เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 01 June 2017
- Hits: 1695
แล้วพลเมืองกับศาลาประดู่หก ?
ทั้ง "ศักดิ์สิทธิ์" ทั้ง "แสนสนุก" ไหมครับ
The Civic DoeHoke Pavilion ?
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170531_2)
ในหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราชที่อาจจะเป็นเล่มแรก ๆ เล่มหนึ่ง ที่จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งนำบทความ ชื่อ "นครศรีธรรมราช" ของ ตรี อมาตยกุล ที่เขียนไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ มาลงไว้ มีแต่กำแพงเมืองและประตูเมือง ไม่มีการกล่าวถึงทั้งสนามหน้าเมืองและศาลา-ประดู่แต่อย่างใด
ก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีหนังสือน้อยเล่มหนึ่ง ของมนต์ เมืองใต้ ที่น่าจะมาจากสารคดีการท่องเที่ยว ชุด "รอบเมืองไทย" ของ ททท. มโหสโถภิกขุ แห่งวัดมกุฏกษัตริยาราม ระบุไว้ให้สะดุดนิด ๆ ว่า
"...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเมืองบ่อเกิดแห่งการเล่านิทานในเชิงคิดเชิงขัน ซึ่าถ้ารับฟังอย่างลวก ๆ หรือมักง่ายแล้ว ผู้รับฟังจะหนีตำแหน่งความเป็นคนเบาเต็งไปไม่ได้ แต่โดยเนื้อหา เป็นเรื่องซึ่งวางอยู่บนรากฐานแห่งความสัตย์จริงทีเดียว มีเป็นต้นว่าเมืองนครมีศาลาโดหก ใบจากเมืองนครใหญ่พอที่ปูนอนได้ ผลขนุนตกจากยอด ๓ เดือนแล้วยังไม่ถึงพื้นดินสักที พิธีจูงควายเข้ากระบอก ฯลฯ อะไรทำนองนี้..."
กระทั่งพบอีกเล่มที่น่าจะเป็นสูจิบัตรของคณะกรรมการฝ่ายต้อนรับสื่อมวลชน ในการจัดการแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๗ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ พบบทความ "นครศรีธรรมราช" ของดิเรก พรตตะเสน สื่อมวลชนชาวนครผู้รู้เรื่องและปราดเปรื่องที่สุดของเมืองนครในสมัยนั้น เขียนถึง "ศาลาโดหก" ไว้ว่า "...แท้จริงคือศาลาหน้าเมือง สร้างขึ้นไว้ตามความนิยมของการสร้างเมืองยุคโบราณ สมัยต้นรัตนโกสินทร์มีผู้ปลูกต้นประดู่รายรอบศาลาไว้ ๖ ต้น พอต้นประดู่เจริญสาขาใหญ่โตขึ้น ชาวเมืองก็จับเป็นสัญญลักษณ์ เรียก หลาโดหก ตามสำเนียงของชาวเมือง ซึ่งหมายถึงศาลาที่มีประดู่ขึ้นอยู่ ๖ ต้นนั่นเอง โดยปกติศาลาหน้าเมืองเป็นศาลาพักร้อนและเป็นศาลาไสยาทานของคนเดินทางเข้าเมืองในยามวิกาลไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อคนแปลกหน้าต่างบ้านต่างเมืองโคจรมาชุมนุมพักค้าง ก็ย่อมมีนิทานเล่าสู่กันฟัง ภายหลังจึงเกิดมีตำนานว่า ศาลาหน้าเมืองแห่งนี้เป็นแหล่งชุมนุมโกหกกัน ศาลาหน้าเมืองปัจจุบันเป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ณ จุดเดิม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แล้วติดป้ายบอกชื่อว่า ศาลาประดู่หก..."
อีกเล่มที่ผมไม่ดูไม่ได้ เพราะเป็นเล่มงานพระราชทานเพลิงศพคุณ๖าขุนบวรรัตนารักษ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งได้รับต้นฉบับ "นครศรีธรรมราช" ที่ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ นครศรีธรรมราช ในขณะนั้นมาจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ โดยไม่ปรากฏในบทแนะนำปูชนียวัตถุและโบราณสถาน แต่ส่งท้ายในบทว่าด้วยสติปัญญาและนิสัยใจคอของชาวเมืองไว้ ๔ หน้า มีตอนหนึ่งว่า
"...ถ้าว่าถึงด้านคารมคมคาย ชาวกรุงเทพฯ และชาวเมืองอื่นเป็นจะสู้ไม่ได้ และดูเหมือนจะเป็นคู่ปรับกันในทางฝีปากมานานแล้ว ดังมีตัวอย่างเล่าขานสืบกันมาหลายเรื่อง ทั้งนี้ คงจะมีสาเหตุมาจากเรื่องศาลาโกหก คือศาลาหน้าเมือง อันเป็นศาลาที่ชาวนครฯ มาชุมนุมคุยกันด้วยเรื่องร้อยแปด ใครมีอะไรนำมาเล่าสู่กันฟัง จริงบ้างเท็จบ้างเป็นของธรรมดา และก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ คุยที่อื่นก็ไม่สนุกเท่ากับมาจับกลุ่มคุยกันที่ศาลาหน้าเมือง จึงเกิดเป็นข่าวใหญ่กระจายไปทุกทิศทาง แม้กระทั่งกรุงเทพฯ มีผู้จดจำไปเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องขำ ๆ หลายเรื่อง ซึ่งไม่ได้มุ่งหมายจะให้เป็นเรื่องจริงจังอะไร นอกจากฟังแล้วก็หัวเราะ เฮฮากันเล่นเท่านั้น แต่ต่อมานานเข้า ข้อเท็จจริงชักจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ก็อย่างที่เสฐียรโกเศศท่านได้กล่าวว่ามีผู้ไม่เข้าใจเหตุผล เชื่อง่าย จึงสรุปคิดว่าเป็นเรื่องจริงกระมัง แล้วไปเกณฑ์ให้ชาวนครฯ เป็นพระเอกในเรื่องที่เล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ อย่าว่าแต่ชาวนครฯ เลย ถึงชาวเมืองอื่น เช่น ชาวกรุงเทพฯ ถ้าต้องถูกเป็นตัวพระเอกในเรื่อง ใครเล่าจะไม่เดือดร้อนใจ ใครเล่าจะไม่โกรธ หรือไม่โกรธก็ต้องรำคาญใจ ต้องหาทางแก้เผ็ดบ้าง ดังที่มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า..."
เป็นไงครับ ทั้ง "ศักดิ์สิทธิ์" ทั้ง "แสนสนุก" ไหมครับ
ศาลาโดหกที่บ้านผม !!!
๓๑ พค.๖๐