เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 30 March 2016
- Hits: 2398
พรุ่งนี้พบกันที่สยามสมาคมนะครับ (ตามกำหนดการใหม่ที่แนบ) เพื่อร่วมตอบคำถามเรื่องพระธาตุนคร มรดกเรา ... มรดกใคร ? ๘๔๐ ปีแล้ว, ๑๐๐ ปีแล้ว ... ใครคือคนตอบ ? มาร่วมกันหาคำตอบแล้วขับเคลื่อนกันไหม ? ถึงวันนี้ ไม่อาจรับรู้ได้ว่าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชและวัดพระธาตุนี้มีอายุกี่ปีแล้ว หลายการศึกษาในระยะหลังเริ่มสรุปว่าอย่างน้อยที่สุด มีหลักฐานการร่วมสถาปนาองค์พระสถูปใหญ่รูประฆังคว่ำขึ้นที่หาดทรายแก้วนอกเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อราวพุทธศักราช ๑๗๑๙ โดยสามมหาธรรมราชา พระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ แห่งกรุงลงกา พระเจ้านรปติสิทธูแห่งพุกามประเทศ และ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งสิริธรรมนครตามพรลิงค์ ซึ่งถึงปีหน้า พุทธศักราช ๒๕๕๙ จะครบ ๗๐ รอบนักษัตร หรือ ๘๔๐ ปีแล้ว ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ นี้ จะครบรอบ ๑๐๐ ปี ที่กระทรวงธรรมการ จัดระเบียบพระอารามหลวงให้วัดพระธาตุเมืองนคร มีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด "วรมหาวิหาร" ในชื่อ "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" เป็นที่สถิตพำนักรักษาถาวรโดยคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย มิได้เป็นเพียงพุทธาวาสที่มีคณะสงฆ์และเหล่าพุทธบริษัทจากทุกทิศหมุนเวียนกันมาปฏิบัติรักษาตามธรรมเนียมประเพณีโบราณ " ๔ การักษาพระธาตุ - กาเดิม การาม กาแก้ว และ กาชาด" มีมหาเถระเข้าดำรงสถานะประธานแห่งอาวาสถึงทุกวันนี้ ๖ รูป ประกอบด้วย พระครูวินัยธร (นุ่น) ที่สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพรกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงอาราธนาจากวัดเพชรจริกพร้อมด้วยพระสงฆ์เข้าประจำพรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ต่อด้วยพระครูปลัดแก้วชิน จากวัดพระนคร พระญาณเวที (ยติกเถระ ลือ เปรียญ) พระรัตนธัชมุนี (คณฺฐาภรโณ แบน เปรียญ) พระธรรมรัตโนภาส (ประดับ โอภาโส เปรียญ) และรูปปัจจุบัน พระเทพวินยาภรณ์ (สมปอง ปญฺญาทีโป) เมื่อระลึกถึงที่เคยคุยกับหลาย ๆ คนที่เมืองนครว่า อันที่จริงพระธาตุของเรานั้นเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้องให้ใครมารับรอง ยิ่งต้องไปเที่ยวร้องขอหรือทำตามกติกาของเขาด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เว้นแต่ว่าพระธาตุเราจะอยู่ในภาวะทรุดโทรมสุ่มเสี่ยง ซึ่งชักไม่แน่ใจจากกรณีการจัดการรอยคราบสนิมที่ไหลเยิ้มลงมาจากปลียอดทองที่ยืดเยื้อเหลือเชื่อขนาดท่านเจ้าคุณสมภารยังเหนื่อยในการตาม แต่ที่กลัวที่สุดก็คือ กลัวว่าที่ใคร ๆ กำลังลุ้นและหวังว่าจะได้เป็นมรดกโลกเพื่อเป็นเพียงจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวทำเงินเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ควรรีบขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามความหมายที่ว่าอย่างยิ่ง แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าขึ้นทะเบียนแล้วจะได้ช่วยกันพิทักษ์รักษา หรือว่ารุมกันหาประโยชน์ แล้วลงเอยด้วยการถูกขู่ว่าจะถอดจากมรดกโลกอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างที่ได้ยินอยู่เนือง ๆ กับมรดกอื่น ๆ ในประเทศไทยทั้ง ๕ แห่ง ที่ล้วนเร่งรีบเพื่อให้ได้มาเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนแล้วก็หยุดอยู่อย่างนั้นจนถึงทุกวันนี้ ๒๐ กว่าปีแล้ว สำหรับท่านทั้งหลายนั้น พระธาตุนครเข้าข่ายไหน เป็นอย่างไร จะเอาอย่างไรกันแน่ ? สำหรับผมนั้น พระธาตุทรงสถานะเป็น "บรมธาตุที่เป็นมรดกธรรมที่แท้และเหนือกว่ามรดกใด ๆ" (แม้จะเพียงสมมุติตามสังขตธรรมก็ตาม) ถึงวันนี้ที่เดินหน้ากันมาปานนี้แล้ว คงไม่มีทางอื่น นอกจากช่วยกันเท่าที่พอมีกำลังและโอกาส สร้างอีกกรณีศึกษาที่ "เป็นทั้งมรดกโลกและมรดกธรรม" ที่มีชีวิตจิตวิญญาณอย่างชเวดากอง พร้อมพิทักษ์ปกป้องมิให้เสื่อมทรุดเสียหายอย่างฮาลิน เบกถาโน ศรีเกษตร และไม่ถูกเติมต่อจนเสียสภาพอย่างพุกาม แล้วมีส่วนร่วมในการนำพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองอย่างสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ พร้อมกับยังคงสภาพเป็นศูนย์ศรัทธาและการเรียนรู้สำคัญของถิ่น มิใช่เพียงเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทำเงินเท่านั้น และถึงที่สุดก็ไม่เห็นจะต้องคอยให้ใครมารับรองว่าเป็นมรดกโลกแล้วด้วยซ้ำ. อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ๓๐ - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ปรับปรุงจาก บทความ ๑) พระธาตุนคร...ยิ่งกว่ามรดกโลก ๒) เพียงแค่นี้ก็เกินครบ ๑๐ ข้อบ่งชี้ เรื่องพระธาตุ มรดกโลก และ ๓) กรณีศึกษา ๓ มรดกโลกจากพม่า พยู พุกาม และ เชวดากอง ในคอลัมน์ นครดอนพระ หนังสือพิมพ์รักบ้านเกิด ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔, ฉบับที่ ๓ เดือน ธันวาคม ๒๕๕๔ และ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๘