เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 04 October 2017
- Hits: 1412
รู้จักกำแพงเมืองจีนกับการผ่านเพียง ๒ ชม.
The Great Wall Explained within 2 Hours
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170926_1)
วันที่สามของการเดินทางลัดเลาะเพื่อเรียนรู้จีน
หลังจากทบทวนประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน
ที่เริ่มเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีก่อนในราชวงศ์ เซี่ย-ชาง-โจว
จนรวมชาติได้ในสมัย จิ๋น-ฮั่น เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีก่อน
แล้วแตกเป็นสามก๊กกับหลายอาณาจักรเหนือ-ใต้ ซ้าย-ขวา อยู่เกือบ ๕๐๐ ปี
กระทั่งรวมใหม่ได้อีกในสมัย สุย-ถัง-ซ้อง เมื่อ ๑,๐๐๐ กว่าปีก่อน
โดยกล่าวกันว่าตลอด ๓-๔,๐๐๐ ปีนี้ นี่เอง
ที่หลายชน-ชาติแห่งลุ่มน้ำฮวงเหอ
ได้ผสมผสานกันจนกลายเป็น "ฮั่น" อันยิ่งใหญ่
ขยายลงใต้ไปครอบครองแดนใต้ในลุ่มแยงซี
จนจรดทะเลใต้ที่เคยเป็นแดนของชาวเยว่
รวมทั้งกว่างสี จ้วง กว่างตุ้ง ไหหลำ ฯลฯ
ใช้ศูนย์บัญชาการกลางใหญ่ในฐานะนครหลวงกลาง
ย้ายไปมาในย่าน เซี่ยงหยาง-ซีอาน กับ ลั่วหยาง-ไคฟง
ซึ่งอยู่ในลุ่มฮวงเหอฟากตะวันตกกับตะวันออก
ประมาณว่าตอนแรกตั้งอยู่อยู่ทางตะวันตก
พอตกต่ำก็หลีกลี้ออกไปทางตะวันตก
แถมที่ตกตำ่มาก ๆ ก็ลงไปใต้ ที่แยงซี เช่นที่นานกิง
กำแพงเมืองจีนนี้
อันที่จริงมิใช่กำแพงเพื่อกั้นอย่างเบ็ดเสร็จอย่างที่เห็น
แต่เป็นเพียงเส้นบอกและปกป้องเขตแดนที่ซุนยัตเซ็นกล่าวไว้ว่า
หากไม่มีกำแพงนี้
โลกตะวันออกรวมทั้งจีนก็ไม่มีทางเป็นอย่างที่เป็น
ในหนังสือเล่มสำคัญล่าสุด
The Great Wall Explained
ที่คนอังกฤษคนหนึ่งไปทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อหาคำตอบ
และผมเพิ่งได้มาอ่านเมื่อคราวกลับจากกว่างสี
บอกว่า
ที่เห็นเหลืออยู่ทุกวันนี้นั้นมีเพียงร้อยละ ๘ อีก ๑๘ เหลือเพียงบางส่วน
ร้อยละ ๓๑ สาบสูญสิ้น ร้อยละ ๑๙ น้อยนิด
อีกร้อยละ ๒๔ เป็นเสี่ยง ๆ
โดยที่เหลืออยู่ดูดีและสมบูรณ์นั้น มีเพียง ๖๐๐ กิโล
รายรอบนครหลวงปักกิ่ง
สร้างใหม่หมดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ในสมัยราชวงศ์เหมา-เติ้ง ฯลฯ (อันนี้ผมว่าเองครับ)
เอาให้สั้น ๆ
กำแพงเมืองจีนนั้นมีมาแต่เดิมในยุคที่รบกันเละ
เมื่อหลังราชวงศ์โจวตกต่ำ
แล้วแต่ละเจ้าก็แข่งขันประชันกัน ในยุค "จ้านกว๋อ"
ที่ว่ากันว่าเหลืออยู่ ๗ แคว้นสำคัญขับเคี่ยว
โดยเป็นกำแพงเพื่อกันเขตของตน
รวมทั้งกันเขตทางเหนือที่มีชนชาวที่ราบสูงและทะเลทราย
ซึ่งเชียวชาญเชิงม้า ไม่ตั้งถิ่นฐานการเกษตร-กสิกรรม
แต่อยู่กันเป็นคาราวาน เก่งการเลี้ยงสัตว์
ยกย้ายไปปล้นล่ารายทาง
โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่สมบูรณ์ทางตอนล่างในลุ่มน้ำฮวงเหอ
เมื่อจิ๋นซีหวงสามารถเผด็จศึก
จึงสานต่อด้วยการเชื่อมต่อกำแพงเดิม
ให้เป็นปราการด้านเหนือที่ต่อกันจากกลางทะเลทรายไปจนจรดชายทะเลเหลือง
มีทั้งที่เป็นเพียงกองฟาง เนินดิน ก่ออิฐ และ กองหิน
เพื่อบอกเขตว่า นี้เขตข้า อย่าล้ำ !!!
