เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 18 August 2016
- Hits: 1632
U-THong : The Mellinium SEA Ancient City
อู่ทอง ท่ามกลางความสัมพันธ์พันปีอาเซียน
ผ่านรอยลูกปัดและเริ่มแรกพระพุทธศาสนา
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20160817_6)
ผมได้โยงส่งท้ายถึงความสัมพันธ์พันปีของอู่ทอง
กับอาเซียนจาก ๕ อาณาจักรที่พระถังซำจั๋งระบุไว้ดังนี้
“ชิดหลีซาต๋าล้อ
เกียมลังเกี๋ย
โตโลโปตี้
อี้เซี้ยน้าโป้ล้อ
ม่อออเจียมปอ”
๕ แคว้น สำคัญที่พระถังซำจั๋งระบุถึง เมื่อไปอยู่ที่อินเดีย ระหว่าง พ.ศ.๑๑๗๒-๑๑๘๘
“จินหลิน” หนึ่งในอาณาจักรสำคัญ ที่กษัตริฟันซิมันแห่งฟูนัน ยกกองทัพเรือมาโจมตี
“สุวรรณภูมิ” ที่พระพุทธศาสนามาเริ่มปักหลักและสถาปนา ณ เอเชียอาคเนย์
ใช่อู่ทองไหม ?
ต้องตามไปให้ถึงที่ “อู่ทอง” ก่อน จึงจะตอบได้
อาเซียนหรือเอเชียอาคเนย์ที่ไทยเราตั้งอยู่ใจกลางในทุกวันนี้นั้นมีความสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา จากหลักฐานทางบรรพชีวินและธรณีวิทยาดึกดำบรรพ์ สรุปว่าเคยเป็นผืนแผ่นดินที่ต่อเนื่องกันทั่วถึงและเป็นทางผ่านสำคัญของมนุษย์ดึกดำบรรพ์เมื่อนับแสนล้านปีก่อน เพิ่งจะเกิดเป็นเกาะแก่งมีทะเลอยู่ท่ามกลางหลังยุคน้ำแข็งล่าสุดเมื่อประมาณ ๑๕,๐๐๐ ปีก่อน โดยพบมีการเดินทางถึงกันทั้งทางบกและทะเล ทิ้งร่องรอยหลักฐานสำคัญคือขวานหินและเครื่องประดับตกแต่งตลอดจนของใช้สำคัญรูปแบบต่าง ๆ ที่ยังไม่ย่อยสลายตามกาลเวลา จนกระทั่งเข้าสู่ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่กลายเป็นประจักษ์พยานหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกความสัมพันธ์พันปีที่มีอู่ทองเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมต่อทั้งในเชิงพื้นที่ กาลเวลา อารยธรรม และ พระพุทธศาสนา
พยู ศรีเกษตร สู่พุกาม พะโค
สุวรรณภูมิ มะละแหม่ง ทวาย ในพม่า
จากอู่ทองเพียงข้ามเทือกเขาตะนาวศรีและถนนธงชัยไม่กี่อึดใจ (ในอนาคต) ก็ถึงทวายที่ฝั่งทะเลอันดามันซึ่งกำลังจะเกิดนิคมการค้าและท่าเรือใหม่ย้อนยุคสมัยเมื่อพันปีที่แล้ว ในฐานะปากประตูตะวันตกที่ต่อเนื่องมาจากอินเดีย บังคลาเทศ ผ่านลุ่มน้ำอิระวดี ที่มี ๔ เมืองโบราณสำคัญ สมัยพยู คือ ฮาลิน เบกถาโน ศรีเกษตร และ พุกาม มายังลุ่มน้ำสะโตง-สาละวิน ที่เต็มไปด้วยเมืองโบราณ อาทิ พะโค สะเทิม Winka ZokThoke Kelasa มะละแหม่ง ลงใต้ไปประชิดอู่ทอง ที่ทวาย Thagara และ Mokti ที่เต็มไปด้วยรอยลูกปัดเมืองโบราณ สถูปวิหารและรอยพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ซึ่งเชื่อกันมาแต่เดิมว่า “สุวรรณภูมิ” อยู่ที่แถบนี้และรอการศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานยืนยันกันอยู่นั้น อย่างน้อยขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ชิดหลีซาต๋าล้อ ที่พระถังซำจั๋งระบุว่าเป็น ๑ ใน ๕ แคว้นสำคัญในสมัยนั้น ร่วมกับ โตโลโปตี้ ซึ่งคือ อู่ทอง–ทวารวดี คือ ศรีเกษตร ที่เป็นหนึ่งในต้นธารประวัติศาสตร์อารยธรรมแห่งพม่ามาถึงทุกวันนี้
ดองซอน ซาหวิ่น ฟูนัน จามปา เจนละ
ในเวียตนาม ลาว และ กัมพูชา
