เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 23 March 2017
- Hits: 1373
อีกข้อคิดความเห็นของนักบริหารวิชาเกิน
Another non-Academic Executive Serplus
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170322_3)
ในงานนี้ มีนักวิชาเกินคนหนึ่งที่ผมพลาดท่าพาไปด้วย
โดยพื้นฐานแล้วแกเป็น "มนุษย์สุขนิยมช่างใฝ่รู้"
มีตำแหน่งแห่งหนเป็นถึงผู้อำนวยการ รพ.หนึ่งในภาคเหนือ แท็กเข้ามาว่า "พอดีวันที่ ๙ เข้า กทม.มีอะไรไหมครับ ?" ผมก็ตอบแต่เพียงว่า "น่าจะกำลังยุ่ง" แล้วเกิดพลาดถามไปว่า "จะมาร่วมด้วยไหม ?" เท่านั้นแหละ พี่แกมารออยู่ที่บ้านก่อนใครเพื่อน
รุ่งขึ้นก็ตามไปรับหนังสือรอยโรมันก่อนที่จะปลีกตัวไปประชุม พอบ่าย ๔ เลิกประชุมแล้วยังเลื่อนการเดินทางกลับบ้าน มาเอาเสื้อผ้าผมแล้วตามไปด้วยทั้ง ๒ วัน ด้วยนิสัยน้องนุ่งที่ลืมตัวมาเป็นนายผมเสมอ ๆ
ดูรูปเอาก็รู้ว่าสุขนิยมขนาดไหน ?
เปิ้นกนเมือง ก่างจ้องลงสนามแต่ผู้เดียว
บ่เผื่อไผเลย อ้ายน้องของผม ๕๕๕
กลับไปถึงบ้านแล้วส่งสารมาอย่างนี้ครับ
เขียนเล่าให้เพื่อนๆฟังครับ
พร้อมๆกับตั้งใจจะreflect
มาในแบบของคนนอกด้วย
จึงขอส่งมาให้พี่เต้ยครับ
16/3/60 : อู่ทองที่เห็น
ในฐานะคนนอกไม่ใช่นักวิชาการที่"บังเอิญ"ได้ร่วมไปกับการออกภาคสนามของ มินิเวิร์คชอปเรื่อง U Thong:The Ancient Transcontinental Entrepot (อ่าน อ๊าง เทอ โพ/แปลว่า ศูนย์กลางการค้า) ระหว่าง10-12มีค.60 มาแล้วนั้น ผมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับทริปนี้บางประการอย่างนี้ครับ
FRI 12:24AM
1.ได้รู้จักอาณาจักรทวารวดีและเมืองอู่ทองดีขึ้น จากเดิมที่คนส่วนใหญ่รวมทั้งผมด้วยแทบไม่รู้จักว่ามีความสำคัญมากเพียงใด เป็น Lost Kingdom อย่างแท้จริง แต่จากหลักฐานที่ได้มีการนำเสนอ ผมเชื่อว่าเหล่านักวิชาการคงไม่สามารถปฏิเสธความเป็น อ๊าง เทอ โพ ได้อย่างแน่นอน
-ที่อู่ทองผมได้เห็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทยและยังเป็นหลักฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนาเริ่มแรกที่สุดเท่าที่พบมา อันได้แก่ แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุสามองค์อุ้มบาตร และชิ้นส่วนปูนปั้นพระพุทธรูปนาคปรก(ศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 9-10) (รูป)
-ได้รู้ว่าเมืองอู่ทองนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับตำนานพระเจ้าอู่ทองที่พาผู้คนหนีโรคห่าย้ายไปก่อตั้งเมืองอโยธยา ดังที่ปรากฎในพระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงฯในหนังสือ"นิทานโบราณคดี" และที่เราได้เรียนกันมาเรื่องกำเนิดอยุธยา
-แต่ก็ยังได้เห็นแม่น้ำจรเข้สามพันในตำนาน ที่ยังไม่ถึงกับตื้นเขินแต่อย่างใด
-ได้ความรู้สิ่งละอันพันละน้อยที่ไม่เคยรู้มาก่อนเช่น การใช้ลูกมะกล่ำตาแดงเป็นมาตรน้ำหนักการทำเงินตราสมัยก่อน ,มาลดีฟคือแหล่งส่งออกหอยเบี้ย(cowrie)ทำเงินตราให้ประเทศต่างๆ ,วิธีหนึ่งในการพิสูจน์ความจริงแท้ของเหรียญตราสมัยโรมันคือการชั่งน้ำหนัก ฯลฯ
2.ได้เห็นวัตถุโบราณที่เป็นชิ้นสำคัญๆสุดยอดของประวัติศาสตร์ชาติไทย
-นอกจากวัตถุสองชิ้นในข้อ1.แล้ว ผมยังโชคดีมากๆได้เห็น ธรรมจักรพร้อมแท่นวางและเสา แบบฉลุซี่ล้อโปร่งจากพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่จัดว่างดงามที่สุดเท่าที่เคยพบมา
-ชุดพระอมิตาภะ สำริด นิกายสุขาวดีจากพุทธศตวรรษ 13-14 งดงามมากเช่นกัน (รูป)
