เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 09 April 2016
- Hits: 1761
หอมกลิ่นแผ่นดินใต้
ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้กลับไปรับใช้ ?
เสร็จกิจที่ รพ.มอ.เมื่อเช้านี้ ผมขอนายเอ็กซ์ สจรส.สงเคราะห์ ไปส่งสนามบิน น้องเขาเอาหนังสือเล่มนี้มาฝาก เป็นประมวล ๗๖ บทเรียนชุมชนน่าอยู่ภาคใต้ ที่ สจรส.และชาวใต้ ๗๖ ชุมชน กับคนอื่น ๆ อีกมากมายร่วมกันทำ โดยผมเคยมีส่วนตั้งแต่แรกเริ่มตอนเป็น กก.อยู่สำนักเปิดรับทั่วไป ของ สสส. และปลายปีก่อนได้มาร่วมเวทีสร้างสุขของคนใต้ ก่อนที่จะเกิดวุ่นวายใหญ่ในแวดวงตระกูล ส. ซึ่งผมเองก็วางมือจากแทบทุกอย่างใน สสส.มากว่าปีแล้ว
ในฐานะที่ได้รับ สจรส.สงเคราะห์ ส่งถึงสนามบิน ผมเปรยกับนายแม็กซ์ว่า ฝากเรียนท่าน ผอ.ว่า หากจะใช้อะไรผม อย่าเพียงแค่เชิญมาออกแขกหน้าโรงลิเกโนราหนังตะลุงอย่างที่ทำ ๆ มาหลายครา ตอนนี้ห่างไปจากภาคใต้เกินไปหน่อย ก็เลยอยากใกล้เข้ามาสักนิด กลัวคนใต้ไม่รับกลับบ้านเกิดที่กำลังจะขยับกลับมาแล้ว
ในหนังสือนี้ที่ สจรส.สังเคราะห์บทเรียนออกมาน่าอ่านมากแม้จะหนาไปหน่อย ผมเลือกอ่านผ่าน ๆ แบบสุ่มเอาคร่าว ๆ แล้วสรุปเอาเองว่า ใน ๗๖ บทเรียนรู้นี้ อาจแบ่งเป็นกลุ่มตามวิธีและการตีความคร่าว ๆ ของผม จากชื่อที่ผู้สังเคราะห์กำหนดว่า เป็นเรื่องทาง ปัญญา - ๗, ใจ - ๑, กาย - ๔, สิ่งแวดล้อม - ๒๗, สังคม - ๓๑ และ เศรษฐกิจ - ๖ ซึ่งแปลกและแตกต่างจากเมื่อครั้งร่วมกับเพื่อพี่น้องทำดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ กับเกือบ ๒๐๐ ชุมชนทั่วทั้งภาคใต้ ที่พบว่า พี่น้องชุมชนไทยพุทธ มุ่งแต่เรื่องเศรษฐกิจ แก้ปัญหาแต่เรื่อง เงิน ๆ ๆ ในขณะที่พี่น้องมุสลิมใน ๓ จังหวัด ก็มุ่งแต่เรื่อง จิตปัญญา ศาสนาและพระเจ้า ทั้งนี้อาจจะเพราะผมตีความผิด เนื่องจากมิติสิ่งแวดล้อมและสังคมที่นำมากในรอบนี้ก็เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจเหมือนกัน หรือไม่ก็ ๑๐ กว่าปีมานี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมโดดขึ้นมาทัดเทียมกับเศรษฐกิจ หรือไม่ก็อาจจะมีกรอบของ คก.ที่กำหนดไม่ให้ไปทำแต่เรื่องเศรษฐกิจ
เมื่อดูแยกรายจังหวัด ตกใจมากเพราะคนนครทำกันมากสุด ตั้ง ๒๕ แห่ง สตูลรองลงมา ๑๓ แห่ง นอกนั้นน้อย ๆ มี พัทลุง - ๙, ชุมพร - ๗, สุราษฎร์ - ๔, สงขลา - ๔, พังงา - ๓, กระบี่ - ๓ จากสามจังหวัดชายแดนยิ่งน้อยใหญ่ นราธิวาส - ๕, ปัตตานี - ๒ และ ยะลา - ๑ เท่านั้น โดยไม่มี ระนอง ภูเก็ต กับ กับ ตรัง ด้วยหลายเหตุ เช่น ที่นั่นอาจจะน่าอยู่สมบูรณ์พร้อมหมดแล้ว คนที่นั่นรวมทั้งคณะทำงานพี่เลี้ยง ขี้เกียจทำ หรือทำแล้วเรื่องมากไม่ได้รับการพิจารณา รวมทั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณามากเรื่อง (อันนี้ผมเองเป็นกับเขาไม่น้อย)
