากงทวดทอง และศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนขอยกมาเพียง ๒ ศาลเจ้าที่ใจกลางย่านท่าวังเมืองนคร ดังนี้
ภาพศาลเจ้าพระกวนอู มีอาคารโรงเรียนอยู่ด้านหลัง ก่อนการปรับปรุงในปัจจุบัน และป้ายอุทิศทั้งสอง
ถวายโดยบริษัทเฉาเหยียน และ นายตันยิ้มจื้อ
ศาลเจ้ากวนอู เริ่มการก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชสมัยจักรพรรดิกวางซีฮ่องเต้ราชวงศ์ชิง มีหลักฐานเป็นแผ่นป้ายไม้จารึกอักษรภาษาจีนสดุดีเกียรติคุณเทพกวนอู แขวนไว้ภายในศาลเจ้า จำนวน ๒ แผ่น แปลได้ความว่า
แผ่นแรก : “ ทรงมีอานุภาพและสง่างาม ” บริษัท เฉาเหยียน จัดสร้างถวายในปี พ.ศ.๒๔๗๒
แผ่นที่สอง : “ ทรงมีคุณูปการในการปราบอาณาจักรเว่ยและรัฐอู๋ อย่างหาที่เปรียบมิได้ ” จารึกในปี ที่ ๑๓ ในรัชสมัยกวางซีฮ่องเต้ ( ตรงกับ พ.ศ.๒๔๓๐) ถวายโดย นายเฉินเยิ่นเสอะ ชาวอำเภอเหยาผิง (เหยี่ยวเพ้ง) เมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว)
คุณชวลิต ระบุไว้ว่า ศาลเจ้ากวนอูนี้ นายหลีซำเฮง พ่อค้าคหบดีชาวจีนแต้จิ๋วคนสำคัญกว้างขวางคนหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเสมือนผู้ใหญ่บ้านของชุมชนชาวจีนท่าวังในขณะนั้น ตั้งขึ้นในบริเวณที่ทำการค้าของท่าน (บริเวณเดียวกับปัจจุบัน) โดยอัญเชิญเทพกวนอูองค์นี้มาจากเมืองแต้จิ๋วเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๐ หลีซำเฮงมีชีวิตอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับนายลิ่มเฮียนปู่ บิดาของนายลิ่มซุ่นหงวน โดยขนานนามว่า “ศาลเจ้าพระกวนอูนครศรีธรรมราช”
หลังการมรณกรรมของนายหลีซำเฮง ประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๗ ทายาทของท่านได้รับการติดต่อขอซื้อที่ดินผืนดังกล่าวจากกลุ่มพ่อค้าคหบดีชาวจีนเพื่อใช้เป็นสถานที่สาธารณะกุศลและก่อตั้งสมาคมพาณิชย์จีนขึ้นในพื้นที่ดินเดียวกันกับศาลเจ้ากวนอูโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวจีนโพ้นทะเลในการติดต่อประสานงานกับส่วนราชการและจัดงานต่าง ๆ ของชุมชน จนในปี พ.ศ.๒๔๗๒ คณะกรรมการสมาคมพาณิชย์จีนในขณะนั้นได้ร่วมกับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชบริจาคเงินก่อสร้างอาคารที่ทำการสมาคมฯ หลังแรกเป็นอาคารคอนกรีตผสมไม้ โดยสร้างขึ้นบนที่ดินในสุดของแปลงจนแล้วเสร็จและสามารถเปิดทำการจดทะเบียนสมาคมฯ ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ คณะกรรมการสมาคมฯ ได้แต่งตั้งนายอึ่งจือฉิ้น (บิดาของนายฮุยเซ็งและนายฮุยฮวง แซ่อึ่ง อดีตนายกสมาคมพาณิชย์จีน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของสมาคมฯ ขณะนั้นเป็นผู้จัดการศาลเจ้าและตั้งให้นายกวงโต๋ แซ่ตัน (ต้นสกุลตันศรีสกุล) เป็นผู้จัดการฝ่ายสุสานจีนจงฮั้ว อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของสมาคมพาณิชย์จีนที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมฯ ต่อมาคณะกรรมการสมาคมพาณิชย์จีนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าทางเข้าออกของสมาคมฯ มีความไม่สะดวกและเหมาะสมเพราะตัวอาคารศาลเจ้ากวนอูตั้งบังเนื้อที่อาคารและทางเข้าออกของสมาคมฯ จึงได้มีมติให้เชิญชวนพี่น้องชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนกรุงเทพมหานคร ให้ร่วมกันทำบุญบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น โดยมีนายอึ่งจือฉิ้น ผู้จัดการศาลเจ้าเป็นแม่กองงานและอัญเชิญรูปเคารพองค์เทพเจ้ากวนอู พระโพธิสัตว์กวนอิม และเทพเจ้านาจาขึ้นไปประดิษฐานยังชั้นที่ 2 ของอาคารศาลเจ้า ส่วนชั้นล่างได้เว้นช่องกลางของตัวอาคารไว้เป็นทางเข้าออกของสมาคมฯ ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้
ภาพศาลเจ้าหม่าโจ้ว เมืองนครศรีธรรมราชและแผ่นป้ายอุทิศของตันยิ้มจื้อ
