เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 06 June 2016
- Hits: 1865
Doe Hoke Agenda, Another NaKorn's Wisdom
ว่าด้วย "หลาโดหก" ที่บอกบ่งวิถีปราชญ์ของชาวนคร
(bunchar.com, เพื่อแผ่นดินเกิด:เมืองนคร 20160530)
ผมเพิ่งว่างจากกิจยุ่งเกี่ยวกับท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์
และได้ทราบว่าที่บ้านผมยุ่งยิ่งกว่า
กระทั่ง "ศาลาโดหก" ก็ยังเป็นเรื่อง
ทราบว่าเมื่อวานนี้
เป็นประเด็นเสวนา "โร่ม่าย ไซ๋ชื่อนี้" ที่ลานวัดพระบรมธาตุ
วันนี้พี่กิเลน เอามาขึ้นคอลัมน์ประลองเชิงในไทยรัฐหน้า ๕
จึงขอโอกาสแลกเปลี่ยนเพื่อแผ่นดินเกิดสักความคิดเห็น
เท่าที่พอรู้และจดจำ ที่นี่มีใช้มาแล้ว ๔ ชื่อ
"ศาลาโดหก" "ศาลาโกหก" "สัจจศาลา" และ "ศาลาประดู่หก"
๑) ว่ากันว่าเป็นศาลาตั้งอยู่หน้าเมืองทางประตูเมืองด้านทิศเหนือฝั่งสนามหน้าเมือง มีประดู่ร่มรื่นเรียงรายอยู่ ๖ ต้น คนนครเรียกต้นประดู่ว่า "ต้นโด" มาแต่ไหนแต่ไร จึงได้ชื่อว่า "ศาลาโดหก"
ศาลานี้มีสถานะเป็นศาลาหน้าเมือง ที่ชาวเมืองสร้างไว้ให้คนเดินทางได้พักรอก่อนเข้าหรือออกจากเมือง กล่าวกันว่า สำหรับผู้ที่มาถึงเมืองนครหลังประตูปิดหรือก่อนประตูเปิด ก็จะนอนรอพักค้างแรมกันที่บริเวณนี้ จึงเป็นที่สนทนาเล่าเรื่องกันสารพัด ซึ่งเป็นธรรมดาว่า ใครมาจากบ้านเมืองไนก็จะนำเรื่องราวและของดีของเมืองตนมาโอ้อวดสาธยาย ในขณะที่คนนครนั้น เป็นธรรมดา มีหรือจะยอมแพ้ และได้สำแดงความปราดเปรื่องในเชิงปราชญ์ไว้มากมาจนเป็นที่จดจำกันที่นี่ อาทิเรื่อง "ใบพลูที่นี่ใหญ่มากเอามาปูนอนได้" "มะพร้าวที่นี่สูงขนาดตกหลายวันไม่ถึงพื้น" ดังที่คุณกิเลนนำมาเขียนอีกสำนวนเป็น "ใบจาก" กับ "ต้นทุเรียน"
๒) โดยคนกรุงที่ลงมาจากทางเหนือ เมื่อสู้เชิงปราชญ์ของคนนครไม่ได้ ก็แปลงให้เสียหายกลายเป็น "ศาลาโกหก" หาว่าคนที่นี่ "ขี้หก" จนแพร่หลายเป็นที่รู้กันทั่ว แถมมีคนนครพลอยเอากับเขาด้วย ตอนผมเด็ก ๆ จำได้ว่ามีแม้รายการโทรทัศน์เรื่อง "ศาลาโกหก" แพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศ
๓) คุณวาทิต ชาติกุล ส่งข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ผมพอจำได้ลาง ๆ เรื่องที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงแก้ชื่อเป็น "สัจจศาลา" แล้วเจ้าคุณรัตนธัชมุนี (ม่วง) แห่งวัดท่าโพธิ์ ถึงกับให้แต่งกลอนเพลงบอกไปร้องว่าในงานชุมนุมเสือป่าที่กรุงเทพ ซึ่งถือว่าเป็นการ "ปะทะทางปัญญาของปราชญ์ชั้นครู" ครั้งสำคัญ ลองอ่านดูที่คุณวาทิต ชาติกุลช่วยนำมาให้และผมขอเผยแพร่ต่อนะครับ
