เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 24 October 2024
- Hits: 60
นี้ที่ทิ้งท้ายไว้ครับ ...
ThisTheLastNote ...
(20241020_5 เพื่อแผ่นดินเกิด)
กล่าวโดยสรุป จาก ๘ แผนที่นี้ ประเทศไทยและเมืองนคร รวมทั้งเมืองอื่น ๆ มีปรากฏบนแผนที่ของโลกตะวันตกชัดเจนในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พุทธศตวรรษที่ ๒๒ ตอนต้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีปรากฏบนรูปแผนที่โบราณจากตำราภูมิศาสตร์สมัยพุทธศตวรรษที่ ๗ เมื่อเกือบ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุชัดว่า ณ ตำแหน่งไหนและชื่ออะไรแน่ แต่อยู่บนคาบสมุทรไทย-มาเลย์ หรือแหลมทอง หรือสุวรรณภูมิแน่นอน และมีหลายข้อเสนอสันนิษฐานถึงเมืองนครไม่น้อย โดยยังต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าจนกว่าจะพบหลักฐานรองรับสนับสนุนที่แข็งแรงขึ้น ทั้งนี้ Perimulicas sinus นั้นน่าจะคืออ่าวไทย ส่วน Perimula หมายถึงที่ไหนยังต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เช่นกันกับที่ Tacola emporium ซึ่งแต่เดิมเชื่อกันมากว่าคือตะกั่วป่านั้น เริ่มมีหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนมาก อาจหมายถึงบริเวณคอคอดกระซึ่งมีความเป็นไปได้ของการค่อย ๆ คลี่คลายเคลื่อนย้ายลงใต้ไปตามลำดับจนถึงตะกั่วป่า จนกระทั่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดินแดนสยามและหลายเมือง ทั้งในเขตสยามและภูมิภาครายรอบ ได้รับการสำรวจศึกษาและนำมาปรากฏบนแผนที่มากขึ้น โดยเฉพาะบนเส้นทางการเดินเรือทะเล เฉพาะที่เป็นนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน มีปรากฏบนแผนที่ถึง ๕ ตำแหน่ง คือ Ligor, Clay, Along, Cornane และ เกาะกระ – Pullo Cara นอกฝั่งปากพนังด้วย ที่สำคัญคือการปรากฏอย่างต่อเนื่องสืบมา รวมทั้งการปรากฏในนามราชอาณาจักรลิกอร์ ที่อยู่ในราชอาณาจักรสยามเรื่อยมา ขณะที่บางแห่งมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งขอบเขตของราชอาณาจักรสยามและราชอาณาจักรอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดมา ทั้งนี้อาณาบริเวณของลิกอร์แต่ครั้งโบราณนั้นก็อาจครอบคลุมกว้างขวางแทบทั้งคาบสมุทรไทย ไม่ได้เพียงเฉพาะที่เป็นจังหวัดนครศรีธรรมราชในทุกวันนี้
สำหรับ Samarade ที่ปรากฏในตำราภูมิศาสตร์ของโทเลมีที่ตั้งอยู่ก้นอ่าวไทยนั้น ยังเป็นปริศนาว่าทำไมจึงมีชื่อสอดคล้องกับ สามรัฐ และหรือ สยามรัฐ ที่เป็นไทยในทุกวันนี้ มีอะไรเกี่ยวข้องอะไรกันหรือไม่มาแต่เมื่อเกือบ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว ส่วนด้านภูมิศาสตร์ที่แผนที่แสดงร่องรอยการมีเกาะใหญ่ก่อนการเกิดเป็นทะเลสาปสงขลา อ่าวนคร และ แหลมตะลุมพุกนั้น หากได้เทียบเคียงกับอีกหลายแผนที่ที่มีการทำไว้มาก ก็จะได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับแหล่งต้นน้ำของ ๖ แม่น้ำสำคัญทางตอนเหนือขึ้นไป ที่ทุกวันนี้มีการสำรวจอย่างละเอียดจนถี่ถ้วนแล้ว
ส่วนรายละเอียดแต่ละแผ่น ที่ทำไว้ และพรุ่งนี้จะทำต่อ
ไว้รอติดตามที่เพจ #TheLibraryAtNakorn ทุกวันพุธนะครับ
#บวรนคร #ตึกยาว #แห่งผู้ยิ่งใหญ่ด้วยปัญญา
๒๐ ตุลา ๖๗ ๒๒๔๔ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1653465182215264&set=pcb.1653469295548186