โดยมีการตั้งกองรักษาการณ์รายทาง
พร้อมป้อมประตู โดยเฉพาะหอคอยสูง
ไว้เฝ้าระวังภัย หากมีอะไร ก็มีระบบส่งสัญญาณเตือนภัย
ด้วยสัญญาณไฟและควัน อย่างนี้อย่างนั้น
สามารถส่งตรงอย่างรวดเร็วตามความเร็วของแสงและสายตา
ต่อเนื่องด้วยระบบม้าเร็ว
เสมือน Hi Speed Information Highway
ถึงศูนย์บัญชาการมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว
ด้วยกำแพงเชิงโครงสร้างและระบบ Virtual นี้ที่ยังไม่ถึง AI
จีนกลางจึงมั่นคงและมั่งคั่ง
ร่มเย็นเป็นสุข ไร้การรบกวนจากนักล่าภายนอก
ทำกสิกรรมและการค้า รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ
แถมแนวกำแพงนี้ยังกลายเป็นแถบเส้นทางสายแพรไหม
โดยมีด่านประตูต่าง ๆ กลายเป็นเขตการค้าพิเศษมาตั้งแต่โน้น
จนกระทั่งในสมัยซ้อง ที่ถอยลงไปใต้
ในขณะที่ชนชาวมองโกลในที่ราบสูงทะเลทราย
ภายใต้การนำของเจงกิสข่าน ต่อด้วยกุบไลข่าน
สามารถเจาะทะลุระบบและปราการนี้มาตีแตก
แล้วเข้าครอง ตั้งเป็นราชวงศ์หยวน
สถาปนาเมืองหลวง "ข่านบาลิก" ที่ตอนเหนือ
เพื่อใกล้ฐานกำลังของตน
จนกระทั่ง ชาวนาชาติฮั่นทางใต้ ชื่อจูหยวนจาง
สามารถตั้งตัวเป็นราชวงศ์หมิงอยู่ที่นานกิง
แล้วฮ่องเต้องค์ที่ ๒ ไม่เก่งพอ
ถูกอ๋องกับพวกยึดอำนาจ
ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิงองค์ที่ ๓ ที่ชื่อ ย่งเล่อ
แต่เกิดปัญหาว่าไม่เจอพระศพฮ่องเต้องค์ที่ ๒
ข้องใจว่าอาจจะลี้ภัยออกไปในทะเล ณ ที่ใดสักแห่ง
และอาจจะกลับมากู้อำนาจคืน
ประกอบกับน่าจะต้องการไปยันมองโกลที่ตอนเหนือ
พระองค์จึงย้ายไปสถาปนานครหลวงซ้อนทับที่ข่านบาลิกแห่งราชวงศ์หยวน
ตรงที่เป็น ปักกิ่ง ในทุกวันนี้
รวมทั้งที่เป็นวังต้องห้าม ที่เพื่งไปเลาะกันมาจนทั่ว
ปักกิ่ง มาจาก เป่ยจิง แปลว่านครหลวงทางเหนือ
นานกิจ มาจาก หนานจิง แปลว่านครหลวงทางใต้
จำได้ง่าย ๆ อย่างนี้ครับ
กล่าวกันว่ากำแพงเมืองจีนนั้น
มีเพียง ๓ ราชวงศ์ที่สร้างเสริมไว้มาก
คือ จิ๋น - ฮั่น แล้วก็ หมิง
ส่วนราชวงศ์สุดท้ายคือชิงนั้น ท่านก็ไม่ได้สร้างเสริมอะไร
เพราะว่าล้วนลงบุกจีนฮั่นจากแมนจูเรียทางตอนเหนือเช่นกัน
ที่รายรอบปักกิ่ง ส่วนใหญ่ก็ก่อสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง
เพื่อกันทั้งมองโกลที่เพิ่งขับออกไปได้
และแมนจูที่สุดท้ายก็พ่ายเขา
ขอไม่เล่าฉากอัปยศของฮ่องเต้หมิงองค์สุดท้าย
ก่อนที่ทัพแมนจูจะบุกถึงวังต้องห้าม
สำหรับผมนั้น กำแพงเมืองจีนที่ไปดูกันนั้น
สร้างในสมัยราชวงศ์เหมา-เติ้ง ฯลฯ แทบทั้งนั้น
การไปก็ต้องเลือกว่าจะไปแบบไหน ตรงไหน มีเวลาเท่าไร ?