Watit Chatgul
มีนครามหาสถาน นามขนานนครฯ สถิต
ประจิมทิศ และบูรพา มีทุ่งนาเรียง
มีสนามหญ้าอยู่หน้าเมือง เจริญเรืองครั้งโบราณ
ป้อมปราการถะเกิงยศ ยังปรากฏเสียง
เป็นเมือเอก ณ ปักษ์ใต้ พลไพร่ก็พร้อมเพรียง
ทุ่งขเรียงแนววิถี เมทนีดล
มีศาลาหน้านครินทร์ พื้นเป็นดินก่อด้วยอิฐ
หลังคาปิดบังร้อน ทั้งได้ซ่อนฝน
ศาลานี้มีเป็นหลัก ที่สำนักประชาชน
ผู้เดินหนได้หยุดอยู่ ทุกฤดูกาล
มีประดู่หกต้น ซึ่งสูงพ้นแต่หลังคา
รอบศาลากิ่งโตใหญ่ แผ่อยู่ไพศาล
อยู่ในถิ่นประจินถนน เป็นที่ชนได้สำราญ
แต่ก่อนกาลดึกดำบรรพ์ เป็นสำคัญกล่าว
ชาวบ้านนอกออกสำเหนียก นิยมเรียกคำสั้นสั้น
ชอบแกล้งกลั่นพูดห้วนห้วน ตัดสำนวนยาว
เรียกว่าศาลาโดหก โดยหยิบยกวัตถุกล่าว
เรียกกันฉาวทั่วทั้งบ้าน มีพยานโข
นิยมวัตถุประจักษ์เห็น ตามกาลเป็นสมัยก่อน
ใช่เติมทอนหันเห ไปทางเฉโก
กระบิลเมืองเรียกกันอยู่ คือเรียกประดู่ว่าโด
ไม่ใช่พึ่งโผล่ไม่ใช่พึ่งนึก เรียกมาดึกดำ
ชนต่างด้าวชาวต่างเมือง ไม่รู้เรื่องประถมถิ่น
พูดเล่นลิ้นปลายฝีปาก จึงถลากถลำ
เรียกว่าศาลาโกหก ซึ่งแกล้งยกเอาความระยำ
ตัดถ้อยคำที่เป็นจริง เปลี่ยนทิ้งออกไป
หามีศาลาโกหกไม่ เป็นคำใกล้ โด กับ โก
เมื่อใครโผล่ขึ้นสักคำ ชวนกันซ้ำใหญ่
ถ้าโดหกคือโกหกอย่างที่นึก จะจารึกไว้ทำไม
เพราะผู้ใหญ่ปกครองถิ่น ใช่ว่ากินทราย......
ไม่อาจสร้างซึ่งหลักฐาน ตั้งสำนักงานที่พูดปด
ย่อมเสียยศผู้ครองถิ่น ไม่รู้จะสิ้นหาย
บุคคลที่ไม่รู้อะไร พูดได้พูดไปตามสบาย
เหมือนแกล้งขยายกองกิเลศ ให้ต่างประเทศฟัง
ในสมัยแห่งพระองค์ กรมดำรงสถิตที่
เสนาบดีทราบกิจจะ ตามกิจระดัง
ท่านไม่ชอบพระหฤทัย ตามวิสัยที่ด่วนฟัง
เพราะทรงหวังบำรุงประเทศ ไปทุกเขตรคาม
โดยคำโกหกลามกมาก แบ่งเป็นภาคของความชั่ว
ไม่ให้กลั้วติดถิ่น ในแผ่นดินสยาม
จึงทรงโปรดเกล้ากรุณา ให้เรียกศาลาสัจจนาม
สมกับความศรีวิไล มีอยู่ในแดน
ทำใหม่หลังคาจารึกหมาย เป็นแผ่นป้ายขึ้นมั่นคง
เพื่อดำรงอยู่ยืนนาน ด้วยกระดานแผ่น
ให้เรียกสัจจศาลา ต่างภาราไม่ดูแคลน
ตนึงป้ายแผ่นถาวรา ติดหลังคาอยู่
ชาวนครศรีธรรมราช เคารพบาทเชื้อพระวงศ์
เพื่อดำรงชนหมู่มาก ทนกระดากหู
หวังเย็นเกล้าทั้งหญิงชาย เหมือนต้องสายสินธู
เป็นเครื่องชูชีพให้ชื่น อยู่ทุกคืนวัน
Watit Chatgul
กรมพระยาดำรงฯ เห็นคนใต้เรียก หลาโดหก
ก็เกิดอวิชชา ทำป้ายชื่อ สัจจศาลา มาติด
ท่านเจ้าคุณ(ม่วง) เลยให้ขุนชำนาญคดี
แต่งกลอนเพลงบอกให้กองลูกเสือนำไปขับร้อง
ตอนชุมนุมเสือป่าที่ กทม.