การพบของสำคัญสองสิ่งที่ลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน รวมทั้งที่อู่ทอง คือ กลองดองซอน และ ต่างหูลิงลิงโอ บ่งชี้ว่าเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน ผู้คนที่นี่มีการติดต่อกับผู้คนที่ก้นอ่าวตังเกี๋ยลงมาตลอดแนวชายฝั่งที่เป็นเวียตนามในปัจจุบันจนถึงบริเวณปากแม่น้ำโขงที่ถือเป็นฐานสำคัญของอารยธรรมดองซอนและซาหวิ่น ซึ่งก้าวหน้ามากในเทคโนโลยีโลหะสำริดและการเดินทางค้าขายเครื่องประดับทางทะเล จนกระทั่งเกิดอาณาจักรแรกเริ่มที่ฟูนัน ที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในพื้นที่กัมพูชาและเวียตนามปัจุบัน ซึ่งพบหลักฐานเครื่องประดับ ลูกปัด หัวแหวน ตราประทับ เงินตรานานาชาติ คล้ายมากกับที่พบที่อู่ทองและคลองท่อม จนนักโบราณคดีจำนวนมากสันนิษฐานว่า ทั้ง ๓ แหล่งโบราณคดีนี้อาจเป็นภาคีการค้ากันในสมัยนั้นเมื่อเกือบ ๒,๐๐๐ ปีก่อนพร้อมกับการนำพระพุทธศาสนามาสถาปนา ก่อนที่จะจบสมัยเมื่อกษัตริย์ฟันซิมันแห่งฟูนันจะกรีฑาทัพมาพิชิต “จินหลิน” ซึ่งแปลว่า “แดนทอง” ที่หลายฝ่ายสันนิษฐานว่าอาจคือ “อู่ทอง” หรือ “สุวรรณภูมิ” แต่ที่สำคัญกว่านั้น ๒ ใน ๕ แคว้นสำคัญร่วมกับ โตโลโปตี้ ที่พระถังซำจั๋งระบุว่ามี อี้เซี้ยน้าโป้ล้อ ม่อออเจียมปอ นั้น คือ อีสานปุระ กับ มหาจามปา โดยอีสานปุระครอบคลุมพื้นที่ตะวันออกและอีสานใต้ของไทยต่อเนื่องถึงลาวตอนใต้และกัมพูชาตอนบน ก่อนที่จะคลี่คลายกลายเป็น เจนละ และ กัมพูชา ในทุกวันนี้ ส่วนมหาจามปา นั้น อยู่ที่ตอนกลางและล่างของชายฝั่งเวียตนามต่อเนื่องไปจรดบริเวณปากแม่น้ำโขง ทั้งดองซอน ซาหวิ่น ฟูนัน จามปา และ เจนละ ล้วนเป็นต้นธารประวัติศาสตร์อารยธรรมแห่งเวียตนามและกัมพูชามาถึงทุกวันนี้นี่เอง
ลังกาสุกะ รักตมฤตติกา ศรีวิชัย มะตะราม
ในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ มาเลเซีย
แคว้นปริศนาที่ ๕ ในบันทึกของพระถังซำจั๋ง คือ เกียมลังเกี๋ย ที่บอกบ่งถึงความสัมพันธ์พันปีกับ โตโลโปตี้ หรือ ทวารวดีที่อู่ทองซึ่งยังมีหลายข้อสันนิษฐานไม่เป็นที่ยุติว่าคือแคว้นอะไรและอยู่ที่ไหนนั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะอยู่บนคาบสมุทรไทย-มาเลเซียตอนล่าง ในนามของ ลังกาสุกะ ที่พบแหล่งโบราณคดีจำนวนมากต่อเนื่องจากเมืองโบราณยะรังที่ปัตตานีลงไปในกลันตัน ตรังกานู เคดะห์และเปรัค ซึ่งพบเมืองใหญ่ที่หุบเขาแห่งบุจังและสายน้ำแห่งทอง หรือ สุไหงมาศ ที่สันนิษฐานว่าอาจคือนครดินแดง ที่มีจารึกระบุชื่อไว้ว่า รักตมฤตกา สอดคล้องกับที่จีนบันทึกว่ามี นครดินแดง-เชี๊ยะโท๊ว ซึ่งทั้งหมดมีรอยพระพุทธศาสนามากมายที่คลี่คลายกลายเป็นศรีวิชัยที่มีศูนย์ใหญ่อยู่ที่ปาเล็มบัง จัมบิ ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา รวมทั้งอาณาจักรมะตะรามที่เกาะชวา ซึ่งล้วนถือเป็นอู่อารยธรรมมลายูและอินโดนีเซียทุกวันนี้
ทั้งหมดนี้ยังไม่มีคำตอบชี้ชัดอย่างเต็มร้อย
แต่ร่องรอยหลักฐานที่อู่ทอง อาจบอกอะไรได้อีกหลายอย่าง
หนทางเดียวเท่านั้นที่จะตอบตัวเองได้
คือ อู่ทอง ... ต้องไป
ท่านที่สนใจ ติดต่อตรงที่เพจ บุญจาริก นะครับ
แว่วว่าจะเต็มคันรถใหญ่แล้วครับ
๑๗ สค.๕๙