เท่าที่เคยไปมานั้น
หนแรก ซื้อทัวร์จีนท้องถิ่น เขาพาไปป่าต้าหลิ่งทางทิศตะวันตก
ครั้งที่สอง ผอ.ททท.ปักกิ่งพาไปที่ Simatai ทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ครั้งที่สามกับพี่น้อง ไปกันที่มู่เทียนยู่ซึ่งถูกแมนจูบุกทะลวง
หนนี้ได้ไปที่ด่านจูหยงก้วน บนเส้นทางไปป่าต้าหลิ่งที่ถูกทัพมองโกลบุก
โดยก่อนไปนั้น ต้องแวะร้านขายครีมบัวหิมะเกือบชั่วโมง
แล้วจึงตรงไปจอดรถถึงตีนกำแพง
"ปลา" บอกให้ไต่กำแพงกันตามสบาย
ตรงป้ายลายมือประธานเหมา
ประมาณว่าชายจริงหญิงแท้ ต้องถึงกำแพงเมืองจีนนี้
อันที่จริงกำแพงที่ด่านนี้นั้นคดเคี้ยวเลี้ยวเลาะตามสันเขาสวยมาก
แถมคร่อมถนนทั้งสายที่ออกไปทางตะวันตก จนถึงลาซาและอื่น ๆ ทั้งหมด
ชาวคณะแตกกระจายทันทีที่ปล่อยตัว
ผมเองนั้นกะว่าจะเดินเท่าที่เดินไหว
เห็นหลายคนลิ่วนำไปไกลลิบ
ขณะที่หลายคนบอกว่าพอเท่านี้ มีบางคนรี ๆ รอ ๆ
ที่ตรงลงรถ มีคนมาขายหมวก ใบละ ๓๐ หยวน
บางคนต่อได้ ๒๐
ผมเกิดคิดว่าหากไม่แพงก็เอามาใส่ขึ้นกำแพงหนนี้น่าจะดี
ต่อกลับไปว่า ๑๐ เธอพยักว่าได้ !!!
จากนั้นก็เดินไปเรื่อย ๆ ด้วยลมหายใจและชีพจรที่รัวเร็ว
จากหอคอยหมายเลข ๗
ผ่านบันไดแสนชันถึงหมายเลข ๘
แล้วไหน ๆ ก็ไหน ๆ เป้าหมายที่เลข ๙
มีสัก ๓ - ๔ ท่านที่เลยไปถึงหมายเลข ๑๐
หลังกลับลงมา ยังไม่ทันครบ ๒ ชม.
พอมีเวลาผมจึงเลยไปที่ซุ้มประตูกำแพงคร่อมถนน
พบว่าตรงนั้นเหมาะต่อการถ่ายภาพมาก ๆ
ทำไมเขาจึงไม่แนะนำให้ ???
จากนั้นจึงแว่บเข้าพิพิธภัณฑ์ที่ผมอ่านหนังสือมาบอกว่ามี
แต่ "ปลา" บอกว่าไม่มี หรือมีก็อยู่ที่อื่น !!! ไม่ใช่ที่นี่
เขาแสดงสภาพก่อนการบูรณะในสมัยเหมา-เติ้ง
กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของด่านประตูนี้
มีเด็ก ๆ ยุวชนจีน
มารวมตัวกันอ่านบันทึกวิดีโอเชิงสารคดีรายงานอย่างสนุกสนาน
เก็บตกประมาณนี้นะครับ
สำหรับกำแพงเมืองจีนที่มากกว่าการเป็นกำแพง
และผมชอบมากที่ซุนยัตเซ็นกล่าวไว้อย่างที่ยกมาข้างต้น
ส่วนหนังสือของวิลเลียม ลินด์เซย์ นั้น
หนาเกือบ ๓๕๐ หน้า ถามตอบถึง ๔๙ ข้อ กรุณาหาอ่านกันเองนะครับ
๒๖ กย.๖๐