ผมฝากนายเอ็กซ์ว่า หากจะเรียกใช้ ให้บอก ผอ.ผศ.ภ.ดร.พงเทพ ด้วยว่าที่ผมถนัดในขณะนี้ มี ๓ แนว หนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตจิตใจ ที่ความน่าอยู่ สุขภาวะและระบบสุขภาพ ควรขบคิดและขับเคลื่อน ไม่เช่นนั้นก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม ๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หากไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิต สอง เรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมที่มาตำตัวค้ำคาอยู่เต็มไปหมดอย่างบอกไม่ถูกถึงทุกวันนี้ และ สาม เรื่องรากเหง้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ยาวไกลมาเป็นพัน ๆ ปี แต่พากันไม่รู้และใช้เป็นทุนเพื่อการพัฒนา
ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับใช้อีก, กลิ่นแผ่นดินใต้ยังหอมอบอวลใจอยู่เสมอครับ
เพียงนั่งเครื่องกลับตะกี้นี้ ตอนเครื่องผ่านทะเลสาบสงขลา กับ ทะเลน้อย ที่แห้งขอด แถมเกาะสี่เกาะห้า มาถึงทุ่งระโนดหัวไทรที่มีคลองพระราชดำริพาดผ่าน กับเขาพระบาทที่ถูกขุดดินบนยอดหายไปเยอะ ผ่านปากเชียรและแพรก ถึงประตูระบายน้ำปากพนัง แล้วพบว่าอ่าวนครกำลังตื้นขึ้น ๆ ปลายแหลมตะลุมพุกก็งอกยาวเข้าไปที่ปากนครมากขึ้นทุกที สงสัยไม่นานมาก จะบรรจบกับผืนแผ่นดินแถปท่าซัก-ปากนคร เราอาจจะได้อีกทะเลสาปตามวิถีแห่งอุทกธรณีและชลศาสตร์ หากการแผ้วทางที่ดินยังไม่ยั้งอย่างนี้
ที่สำคัญ วันนี้ ผมไม่เห็นยอดพระธาตุ ที่เคยเห็นทอดเรียงเป็นเส้นตรง ของ หัวแหลม - ยอดพระธาตุ - เขามหาชัย และ ยอดเขาหลวง อาจเพราะอยู่ไกล หรือไม่ก็มัวซัวเกิน ไม่ใช่สนิมกินแน่นอน
บนเครื่องไลอ้อนส์แอร์ หาดใหญ่ - ดอนเมือง,
๘ เมษายน ๒๕๕๙, ๑๓.๐๐ น.
หมายเหตุ
๑) ภาพประกอบถ่ายจากฟ้า เหนือแผ่นดินแล้งหาดใหญ่ ไร้แม้กระทั่งเมฆ กับ ตอนบนสุดของทะเลสาปสงขลา เห็นทะเลน้อยกำลังแห้งน้ำ
๒) กรอบการวิเคราะห์ ใช้วิธีแยกตามชื่อเรื่องบทสรุปที่ตีความเอาเอง ว่าเข้าประเด็นใด ใน ๖ ประเด็นที่ผมใช้เป็นกรอบความคิดในการพัฒนาดูแลชีวิตตนเอง มี ๓ มุม หมายถึง ๑ ปัญญา ๒ จิตใจ ๔ กาย ๔ กับ ๓ ด้าน หมายถึง สิ่งแวดล้อม ๕ สังคม ๖ เศรษฐกิจ
ไปประชุมก่อนนะครับ