ศาลเจ้าหม่าโจ๊ว ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานบันทึกที่แน่นอน คุณชวลิต อังวิทยาธรสรุปไว้ว่า “ ... จากหลักฐานต่าง ๆ ทำให้ประมวลได้ว่าตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา พิจารณาทางด้านภูมิศาสตร์บริเวณท่าตีน – ท่าวัง จะเห็นได้ว่าเป็นแหล่งที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นอย่างมาก กล่าวคือบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของสันทรายนครศรีธรรมราชที่มีคลองท่าวังไหลตัดผ่าน ... เคยเป็นอู่เรือและเป็นปากทางสัญจรเข้าออกของเมืองนครมาก่อนตั้งแต่ยุคนครดอนพระซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ... และในบริเวณนี้มีหลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานที่แสดงถึงความเป็นชุมชนของชาวจีนอยู่มากมาย ... ได้แก่ (๑) โบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของชาวจีนในท่าวัง - ท่าตีนที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงของจีน ตรงกับสมัยอยุธยามาจนถึงสมัยจงหัวหมิงกั๊วสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๒) แผ่นสลักหน้าหลุมศพ ๒ แผ่น เคยตั้งอยู่ด้านซ้ายของหัวสะพาน(ทางขึ้นสะพานยาว) ด้านมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดศรีทวีหรือวัดท่ามอญ และถูกย้ายไปอยู่ที่วัดประดู่ แผ่นหนึ่งระบุผู้ตายชื่อ เจิ้นเอ๋อ (แต้ฮั้ว สำเนียงแต้จิ๋ว) เกิดที่อำเภอกู่ มณฑลฮกเกี้ยน ตายสมัยรัชสมัยเฉียนหลง ปีติ่งเฉ่า(ตรงกับ พ.ศ.๒๓๐๐) อีกแผ่นหนึ่งผู้ตายชื่อจูตั่ง ชาวเมืองกานโถว มณฑลฮกเกี้ยน ตายสมัยรัชสมัยเฉียนหลง ปีที่ ๓๓ (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๑๑) และ (๓) ศาลเจ้าหม่าโจ้ว ... ”
ศาลเจ้าหม่าโจ้ว เป็นศาลเจ้าที่เคารพนับถือของชุมชนให้ความคุ้มครองในการเดินเรือสัญจรทางทะเล ภายในศาลเจ้ามีแผ่นป้ายไม้ขนาดใหญ่อยู่เหนือซุ้มประธานจารึกเป็นอักษรจีน 波扬不海 ออกเสียว่า ฮ่ายปุหยางปอ แปลความว่า “ทะเลคลื่นสงบหรือทะเลไม่มีคลื่นเป็นอุปสรรค” ผู้บริจาคแผ่นป้ายชื่อ เฉินเยิ่นเสอะ ชาวอำเภอเหยาผิง เมืองเฉาโจว(แต้จิ๋ว) จารึกในรัชสมัยกวางซี ปีที่ ๑๔ (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๓๑) และอีกแผ่นเขียนว่า “ทะเลฟูเจี้ยนสงบไม่มีคลื่นเพราะความเมตตาของพระองค์ ผู้คนในเขตเทือกเขาเหมยโจวของฟูเจี้ยน ต่างมีความผาสุขและอายุยืนเพราะพระองค์” ถวายโดยเฉินเยิ่นเสอะ ชาวอำเภอเหยาผิง เมืองเฉาโจว (แต่จิ๋ว) จารึกในปีติ่งไห้ รัชสมัยกวางซี (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๓๐)
ซึ่งนายหลีซำเฮงที่กล่าวถึงนั้น ก็คือขุนนารถจินารักษ์ นายอำเภอจีนแห่งเมืองนครที่กล่าวถึงตามลำดับมาแล้วในบทความที่ผ่านมา ส่วนนายเฉินเยิ่นเสอะ ชาวอำเภอเหยาผิง (เอี่ยวเพ้ง) เมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) ผู้สร้างป้ายอักษรเชิดชูเล่าปี่ถวายไว้ที่ศาลเจ้ากวนอู และ นายเฉินเยิ่นเสอะ ชาวอำเภอเหยาผิง เมืองเฉาโจว(แต้จิ๋ว) ผู้สร้างป้ายอักษรถวายที่ศาลเจ้าหม่าโจ้ว ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ รวมกัน ๔ หรือ ๕ ป้ายในสองศาลเจ้านั้น คือคนเดียวกัน ปรากฏในบทความมาแล้วในชื่อของ ตันยิ้มจื้อ จากอำเภอเหยี่ยวเพ้ง ซึ่งก็คือบิดาของนายตันยิดเส็ง หรือ ขุนบวรรัตนารักษ์ นั่นเอง ขณะที่นายหลีซำเฮง หรือ ขุนนารถจินารักษ์ นั้น หลังจากนายตันยิ้มจื้อเสียชีวิตก็ได้กับอำแดงอิ่ม มารดาของขุนบวรรัตนารักษ์ ขณะที่ลิ่มซุ่นหงวน คือลูกของนายลิมเฮียนปู่ และเป็นน้องชายของอำแดงอิ่มนั่นเอง
๑๗ กันยา ๖๗ ๐๗๕๕ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1627517881476661&set=pcb.1627524851475964