๔) สมัยผมเป็นเด็กเล็ก ทางจังหวัดได้นำงบประมาณที่ได้จากการจัดงานประเพณีเทศกาลเดือนสิบที่สนามหน้าเมือง แล้วตั้งเป็นกองทุนไว้ที่จังหวัดกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด สร้างเป็นศาลา ติดชื่อชัดเจนว่า "ศาลาประดู่หก" คือศาลาใหญ่ที่อยู่ริมถนนราชดำเนินทุกวันนี้ ส่วนด้านในนั้นเป็นสวนอันร่มรื่นใต้ต้นประดู่ทั้ง ๖ นิยมใช้เป็นที่จัดงานชุมนุมสังสรร เช่นงานของสมาคมสตรีนครศรีธรรมราช ที่พวกเราสนุกสนานกันมาก (วันหลังจะหาภาพมาให้ดูชม)
๕) สมัยนายกสมนึก เกตุชาติที่ยาวนานมาก จำได้ว่าโกแอ๊ด เป็นผู้ดำริเรื่องการสร้างศาลาโดหกอีกหลังอย่างแต่ก่อน แล้วยกร่างภาพที่เคยเห็นและจดจำได้ ร่วมกับชมรมรักบ้านเกิดนำเสนอเทศบาลนครศรีธรรมราชจนก่อสร้างออกมาเป็นศาลาหลังที่ ๒ และเพิ่งพังตามกาลเวลาและเป็นประเด็นในทุกวันนี้ โดยมีภาพร่างใหม่ที่ทางการยกร่างขึ้น พร้อมประมาณการปรับปรุง ๒๐ ล้านบาท ซึ่งจากข่าวทราบว่าทางจังหวัดขอบคุณในข้อคิดความเห็นและกำลังประมวลรวบรวมเพื่อการนี้
เรื่องนี้ สำหรับผม อยากชวนคนนครว่าอย่าได้เสียเชิงปราชญ์อย่างเช่นบรรพชนท่านทำไว้ให้เป็นตัวอย่าง
๑) เราไม่เคยโกหก แต่เราแสดงเชิงปราชญ์อย่างหมดจดงดงาม
๒) เมื่อมีความเข้าใจผิดพลาด เราก็ทำกันเยี่ยงปราชญ์
๓) งานนี้ มาช่วยกันกับจังหวัด อบจ.และเทศบาลนคร ทำสิ่งดีกับ "ศาลาโดหก" ให้สมกับเกิดกันที่เมืองปราชญ์ไหมครับ ?
เท่านี้ก่อนนะครับ
ขอบคุณคุณเอก ลิกอร์ พี่เหลิม พระธาตุ คุณวาทิต ชาติกุล คุณโกมล มั่งศรี และ ท่านปลัดจังหวัด สำหรับเรื่องและภาพที่ผมขอนำมาประกอบโดยมิได้ขออนุญาตก่อน เข้าใจว่าคงอนุญาตนะครับ
๓๐ พค.๕๙