-จารึกคาถาเยธมมา อักษรปัลลวะบนพระพิมพ์ แท่งหิน แท่งอิฐ อันเป็นหลักฐานการประดิษฐานของพระพุทธศาสนายุคแรกเริ่มอีกอย่างหนึ่ง(รูป)
-ชุดเครื่องประดับทองคำ เศียรพระพุทธรูปทองคำ เหรียญกษาปฌ์โรมัน ของเมืองอู่ทอง หรือเหรียญเงินจารึกคำว่า "ศรีทวารดี ศวรปุณย"ซึ่งบ่งบอกว่าที่นี่คือดินแดนแห่งทวารวดี (รูปเครื่องประดับทอง และ รูปเหรียญเงิน) จะเสียดายอยู่นิดเดียวตรงที่วัตถุชุดนี้มีขนาดเล็กมาก ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย สายตาของคนอายุอย่างเราแถมไม่มีแว่นขยายทำให้ไม่เห็นรายละเอียดได้ชัดเท่าที่ควร(รูปทองและเหรียญ)
-แผ่นดินเผาภาพต่างๆที่งดงามของอู่ทอง(รูปคนฟ้อนรำ คนสวมสร้อย คนจูงลิง)
-ชุดรูปปูนปั้นจากคูบัวและเจดีย์จุลประโทน รวมถึงพระพุทธรูปศิลาขาวแห่งพระปฐมเจดีย์(รูปพระพุทธรูปศิลาขาว)
-และยังรวมถึงของสำคัญของชาติ ที่ไม่ได้เห็นในงวดนี้แต่ได้ยินการพูดอ้างถึงบ่อยมาก อาทิเช่นตะเกียงโรมันสำริดและพระพุทธรูปสำริดสมัยหลังคุปตะจากเมืองโบราณพงตึก กาญจนบุรี ต้องหาโอกาสไปชมที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่กรุงเทพฯให้ได้(รูปตะเกียง)
3.ค้นพบว่ามีมิวเซียมเล็กๆ แต่สวยงามและจัดแสดงได้ดี ในจ.ที่ไม่เคยคิดว่าจะมี คือที่ราชบุรีและพระปฐมเจดีย์ และยังได้เห็นการทำงานอันกระตือรือร้นของนักโบราณคดีหนุ่มสาวเช่น คุณนก ศุภมาศ ผู้ขุดค้นเจอวัตถุสำคัญหลายอย่างที่อู่ทอง(รูปที่คอกช้างดินและการขุดค้นที่วิหารถ้ำ)
4.ได้เห็นกิจกรรมมินิเวิร์คชอปภาคสนามของนักวิชาการโบราณคดีนานาชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ดูจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ถึงแม้เนื้อหาจะ"เยอะ"และอัดแน่นเนื่องจากมีจุดที่ต้องไปแวะมากแห่ง แต่ก็ทำได้ครบเกือบทุกจุดภายในระยะเวลาแค่สองวันสองคืน ถ้าทำแบบทัวร์ทั่วๆไปคงต้องใช้เวลามากขึ้นเป็นสองเท่าอย่างแน่นอน ทำเช่นนี้ได้ก็เพราะอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบของผู้จัดรายการ การตรงต่อเวลาอย่างมากของสมาชิกทัวร์ รวมไปถึงทักษะอันยอดเยี่ยมของหัวหน้าทัวร์ในการกวาดต้อนบรรดาเหล่าลูกทัวร์ให้ตรงตามกำหนดเวลา !
-นึกถึงใบหน้าของ ดร.อนันต์จากอินเดียที่มีท่าทางตื่นเต้นมาก เดินเก็บเศษภาชนะดินเผาที่พบเกลื่อนบริเวณแหล่งขุดค้นของชาวบ้านบริเวณด้านเหนือของวัดโขลงฯ เอาไปวิเคราะห์ต่อ
-ดร.เซอร์เกย์ จาก Miho Museum เกียวโต ผู้ชอบเถลไถลออกนอกเส้นทาง และมีความประหลาดที่ชอบจะถ่ายรูปตลอดเวลาที่นั่งอยู่ในรถถ่ายไปแม้กระทั่งห้างเทสโก้ ความถี่การถ่ายประมาณ 1 รูปต่อวินาที
-แกยังพูดได้หลายภาษามาก เป็นฝรั่งพูดจีนได้คล่องปรื๋อ พูดกับจีนพูดจีน กับลาวและเวียตนามพูดรัสเซีย แต่กับเยรมันและไทยพูดอังกฤษ
-ไม่มีใครชอบช้อปปิ้งเลย (อันนี้ดีต่อการบริหารเวลา) เห็นซื้อกันก็แต่ มะม่วง ข้าวสารอินทรีย์ และหนังสือจากร้านในมิวเซียม
-และไม่ใคร่มีใครจะชอบดื่มสักเท่าไหร่ ชวนยังไงก็มีแต่ ดร.เซอร์เกย์คนเดียวที่จะดื่มเบียร์แค่นิดหน่อย แต่การ discuss อันไหลลื่นบนรถตอนขากลับกรุงเทพฯของดร.เซียง จากมหาลัยเสฉวน เกี่ยวกับเรื่องคนไทยมาจากไหน เรื่องกลองสำริดดองซอน เรื่องชนชาติจ้วง ผมว่าน่าจะเป็นผลจากช้างหนึ่งขวดที่เราเสริฟตอนมื้อเย็นนะ !
โดยรวมแล้ว นับว่าการไปสุพรรณบุรีครั้งแรกของผม นั้นยอดเยี่ยมมาก
ขอขอบคุณพี่เต้ยครับที่กรุณาชวน
๒๒ มีค.๖๐